อังกฤษ จะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่?

อังกฤษ จะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่?

หากใครได้เห็นตัวเลขอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษ ที่ต่ำสุดและสูงสุดตามลำดับในรอบหลายปี

คงจะอดสงสัยไม่ได้ว่าเหตุใดที่แบงก์ชาติอังกฤษไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเสียที ซึ่งผมได้เคยคาดการณ์ไว้ในบทความ แบงก์ชาติอังกฤษจะขึ้นดอกเบี้ยไหม?” เมื่อต้นเดือนที่แล้ว

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ยของตลาดเงินในอังกฤษ ยิ่งตอกย้ำถึงความไม่มั่นใจของตลาดว่าแบงก์ชาติอังกฤษจะขึ้นดอกเบี้ยในเร็ววัน เมื่อตลาดมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นเพียง 0.25% หากมองไปอีก 3 ปีข้างหน้า แม้ทั้งอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อจะเข้าใกล้ระดับเป้าหมายก็ตาม

แม้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจโลกจะดูดีขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยที่การเติบโตที่สดใสขึ้นดังกล่าวมาจากในส่วนการลงทุนที่สูงขึ้น รวมถึงความกล้ารับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของนักลงทุนส่งผลให้ระดับราคาในตลาดหุ้นและตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชนกระเตื้องขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของภูมิภาคยุโรปมีแนวโน้มจะขยับขึ้นเร็วขึ้น

อย่างไรก็ดี การเติบโตของเศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัวลงในครึ่งปีแรกของ 2017 จากการชะลอตัวลงของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน เมื่อค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงส่งผลต่อกำลังซื้อของชาวอังกฤษ แม้การลงทุนในภาคธุรกิจจะกระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อยก็ตาม ส่งผลให้ธนาคารกลางอังกฤษออกลูกลังเลในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ความลังเลดังกล่าว ถูกสะท้อนอย่างค่อนข้างชัดเจนเมื่อดูจากระดับอัตราเงินเฟ้อ ที่แม้จะค่อนข้างผันผวน ทว่าล่าสุดขึ้นมาอยู่ที่ 2.6% กระนั้นก็ดี ทางแบงก์ชาติอังกฤษก็ยังประเมินว่าจะกลับมาสู่เป้าหมาย 2% ในปีหน้า ซึ่งถือว่าค่อนข้างจะขัดแย้งกับมุมมองที่กังวลต่อ Brexit ของนายมาร์ก คารนีย์ ผู้ว่าการแบงก์ชาติอังกฤษ ซื่งสะท้อนว่าค่าเงินปอนด์น่าจะยังผันผวนในทางอ่อนค่าไปอีกพักใหญ่

กระนั้นก็ดี คะแนนเสียงโหวตของการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ยังออกมาที่ 7-2 เสียง โดย 2 เสียงข้างน้อยประเมินว่า ควรจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้

ประการแรก มุมมองของภาพตลาดโลกดูดีกว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ได้ทบทวนการเติบโตของเศรษฐกิจให้สูงขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค นอกจากนี้ หากพิจารณาในแง่ขององค์ประกอบของการเติบโต จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลง trend อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเดือนที่แล้ว โดยการลงทุนและการค้าทั้งในสหรัฐ ยุโรป และจีน รวมถึงการค้าของโลก ต่างมีการเติบโตเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี หากพิจารณาในแง่ของห่วงโซ่อุปทาน จะเห็นได้ว่ามีการขยายตัวทั้งในเชิงกว้างและลึก ซึ่งทำให้ประเมินได้ว่าอุปสงค์ของโลกมีการขยายตัว ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเป็นการเริ่มรอบใหม่ของ Super Cycle สำหรับการลงทุน

ประการที่ 2 ความเสี่ยงทางการเมืองลดลงพอสมควรจากต้นปีนี้ ด้วยความเสี่ยงของโดนัลด์ ทรัมป์ที่ถือว่าลดลง รวมถึงกระแสประชานิยมของยุโรปถูกติดเบรกในเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส และน่าจะร่วมถึงเยอรมนีในเดือนก.ย. นี้ แม้จะมีข่าวทางการเมืองอยู่เยอะทว่าความเสี่ยงทางการเมืองที่จริงแล้วลดลง

ประการที่ 3 แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่างๆจะดูดีขึ้น ทว่า เมื่อกลางปีที่แล้ว อัตราเงินเฟ้อของประเทศหลักของโลกยังถือว่าต่ำอยู่ โดยความคาดหวังของอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐและอังกฤษต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 0.8% และ 0.4% ตามลำดับ ทว่าหลังจากนั้น ภาพของอัตราเงินเฟ้อกลับเป็นหนังคนละม้วน โดยหลังจากเดือนก.ค. 2016 ความคาดหวังของอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐและอังกฤษสูงขึ้น 0.25% และ 0.4% ตามลำดับ ดังรูป คำว่า ‘เงินฝืด’ ได้หายไปจากการพูดคุยทางเศรษฐกิจแบบสิ้นเชิง ความจริงตรงนี้ จึงทำให้การคงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำเหมือนในขณะนี้ ดูไม่สมเหตุสมผล

อย่างไรก็ดี ทั้งสามปัจจัยได้ถูกปรากฏการณ์ที่เป็นผลพวงจาก Brexit กลบไปทั้งหมด ซึ่งนายคาร์นีย์ตอกย้ำในคณะกรรมการนโยบายการเงินของแบงก์ชาติอังกฤษมาตลอด อยู่ 2 ประการ ดังนี้

  1. ความเชื่อมั่นที่หดหายของผู้บริโภคในการจับจ่าย ต้องยอมรับว่าขวัญของชาวอังกฤษยังไม่กลับมาให้มีความภูมิใจในความเป็นสายเลือดอังกฤษจนกล้าจับจ่ายใช้สอยอีกครั้ง แม้แต่ภาคธุรกิจของอังกฤษเองก็ยังพึ่งพาขาขึ้นของเศรษฐกิจนอกประเทศและค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงสำหรับขับเคลื่อนการส่งออก มากกว่าพึ่งพาการลงทุนของภาคธุรกิจในประเทศ
  2. ระดับค่าจ้างที่ยังไม่กระเตื้องขึ้นแม้การจ้างงานจะเติบโตได้ดี เนื่องจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.ระดับผลิตภาพหรือ Productivity ของอังกฤษที่ยังไม่อยู่ในแนวโน้มขาขึ้น 2. การที่นายจ้างไม่กล้าขึ้นค่าจ้างจากความไม่แน่นอนของผลกระทบจากกระบวน Brexit ที่ยังไม่มีความชัดเจน และ 3. นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษเองก็ยอมรับดื้อๆว่าไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร เนื่องจากสองปัจจัยแรกน่าจะไม่เพียงพอที่จะอธิบายปรากฏการณ์นี้

ผมมองว่าตราบใดที่ความชัดเจนของ Brexit ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งก็หมายถึงการเลือกตั้งใหม่ของอังกฤษยังมิได้เกิดขึ้น คงจะยากสักหน่อยที่ธนาคารอังกฤษจะตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ให้กลายเป็นแพะของนักการเมืองหากเศรษฐกิจอังกฤษกลับไปทรุดตัวลงครับ