ถอดรหัส 'One Belt, One Road Initiative'

ถอดรหัส 'One Belt, One Road Initiative'

หลักการพื้นฐานเรื่องการสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน ในการลงทุนพัฒนาเส้นทางคมนาคม ทั้งทางบกและทางทะเล

ระหว่างจีนกับยุโรปเพื่อเชื่อมต่อประเทศต่าง ๆ ในเอเชียกลางและใต้ ยุโรป และแอฟริกานั้น ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่พญามังกรจีนใช้เดินเกมเพื่อขยายฐานอำนาจทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลกของตนให้เป็นที่ยอมรับของทั่วโลกได้อย่างชอบธรรมภายใต้วิสัยทัศน์เรื่อง One Belt, One Road Initiative

ทั้งนี้ขนาดของผลประโยชน์ร่วมกันดังกล่าวข้างต้น ย่อมจะขึ้นอยู่กับขนาดของการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ที่มีมากเพียงพอด้วยหากได้มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่คาดว่าอาจมีมากกว่า 900 โครงการในพื้นที่ที่ครอบคลุมมากกว่า 60 ประเทศ ในการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมทั้งระบบถนน รถไฟและท่าเรือ ระบบท่อส่งน้ำมัน และระบบเครือข่ายการสื่อสารสมัยใหม่ ให้สามารถเชื่อมต่อประเทศต่าง ๆ เหล่านั้นได้ดีมากขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม นอกจากผลประโยชน์เชิงบวกแล้ว ประเทศต่าง ๆ ก็อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางด้านลบที่แตกต่างกันออกไป ตามปัญหาภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งอาจจำแนกกลุ่มประเทศออกได้อย่างหยาบ ๆ ดังนี้

กลุ่มแรก ได้แก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดแคลนทั้งเงินทุน และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น บังคลาเทศ ศรีลังกา เนปาล และประเทศในแถบยุโรปตะวันออก เป็นต้น กลุ่มประเทศเหล่านี้ คาดหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากความสามารถในการเชื่อมต่อทางการค้าและการลงทุนที่ดีขึ้น อันเป็นผลมาการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมต่อหรือเป็นโครงการตามแผนของ One Belt, One Road โดยตรง 

ประเทศเหล่านี้จำเป็นจะต้องอาศัยเงินกู้จากจีนเพื่อลงทุนปรับปรุงด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเงินกู้ที่มีเงื่อนไขแบบ concessionary loans ที่อาจกู้จาก Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) หรือจากธนาคารจีนที่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เช่นChina Development Bank ซึ่งเงินกู้แบบนี้ก็อาจมีเงื่อนไขให้ต้องใช้บริษัทก่อสร้างของจีนในการทำงานหรือมีการใช้แรงงานจีน 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาก็มักปรากฎว่า จะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการพัฒนาที่ปล่อยกู้โดยธนาคารโลก เป็นต้น 

การกู้เงินเหล่านี้จะทำให้ประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนของหนี้สินต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่สูง ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงในเรื่องที่อาจไม่สามารถชำระหนี้คืนหากปรากฏในภายหลังว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้นมีต่ำกว่าที่คาดไว้ หรือมีปัญหาข้อจำกัดภายในประเทศนั้นเองที่ทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในเรื่องการบริหารใช้เงินกู้ยืมจนเกิดการทุจริตรั่วไหล ซึ่งก็ย่อมจะมีผลทำให้ประเทศนั้น ๆ ไม่สามารถจะชำระหนี้คืนให้กับธนาคารของจีนได้ในที่สุด จึงอาจจำเป็นต้องยอมให้ธนาคารของจีนเข้ามามีอำนาจถือครองหุ้น ที่เป็นธุรกิจบริการสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศเช่น อำนาจในการบริหารจัดการท่าเรือที่สำคัญของประเทศนั้น ๆ เป็นต้น

กลุ่มที่สอง คือ ประเทศขนาดใหญ่ในพื้นที่ เช่น อินเดียที่ไม่ต้องเข้าร่วมในโครงการนี้อย่างเต็มตัว เนื่องจากเหตุผลเรื่องความมั่นคงของประเทศและปัญหาข้อขัดแย้งเดิมกับปากีสถาน ซึ่งก็จะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เข้าร่วมในโครงการนี้กับจีนและมีผลประโยชน์ร่วมทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับจีนด้วย จึงทำให้อินเดียต้องการที่จะเก็บทางเลือกของตนนี้ไว้ก่อน โดยการไม่ยอมเข้าร่วมอย่างเต็มตัวตามคำเชิญของจีน ซึ่งท่าทีดังกล่าวนี้ของอินเดียก็มีส่วนกระทบต่อความสำเร็จของโครงการ เนื่องจากความสำคัญในเชิงที่ตั้งของอินเดียและการมีท่าเรือสำคัญหลายแห่งที่มีสำคัญต่อความสำเร็จของ One Belt, One Road นั่นเอง

กลุ่มสุดท้ายที่จะมีผลต่อความสำเร็จของโครงการ One Belt, One Road ก็คือ ประเทศชาติมหาอำนาจที่สำคัญ ซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีนเอง ซึ่งในกรณีของสหรัฐนั้น ก็ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่ต้องการจะเข้าร่วมแน่นอนแม้จะได้รับคำเชิญจากจีนก็ตาม ในกรณีของรัสเซียนั้น แม้จะมีท่าทีที่สนับสนุนจีนในกรณีนี้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า เส้นทางสายไหมใหม่ทางบกนั้น จะมีผลทำให้จีนสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในเขตพื้นที่ประเทศกลุ่มเอเชียกลางและอื่น ๆ ที่เคยต้องพึ่งพารัสเซียในอดีต ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปเมื่อมีความชัดเจนมากขึ้นว่า การเกลี่ยผลประโยชน์ระหว่างจีนและรัสเซียในเรื่องเหล่านี้จะออกมาได้อย่างลงตัวเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายหรือไม่อย่างไร 

สุดท้ายก็คือจีนเอง ซึ่งนอกเหนือจากประโยชน์ที่ได้จากการขยายฐานอำนาจทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมืองในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ท่าทีของจีนในการผลักดันโครงการ One Belt, One Road ในปัจจุบัน ก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า จีนยังคงต้องอาศัยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิมคือการใช้รูปแบบของ investment-led growth ต่อไป แต่เที่ยวนี้จำต้องหันไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าในประเทศ เนื่องจากในประเทศนั้น ได้มีกำลังการผลิตส่วนเกินมากอยู่แล้ว 

ดังนั้นการดำเนินยุทธศาสตร์นี้จึงเท่ากับเป็นการยอมรับว่านโยบายที่จะหันไปพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้นคงไม่ได้ผลในความเป็นจริง เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องปัญหากำลังผลิตส่วนเกินและหนี้สินก้อนโตในภาครัฐวิสาหกิจของจีน รวมทั้งปัญหาความยากจนในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ เช่นภาคตะวันตก เป็นต้น 

ดังนั้นแผนการพัฒนาเศรษฐกิจโดยอาศัยพึ่งพาเพียงการขยายตัวของภาคบริการและการบริโภคภายในประเทศคงจะไม่สามารถทำอะไรได้มากนักในช่วงเวลาเช่นนี้

จึงสรุปได้ว่า นอกจากจีนจะต้องอาศัยโครงการ One Belt, One Road ในการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจและส่งออกทั้งในระยะสั้นและยาวแล้ว จีนก็ยังมีความต้องการจะเจาะเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติในแถบเอเชียกลางและพื้นที่ใกล้เคียงให้ได้มากขึ้น รวมทั้งต้องการสร้างความมั่นคงในเรื่องของท่อส่งน้ำมันและเส้นทางการขนส่งน้ำมันไปจีน และเรื่องภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลกของจีนในฐานะชาติมหาอำนาจในอนาคต 

แต่เนื่องจากโครงการ One Belt, One Road เป็นโครงการที่กินอาณาบริเวณพื้นที่ใหญ่มาก และมีผู้เกี่ยวข้องมากมายที่หลายส่วนก็อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของจีนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ดังนั้นจีนจึงจำเป็นต้องให้น้ำหนักความสำคัญและแผนการใช้ประโยชน์จากแต่ละพื้นที่ที่ไม่เหมือนกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป้าหมายของจีนในกรณีของการผลักดันระเบียงเศรษฐกิจระหว่างจีนกับปากีสถานนั้นก็จะแตกต่างไปจากเป้าหมายที่จีนต้องการจะได้จากกลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น 

ยกตัวอย่างล่าสุดก็คือ กรณีความพยายามของกลุ่มบริษัทอาลีบาบาของจีน ที่พยายามขยายบทบาทความร่วมมือที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นกับประเทศมาเลเซียและไทย ซึ่งมีนัยสะท้อนถึงความต้องการระบายสินค้าจีนเข้าสู่ตลาดภายในกลุ่มประเทศอาเซียนให้ได้มากขึ้น โดยอาศัยสู่ทางในการสร้างและขยายแพลตฟอร์ม (platform) ทางการตลาดบนสื่ออินเทอร์เน็ตที่บริษัทจีนมีความได้เปรียบอยู่ เพื่อครอบครองส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคนี้ให้ได้มากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำเมื่อเทียบกับวิธีการแบบเดิม ๆ 

เรื่องนี้จึงมีความสำคัญไม่น้อยที่เราจะต้องศึกษาหามาตรการเตรียมรับมือ กับผลกระทบที่จะมีต่อผู้ผลิตขนาดเล็กและกลางของไทยเราเองต่อไป ที่จะต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าจีนที่เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือไปจากความพยายามในการผลักดันระบียงเศรษฐกิจ EEC ให้เชื่อมโยงเข้ากับโครงการ One Belt, One Road ที่ยังต้องอาศัยเวลาอีกมากในการสร้างความได้เปรียบของเราในส่วนนี้