น้ำท่วมสกลนคร เสียงเตือนที่ต้องฟัง

น้ำท่วมสกลนคร เสียงเตือนที่ต้องฟัง

ภาพบ้านเรือน โรงเรียน สถานที่ราชการ ถนนหนทาง รถจักรยานยนต์ และรถยนต์ที่จมอยู่ใต้น้ำ สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของน้ำท่วมจ.สกลนครในครั้งนี้

ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุเกือบร้อยปีบอกเล่าเรื่องราวผ่านสื่อว่า เกิดมาไม่เคยเจอน้ำท่วมหนักขนาดนี้ เมื่อประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเรือน ทรัพย์สิน และพื้นที่การเกษตร มูลค่าความเสียหายรวมแล้วไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท แม้ฟ้าฝนจะเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะป้องกันได้ แต่การบริหารจัดการน้ำ ทิศทางการเติบโตของเมือง และการวางโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อให้สกลนครและจังหวัดใกล้เคียงได้เติบโต ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเสียหายรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น

ประเด็นเรื่องสภาพแวดล้อมกับการพัฒนาเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์ เพราะมนุษย์ต้องการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ หากมองย้อนไปสัก 200 กว่าปีก่อน ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ประเทศอังกฤษและประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรปกำลังเปลี่ยนตัวเองจากประเทศเกษตรกรรมมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม หรือเปลี่ยนจากยุค 1.0 ไปสู่ยุค 2.0 สภาพแวดล้อมในประเทศเหล่านี้เสื่อมโทรมถึงขีดสุด บางพื้นที่ควันจากถ่านหินบดบังท้องฟ้าจนแทบไม่มีแสงแดดส่องลงมา ประชาชนต้องหายใจเอาอากาศเสียเข้าไปทุกวัน แม่น้ำหลายสายปนเปื้อนไปด้วยมลพิษจนแทบจะไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดไหนอยู่ได้เลย

เดี๋ยวนี้ ประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่ได้หลายเป็นประเทศแนวหน้าทางเศรษฐกิจของโลก บ้านเมืองมีการพัฒนา สภาพแวดล้อมดีน่าอยู่อาศัย จนแทบไม่เหลือเค้าความเสื่อมโทรมในอดีต จนนำไปสู่แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่าเส้นโค้งคุซเน็ทซ์ (Kuznets curve)

แนวคิดนี้เสนอว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาเป็นกราฟเส้นโค้งรูปโดม ซึ่งแบ่งออกเป็นสองช่วงด้วยกัน ช่วงแรกคือช่วงที่ประเทศเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมมาสู่อุตสาหกรรม

ช่วงต้นของการพัฒนา ประเทศยังไม่มีเครื่องมือเครื่องจักร คนในประเทศมีคุณภาพไม่สูง ขาดทักษะที่จำเป็นสำหรับการผลิตโดยใช้เทคโนโลยี และประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจนอยู่ การจะพัฒนาประเทศจึงต้องเริ่มจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ เพี่อนำเงินไปซื้อเครื่องจักรเครื่องมือ ลงทุนในการศึกษา ลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรม และการพัฒนาเมือง ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจจึงมักเกิดขึ้นควบคู่กับปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ช่วงนี้เป็นการไต่ขึ้นไปบนยอดโดม ความสูงของโดมคือระดับปัญหาสภาพแวดล้อมของประเทศ เวลาที่ใช้ในการปีนขึ้นไปให้ถึงยอดคือเวลาที่ใช้ในการพัฒนาประเทศ ยิ่งใช้เวลามาก ประเทศก็พัฒนามากขึ้น รายได้ต่อหัวโดยเฉลี่ยของประชากรจึงสูงขึ้นตามไปด้วย

สำหรับช่วงที่สองจะเกิดขึ้นเมื่อประเทศมีการพัฒนาถึงระดับหนึ่งจนเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าได้แล้ว ปัญหาสภาพแวดล้อมก็จะค่อยๆ ลดลงไป เนื่องจากเมื่อประชากรมีความกินดีอยู่อยู่ มีการศึกษา พวกเขาจะแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการผลิตเป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมน้อยลง ทำให้ปัญหาสภาพแวดล้อมลดลงตามไปด้วย ช่วงนี้จึงเป็นช่วงการไต่ลงจากโดม 

ที่ผ่านมา ทิศทางการพัฒนาของบ้านเรากำลังวิ่งไปตามครึ่งแรกของเส้นโค้งคุซเน็ทซ์ แต่ระบุได้ยากว่าเราอยู่ในช่วงไหนของเส้นโค้งแล้ว ความเสียหายที่สกลนครคราวนี้คือเสียงเตือนจากธรรมชาติว่า โมเดลการไต่ขึ้นไปตามเส้นโค้งคุซเน็ทซ์ อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมอีกแล้ว

ลองสมมติกันเล่นๆ ว่า มีผู้กำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศท่านหนึ่งออกมาบอกว่า ตอนนี้ประเทศไทยพัฒนามาแล้วประมาณ 60 กว่าปี เราก็น่าจะเกือบถึงจุดยอดของเส้นโค้งคุซเน็ทซ์แล้ว แค่ยอม อดทนกับปัญหาสิ่งแวดล้อมไปอีกสัก 10-20 ปี เดี๋ยวสภาพแวดล้อมในบ้านเมืองเราก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง 

ถ้าตอนนี้ท่านอายุสักสามสิบปลายๆ พอเกษียณ ท่านก็จะได้อยู่บ้านที่ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่สีเขียว รถไม่ติด หายใจหายคอได้คล่อง ปลูกผักทำสวนก็ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำท่า เพราะถึงตอนนั้นประเทศไทยจะมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล” จะมีสักกี่คนที่ยอมอดทนได้นานขนาดนั้น?

ในความเป็นจริง ระบบนิเวศน์มีขีดจำกัดในการรับมือกับปัญหาสภาพแวดล้อม เมื่อใดที่ปัญหานี้เกินกว่าขีดจำกัดของระบบ ระบบจะล้มเหลวจนไม่สามารถกลับมาสู่สภาพเดิมได้อีก ด้วยองค์ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เราไม่มีเครื่องมืออะไรมาวัดได้อย่างแม่นยำเลยว่า ระบบนิเวศน์แต่ละแห่งมีขีดจำกัดอยู่ระดับไหน และตอนนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นรุงแรงแค่ไหนแล้ว พอวัดปัญหาสภาพแวดล้อมไม่ได้ก็เลยเลือกจะไม่ใส่ใจเรื่องนี้

บทเรียนจากน้ำท่วมคราวนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ธรรมชาติกำลังบอกเราว่า ถึงแม้จะแกล้งปิดตาทำเป็นมองไม่เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ใครจะรับประกันได้ว่า วันหนึ่งข้างหน้าเราจะไม่กลายเป็นผู้ประสบภัยจากธรรมชาติเหมือนที่เกิดขึ้นกับชาวสกลนครในตอนนี้