ความสะเทือนใจกับชาวบ้านแพะใต้ (จบ​)

ความสะเทือนใจกับชาวบ้านแพะใต้ (จบ​)

ความรู้สึกสะเทือนใจที่เกิดขึ้นกับผม และเพื่อนจำนวนหนึ่ง ที่ได้เข้าร่วมงาน “ พิธีฮ้องขวัญ” ของชาวบ้านบ้านแพะใต้

ที่ได้อุทิศ/เสียสละอิสรภาพและเสรีภาพของตนเอง เพื่อแลกกับความเป็นธรรมให้แก่คนจำนวนมาก ทำให้ผมต้องกลับมาคิดอธิบายเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์มากขึ้น และคิดว่าสังคมไทยจำเป็นต้องศึกษาระบอบอารมณ์ความรู้สึกนี้ให้ลึ้กซื้งกว่าเดิม

ความรู้สึกสะเทือนใจเช่นที่กล่าวมานี้ไม่ได้มีอยู่ในทุกสังคมหรือในทุกยุคทุกสมัย แต่มีรากฐานอยู่บนวัฒนธรรมทางความคิด เพราะแม้แต่ความคิดว่าเช่นใดถือว่าเป็นธรรมและเช่นใดถือว่าไม่เป็นธรรม ก็ขึ้นอยู่กับทัศนะที่ว่าอะไรคือความเป็นธรรม

หากคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน การได้ส่วนแบ่งของทรัพยากรไม่เท่ากันหรือมีโอกาสในเรื่องต่างๆ ไม่เท่ากัน ก็ไม่รู้สึกว่า “ไม่เป็นธรรม” แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นมา (ดังที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันในสังคมไทย) เราก็จะไม่เกิดความสะเทือนใจแม้แต่น้อย

ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกณฑ์ในเรื่องความจริง ความดี ความงาม ก็พลอยเปลี่ยนแปลงไปด้วย ในหลายกรณีทั้งเกณฑ์เก่าและเกณฑ์ใหม่ยังมีบทบาทอยู่ในสังคมร่วมกัน ทั้งๆ ที่เกณฑ์ทั้งสองขัดแย้งกันอย่างเป็นตรงกันข้าม คนที่ต้องพบกับเรื่อง “ไม่ดี”บางอย่าง อาจมีคนเห็นว่าเป็นเรื่อง “ดี” ก็ได้ หรือคนที่ “ทำดี” อาจมีคนเห็นว่าเขา “ทำเลว” ก็ได้

ดังนั้น ถ้าวัฒนธรรมทางความคิดและความรู้สึกแตกต่างกัน ก็ย่อมจะเกิดอารมณ์สะเทือนใจต่อปรากฏการณ์หนึ่งๆ แตกต่างกัน

ความรู้สึกสะเทือนใจต่อคนที่ไม่ได้รับความธรรมจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง

หากมีคนถูกจับข้อหาบุกรุกป่าเพราะใช้ที่ดินทำกินมาก่อนที่จะเกิดการประกาศเขตป่าสงวน บางคนอาจสะเทือนใจมาก แต่บางคนอาจรู้สึกสมน้ำหน้าก็ได้

บางคนสะเทือนใจมากที่มีคนเรียกร้องให้เลิกกราบหรือเลิกหมอบคลาน แต่บางคนก็สรรเสริญบุคคลที่ลุกขึ้นเรียกร้องเช่นนั้นโดยเห็นว่าเขากำลังต่อสู้เพื่อความเสมอภาค

นี่แหละครับ ผมจึงบอกว่าความสะเทือนใจเป็นวัฒนธรรมและกำลังเป็นวัฒนธรรมหลายระดับซ้อนทับกันอยู่ และในหลายกรณีความสะเทือนใจของแต่ละกลุ่มชน ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นมาเสียด้วยซ้ำไป

ดังนั้น หากเราสามารถที่จะศึกษาให้ละเอียดว่าคนไทยกลุ่มไหน/สถานะใดสะเทือนใจเรื่องอะไร ก็จะเข้าใจความแตกต่างและความขัดแย้งในสังคมไทยได้ลึกซึ้งขึ้นมาก

ความขัดแย้งในสังคมไทยจึงไม่ได้เกิดจากความแตกต่างของฐานะทางเศรษฐกิจ-สังคม และการ “คิดต่างกัน” เท่านั้น แต่ยังเกิดจาก “รู้สึกสะเทือนใจ” ต่างกันด้วย

ความแตกต่างของความรู้สึกสะเทือนใจ เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในสังคมไทยในระยะหลายปีที่ผ่านมา และแม้แต่ความสะเทือนใจก็มีการเลือกข้าง เช่น รู้สึกสะเทือนใจในความสูญเสียของฝ่ายที่เราเลือก และสะใจกับความสูญเสียของฝ่ายตรงกันข้าม

จะทำอย่างไรให้เรารู้สึกสะเทือนใจในความเจ็บปวดของทุกคน ในฐานะที่ทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน สามารถ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ไม่ว่า “เขา” คนนั้นจะเป็นใคร

คงเป็นไปไม่ได้ที่จะคิดวิธีการที่แก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ คงต้องอาศัยการยอมรับว่าคนเรามีมุมมองต่างกัน และต่างคนก็ต่างพยายามมองจากมุมของคนอื่นๆ (หรือเอาใจเขามาใส่ใจเรา) มากขึ้น และเนื่องจากเราต่างก็มี “อคติ” คือมีแนวโน้มที่จะคิดและรู้สึกในเรื่องต่างๆ จากทัศนคติหรือจุดยืนของเราเอง การ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” อย่างลอยๆ จึงไม่น่าจะช่วยอะไรได้มากนัก เพราะจะไม่สามารถเข้าใจคนอื่นๆ (จากมุมมองของ “เขา” คนนั้นได้จริงๆ) จึงจำเป็นต้องมองคนๆ นั้น ใน “บริบท” ของเขาด้วย เช่น เงื่อนไขแวดล้อมทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม ที่ทำให้ “เขา” เป็นเช่นนั้น

การเข้าใจคนต่างๆใน “บริบท” ของเขาจะช่วยทำให้เรามีโอกาสที่จะเข้าใจและสัมผัส “ความเป็นคน” ที่ต้องเลือกตัดสินใจในเงื่อนไขแวดล้อมชีวิตของเขา เราทั้งหมดก็อาจจะมีทางที่จะช่วยลดความขัดแย้งในทุกระดับของชีวิตลงไปได้

ชาวบ้านแพะใต้ได้ตัดสินใจรวมกลุ่มกันต่อสู้ เพื่อนำเอาที่ดินสาธารณะที่กลุ่มนายทุนฉวยโอกาส ใช้อำนาจเงินและช่องโหว่ของระบบราชการ ยึดเอาไปเป็นสมบัติส่วนตัวให้กลับคืนมาเป็นของชุมชน การต่อสู้ที่ยาวนานและพบกับความเจ็บปวดมากมาย บางท่านเสียชีวิตไปก่อนที่จะเห็นผลจากการต่อสู้ แต่ก็ได้ส่งผลต่อสังคมไทยให้ต้องกลับมาคิดทบทวนกันใหม่ ในการกระจายการถือครองที่ดิน การเสนอกรอบการจัดการที่ดินด้วย “ โฉนดชุมชน” ที่ได้รับการตอบสนองจากรัฐจึงเป็นความสำเร็จที่เกิดจากการเสียสละของพี่น้องโดยแท้

ขอขอบพระคุณพี่น้องบ้านแพะใต้ที่ได้เสียสละอย่างยิ่งใหญ่ครับ