เกาหลีใต้กับการคงไว้ซึ่งลายเสือ

เกาหลีใต้กับการคงไว้ซึ่งลายเสือ

ชะตากรรมของอดีตประธานาธิบดีปัก กึน เฮ ของเกาหลีใต้ยังไม่จบ หลังกระบวนการปลดออก จากตำแหน่งประธานาธิบดีสิ้นสุด

 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สัปดาห์นี้อัยการสอบสวนต่อเพื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับความฉ้อฉลต่าง ๆ ในระหว่างที่เธอดำรงตำแหน่ง การปลดและอาจลงโทษประธานาธิบดีเพิ่มนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการลดความฉ้อฉล ซึ่งชาวเกาหลีใต้ตระหนักดีว่าเป็นอุปสรรคหมายเลขหนึ่งของการพัฒนา ถ้าจะพัฒนาต่อไปจำเป็นจะต้องทำให้ความฉ้อฉลลดลงอีก จะเห็นว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อดีตประธานาธิบดีของเกาหลีใต้หนึ่งคนถูกศาลตัดสินจำคุก 22 ปีพร้อมปรับ 21 ล้านดอลลาร์ หนึ่งคนถูกจำคุกตลอดชีวิตและหนึ่งคนกระโดดหน้าผาตายในช่วงถูกสอบสวน

เป็นที่ทราบกันดีว่า การพัฒนาของเกาหลีใต้น่าสนใจมาก เนื่องจากเกาหลีใต้มิได้เตรียมเร่งรัดพัฒนาอย่างจริงจัง จนหลังสงครามเกาหลียุติเมื่อปี 2496 สงครามนั้นทำลายปัจจัยพื้นฐานของเกาหลีใต้เกือบหมด เกาหลีใต้ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและถูกซ้ำเติมด้วยดินฟ้าอากาศอันโหดร้าย ย้อนไปในตอนก่อนจะเริ่มเร่งรัดพัฒนา ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลกประเมินว่าเกาหลีใต้ไม่น่าจะมีอนาคต จึงตราเกาหลีใต้ว่าเป็น Basket Case หรือประเทศที่ไม่น่าจะมีวันผุดวันเกิด แต่หลังจากนั้นไม่ถึง 50 ปี เกาหลีใต้ไล่ทันบรรดาประเทศก้าวหน้าทั้งหลาย จึงได้รับการหยิบยกมาเป็นตัวอย่างรวมทั้งจากธนาคารโลกว่าเป็น “ความมหัศจรรย์แห่งเอเซีย” บ้างและเป็นหนึ่งในสี่ “เสือเอเซีย” บ้าง อีกสามเสือได้แก่ไต้หวัน ฮ่องกงและสิงคโปร์

ปัจจัยที่ทำให้เกาหลีใต้พัฒนาได้อย่างรวดเร็วมีหลายอย่างด้วยกัน ปัจจัยสำคัญรองลงมาจากการลดความฉ้อฉลได้แก่ (1) การมีผู้นำที่เข้มแข็งและมีวิสัยทัศน์กว้างไกลชื่อ ปัก จุง ฮี ซึ่งบริหารประเทศอยู่กว่า 16 ปีเริ่มจาก พ. ศ. 2504 (2) การมียุทธการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพสังคมของเกาหลีใต้เองและของโลก (3) การมีวินัยสูงของชาวเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผลจากมาตรการสร้างวินัยของประธานาธิบดีปัก จุง ฮี (4) การมีแรงจูงใจที่จะแซงญี่ปุ่น แรงจูงใจนี้เกิดจากชาวเกาหลีใต้เจ็บช้ำน้ำใจตั้งแต่สมัยประเทศถูกญี่ปุ่นยึดครอง (5) การช่วยเหลือจากมหาอำนาจฝ่ายโลกเสรีซึ่งต้องการชูเกาหลีใต้ให้เป็นตัวอย่างของความเหนือชั้นของฝ่ายโลกเสรีในช่วงที่ทำสงครามเย็นกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ เกาหลีใต้จึงกู้เงินได้มากจากฝ่ายโลกเสรีซึ่งในขณะเดียวกันก็เปิดตลาดอย่างกว้างขวางให้สินค้าของเกาหลีใต้ส่งเข้าไปได้สะดวก

ปัจจัยทางด้านการลดความฉ้อฉลให้ลงมาอยู่ในระดับต่ำ การมีผู้นำที่เข้มแข็ง การมียุทธการพัฒนาที่เหมาะสมและการมีวินัยสูงนั้น อีกสามเสือมีส่วนคล้ายกับเกาหลีใต้ เรื่องนี้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับประเทศในย่านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนาม ลาวและกำพูชาประสบปัญหาร้ายแรงมากจากภาวะสงครามกลางเมืองเป็นเวลานานในช่วงที่เกาหลีใต้และประเทศในย่านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มเร่งรัดพัฒนา ส่วนประเทศอื่นไม่ประสบปัญหาเช่นนั้นแต่พัฒนาอย่างรวดเร็วแบบเสือทั้งสี่ไม่ได้เป็นเวลานานเพราะการขาดวินัยและการไม่ลดความฉ้อฉลอย่างจริงจัง จีนตระหนักในความสำคัญของปัจจัยเหล่านี้ดี จึงมีมาตรการเข้มข้นถึงขั้นลงโทษประหารชีวิตผู้กระทำความฉ้อฉล ผลการพัฒนาอย่างรวดเร็วของจีนหลังสงครามเย็นยุติย่อมเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

อันที่จริงหากมองจากการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าเช่นเดียวกับเสือทั้งสี่ยังมีอีกสองประเทศที่ทำได้ นั่นคือ กรีซและไซปรัส สองประเทศนี้ประสบความสำเร็จสูงพร้อมกับใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงได้รับเข้าเป็นสมาชิกของสภาพยุโรป อย่างไรก็ดี ทั้งสองต้องประสบความล้มละลายจนเรียกได้ว่าสิ้นลายเสือเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อหลายปีก่อน ต้นเหตุของความล้มละลายได้แก่การใช้นโยบายประชานิยมผสมกับความไม่เหมาะสมของนโยบายการเงินและการคลัง ณ วันนี้ ทั้งกรีซและไซปรัสยังก้าวไม่พ้นภาวะสิ้นลายเสือ เกาหลีใต้และเสือเอเซียเข้าใจต้นเหตุของการสิ้นลายเสือเป็นอย่างดี จึงไม่ใช้นโยบายประชานิยมและนโยบายการเงินและการคลังที่ไม่เหมาะสมทั้งหลาย ยิ่งกว่านั้น ยังตระหนักด้วยว่าถ้าจะพัฒนาต่อไปจะต้องใช้มาตรการเข้มข้นเพื่อลดความฉ้อฉลลงอีกถึงแม้จะต้องปลดและจำคุกประธานาธิบดีก็ตาม