"ช่องทางการเติบโตของฟินเทค กับการพาคนไทยไปสู่ชีวิตที่ยั่งยืน

"ช่องทางการเติบโตของฟินเทค กับการพาคนไทยไปสู่ชีวิตที่ยั่งยืน

"ช่องทางการเติบโตของฟินเทค กับการพาคนไทยไปสู่ชีวิตที่ยั่งยืน"

จากการที่สมาคมไทยฟินเทค (Thai Fintech Association) ได้เปิดตัวไปเป็นที่เรียบร้อย และได้มีการเลือกตั้งกรรมการบริหารอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 ที่เพิ่งผ่านไปนั้น ทางสมาคมได้เรียนเชิญ คุณ กรณ์ จาติกวณิช เป็นประธาน และ ผมเองในฐานะที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารคนหนึ่ง ที่จะขอเป็นฟันเฟืองในการยกระดับไทยฟินเทคให้ก้าวสู่ระดับสากล

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในแวดวงการเงิน และความพยายามสร้างสังคมฟินเทคในประเทศไทย ล่าสุดผมได้ฟังเรื่องที่น่าสนใจจากสมาคมไทยฟินเทคแล้วอยากมาแชร์เรื่องราวดีๆ ที่คนไทยควรต้องรู้..

ณ.ปัจจุบัน ที่กระแสฟินเทคกำลังมาแรง แต่จากผลการวิจัยทราบว่า ในยุคนี้ที่แม้ยุคดิจิตอล จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอยู่มาก แต่ก็ยังมีประชาชนไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ และยังขาดความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของเรื่องการเงิน ทำให้เกิดปัญหามากมาย โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารหนี้ ที่คนจำนวนมากขาดความเข้าใจเลยมีความกลัวเกิดขึ้นมาแทนที่ จึงเป็นผลทำให้ยิ่งพาตนเองออกสู่นอกระบบ เช่นการกู้นอกระบบบ้าง หรือการกู้โดยไม่รู้เรื่องดอกเบี้ย ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ที่เราเรียกว่า " Pain Point " น่าจะเป็นจุดสำคัญ เป็นช่องทางให้ฟินเทคเข้ามาพัฒนา Pain Point เหล่านั้น เพื่อการให้บริการที่เข้าถึง End User ได้มากกว่า สามารถให้ความรู้พื้นฐาน ไปจนถึงความรู้ทางการเงินต่างๆที่พวกเขาควรจะต้องรู้ และพาคนไทยเข้าสู่ระบบทางการเงิน บนเทคโนโลยีที่เข้าใจง่าย และรวดเร็ว

จากผลการสำรวจพบว่า คนไทยมีหนี้จำนวนมาก และกลุ่มคนที่มีหนี้มากที่สุดคือเกษตรกรและข้าราชการ ทั้งๆที่พวกเขาคือคนสำคัญของประเทศชาติ แต่ด้วยความเข้าใจผิดเรื่องของการลงทุนว่าการลงทุนประเภทใดที่จะให้ผลตอบแทนสูงสุด อีกทั้งเมื่อต้องการขอสินเชื่อ ซึ่งต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องของรายได้ รายจ่าย ภาระหนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ รวมไปถึงดอกเบี้ย จนทำให้เงินออมไม่มี ส่วนหนี้ก็พอกพูนจนต้องไปกู้นอกระบบ และหาเงินทั้งชีวิตก็ไม่สามารถปิดหนี้ได้ กลายเป็นคนนอกระบบ จนบางครั้งก็ต้องทิ้งภาระหนี้ไปถึงลูกหลาน ฉะนั้น Pain Ponit เหล่านี้ ด้วยความเข้าใจผิดของคนไทยครึ่งค่อนประเทศ นับเป็นปัญหาระดับชาติที่ในมุมมองของผม ฟินเทคจะสามารถเข้ามาแก้ตรงจุดนี้ได้ เพื่อให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น มั่นคงและยั่งยืนขึ้นได้ไม่มากก็น้อย โดยผมเองเล็งเห็นถึงจุดนี้ จึงได้สร้างฟินเทคขึ้นมาตัวหนึ่งชื่อว่า Refinn (www.refinn.com) ซึ่งเป็น Platform การบริหารหนี้ เพื่อช่วยลดดอกเบี้ยให้คนไทยมีหนี้น้อยลง และด้วยประสบการณ์ที่ผมทำ Refinn ทำให้ผมมองเห็นถึงช่องทางที่ฟินเทคน่าจะเข้ามามีบทบาทได้อีกดังนี้
1 การกระจายความรู้พื้นฐานด้านการเงินสู่คนไทยทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้าใจง่าย
2 การกระจายความรู้ให้คนไทยทุกคนนั้นเข้าถึงบริการต่างๆของฟินเทค
3 ให้ความรู้ และปลูกฝังเรื่องการออมระยะยาวอย่างถูกวิธี
4 ให้ความรู้เรื่องการกู้ยืมในระบบ และการบริหารหนี้ ทำให้คนไทยไม่ออกนอกระบบไปอีก
5 การทำให้เรื่องเงินเป็นเรื่องง่าย เพียงปลายนิ้วสัมผัส ทำให้การดำเนินชีวิตสะดวกสบายขึ้น และการดำเนินธุรกิจเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

หลายคนอาจยังมีความสงสัยว่า แล้วฟินเทคจะทำได้อย่างไร ผมจึงขอยกตัวอย่างจากผลวิจัยล่าสุด พบว่า
ปัจจุบันคนไทยที่เข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารบนมือถือ ยังมีอยู่จำนวนไม่มาก แต่พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยนั้นเรียกว่า มีความเข้มข้นมากเป็นอันดับต้นๆของโลก เป็นรองเกาหลีใต้ที่อยู่อันดับหนึ่ง เพียงไม่กี่อันดับ ดังนั้นฟินเทคจะสามารถเข้าเติมเต็มความต้องการทางการเงินได้อย่างลงตัว โดยนอกจากการเสริมสร้างความรู้พื้นฐานแล้ว จะต้องปลูกฝังแนวทางสร้างสรรค์ผ่าน Interface ที่น่าดึงดูด และจะสามารถสร้างโอกาสได้จากช่องว่างในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อีกด้วย

และนี่ก็คือโอกาสของไทยฟินเทคในการเติบโตที่จะสามารถพาคนไทยให้เติบโตไปด้วยกัน นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของการนำเทคโนโลยีมาหลอมรวมกับเรื่องทางการเงินเท่านั้น หากแต่เป็นการพัฒนาเพื่อคนไทยและสังคมไทยอย่างแท้จริง แม้ว่าจะยังมีความท้าทายรอไทยฟินเทคอีกมาก แต่ก็เป็นความท้าทายที่คนไทยจะต้องผ่านไปได้กับความตั้งใจที่จะพาคนไทยไปสู่สังคมฟินเทค สังคมแห่งความยั่งยืนทางการเงิน ที่จะพัฒนาไป อย่างไม่หยุดยั้ง...