เศรษฐกิจหมุนเวียน ผลกระทบและโอกาสธุรกิจไทย

เศรษฐกิจหมุนเวียน ผลกระทบและโอกาสธุรกิจไทย

ล่าสุด มาตรการผลักดันเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น EU ได้เสนอแนวคิดเชิงนโยบาย

เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะและของเสียจากสินค้าหลังจากการบริโภค โดยแนวคิดนี้มีนัยสำคัญต่อกระบวนการผลิตสินค้าไปจนถึงการใช้บรรจุภัณฑ์ ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะต้องให้ความสำคัญ และเตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตลอดจนห่วงโซ่การผลิต แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นโอกาสของไทยในการพัฒนาธุรกิจสีเขียวของไทยในอนาคตอีกทางหนึ่ง

เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะและของเสียจากสินค้าภายหลังจากการบริโภคมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยนำทรัพยากรมาใช้ซ้ำ ซ่อมแซม และรีไซเคิล แทนการผลิตใหม่ทั้งหมดเพื่อลดการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติและนำขยะกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์หรือตัวบรรจุภัณฑ์ไม่ให้สร้างผลกระทบด้านลบ ต่อทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม

รูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน มีความแตกต่างจากรูปแบบเศรษฐกิจดั้งเดิมในแบบจำลองเชิงเส้น (linear model) ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงการกำจัดขยะมูลฝอยและของเสียจากสินค้าเหล่านั้นในระยะยาว โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มักจะถูกฝังกลบหรือเผาทิ้งหลังจากหมดสภาพการใช้งานนอกจากนี้ ยังทำให้ประเทศผู้ผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย อย่าง EU ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะและของเสียหลังจากการบริโภคสินค้าเหล่านั้น

เหตุนี้ EU จึงเสนอ Circular Economy Package เพื่อเป็นแนวนโยบายในการออกมาตรการที่เกี่ยวข้องตลอดวงจรชีวิตของสินค้า เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนการดำเนินงานที่เป็น Action Plan ของการออกมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขยะและของเสียที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม โดยครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การบริโภค การจัดการของเสีย ไปจนถึงการใช้วัตถุดิบในขั้นตอนในอนาคตรวมทั้งแนวนโยบายเฉพาะสำหรับวัสดุหรือของเสียอื่นๆ ได้แก่ พลาสติก เศษอาหาร วัตถุดิบสำคัญ การก่อสร้างและการรื้อถอน ชีวมวลและผลิตภัณฑ์วัสดุชีวภาพ

ประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อผู้ประกอบการไทย คือ การนำมาตรการความรับผิดชอบเพิ่มเติมของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility - EPR) มาเป็นกลไกสำคัญในการจัดทำข้อเสนอที่ให้ผู้ผลิตแบกรับภาระความรับผิดชอบและค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะและของเสียมากขึ้นเช่น ค่าธรรมเนียมพิเศษเพื่อจัดการซากผลิตภัณฑ์ การจัดกิจกรรมเพื่อกำจัดซากผลิตภัณฑ์หรือบำบัดผลกระทบที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ เป็นต้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักในการผลักดันให้ผู้ผลิตออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความทนทาน สามารถซ่อมแซมได้ และนำมาใช้ใหม่ได้ เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

แม้ปัจจุบัน จะมีการนำมาตรการ EPR มาใช้ในระดับประเทศสมาชิกอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีความเข้มงวดมากนัก เนื่องจากประเทศสมาชิกสามารถเลือกที่จะออกมาตรการ EPR หรือไม่ก็ได้ อีกทั้งมาตรการ EPR ในประเทศสมาชิก ก็ยังมีข้อกำหนดที่แตกต่างระหว่างกันอยู่มากซึ่งความพยายามของ EU ครั้งนี้ ต้องการจะผลักดันการใช้มาตรการ EPR ในร่างข้อบังคับ Waste Framework Directive ซึ่งเป็นหัวใจหลักของนโยบายการกำจัดขยะและของเสียของEU โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องออกมาตรการ EPR เพื่อสร้างแนวปฏิบัติในการจัดการขยะและของเสียทุกประเภทให้สอดคล้องกัน เช่น การกำหนดภาระหน้าที่ของผู้ผลิตสินค้าในการระบุข้อมูลวิธีกำจัดซากสินค้าบนบรรจุภัณฑ์สินค้าแต่ละชนิดการจ่ายค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มเติมที่ครอบคลุมตลอดกระบวนการกำจัดซากสินค้า ซึ่งค่าธรรมเนียมในส่วนนี้จะมีความแตกต่างตามประเภทวัตถุดิบว่าสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือนำมาใช้ซ้ำได้หรือไม่ โดยผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้วย

ข้อบังคับส่วนใหญ่ที่เหลือเป็นการปรับเป้าหมายใหม่ในการจัดการขยะและของเสียจากสินค้าที่ทำจากวัตถุดิบเฉพาะ คือ ขยะและของเสียจากบรรจุภัณฑ์ ยานพาหนะหมดสภาพ แบตเตอรี่ต่างๆ และขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การเพิ่มสัดส่วนการรีไซเคิลของเสียที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์สินค้าใน EU ทั้งหมดเป็นร้อยละ 65 และร้อยละ 75 ภายในปี 2025 และ 2030 ตามลำดับ รวมทั้งการลดการฝังกลบของเสียเหลือร้อยละ 10 ของของเสียทั้งหมดใน EUภายในปี 2030 และการยกเลิกการฝังกลบของเสียที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ เป็นต้น ซึ่งผู้ผลิตและผู้นำเข้าสินค้าแต่ละประเภทจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกำจัดซากสินค้าของตน

กลุ่มผู้ประกอบการไทยที่อาจได้รับผลกระทบ คือ ผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิต เช่น กลุ่ม SMEs ที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบที่มีมูลค่าไม่สูงมากนักในห่วงโซ่มูลค่า หรือกลุ่มผู้รับจ้างผลิตและประกอบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทต่างประเทศ ที่เข้ามาสร้างฐานการผลิตในประเทศไทยเพื่อประทับตราสินค้าและจำหน่ายภายใน EU หรือในตลาดประเทศที่สาม

ผู้ประกอบการไทยเหล่านี้เป็นกลุ่มที่อยู่ในภาคการผลิตที่แท้จริง ซึ่งส่วนใหญ่ขาดทั้งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและเงินทุนในการทำการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับข้อบังคับต่างๆ ของ EU ในการจัดการขยะและของเสียจากซากผลิตภัณฑ์

การใช้กลยุทธ์การผลิตที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นการสร้างโอกาสที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพในการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ จากการผสมผสานการใช้วัตถุดิบของไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น วัตถุดิบทางธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ และนวัตกรรมใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อมโยงธุรกิจของตนกับห่วงโซ่การผลิตของบริษัทต่างชาติที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่มีศักยภาพและมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการวิจัยและพัฒนา หรือบริษัทไทยที่มีการลงทุนซื้อกิจการในต่างประเทศเพื่อขยายธุรกิจให้ครอบคลุมตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต

  

โอกาสธุรกิจด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมในตลาด EU

EU ให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนและได้จัด Circular Economy Mission to Third Countries โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือกับประเทศที่สามเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมหลักที่สำคัญคือ การจับคู่ทางธุรกิจระหว่างนักธุรกิจและนักลงทุนจาก EU กับนักธุรกิจในประเทศที่สาม เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจและการลงทุน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการลงทุน ตลอดจนการเจรจาทางธุรกิจร่วมกันโดยที่ผ่านมาได้ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวแล้วหรือมีแผนจะดำเนินการในอนาคต รวม2 ประเทศ คือ ชิลี เมื่อเดือนเม.ย. 2559 และจีน ในเดือน พ.ย. 2559

จากการจัดกิจกรรมของ EU ที่ผ่านมา สาขาที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Innovation) เคมีภัณฑ์ การจัดการขยะและของเสียและนวัตกรรมเพื่อการประหยัดพลังงานเป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเป็นคู่ค้าที่สำคัญของ EU เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยก็เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งในโลก และยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อีกด้วย

EU ยังมีข้อเสนอให้ปรับปรุงข้อบังคับอื่นๆ ที่สำคัญอีก 6 ฉบับคือ

1) Waste Framework Directive 2008/98/EC

2) Packaging and Packaging Waste Directive 94/62/EC

3) Landfill Directive 1999/31/EC

4) End of Life Vehicles Directive 2000/53/EC (ELV)

5) Batteries and Accumulators and Waste Batteries Directive 2006/66/EU

6) Waste Electrical and Electronic Equipment Directive 2002/96/EC (WEEE)

ถึงแม้ว่า ร่างข้อเสนอข้อบังคับทั้ง 6 ฉบับยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นและจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาทางกฎหมายจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของ EU ก่อนจะมีผลบังคับใช้จริง รวมทั้งกระบวนการออกกฎหมายในแต่ละประเทศสมาชิก แต่ผู้ประกอบการไทยก็ไม่ควรนิ่งเฉย โดยควรเริ่มหาลู่ทางในการพัฒนาการผลิตของตนให้สอดคล้องกับข้อกำหนดที่เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการรับมือกับมาตรการในลักษณะเดียวกันนี้ ในประเทศอื่นๆ ที่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยอย่าง สหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล จีน อินเดียญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวันและออสเตรเลีย ที่มีการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรและรีไซเคิลขยะอยู่แล้ว

หากผู้ประกอบการไทยได้รับการพัฒนาสินค้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม ก็จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ตลอดจนเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อีกทางหนึ่งด้วย

ท่านผู้อ่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องค่าโรมมิ่งระหว่างประเทศในอียูได้ที่ http://ec.europa.eu/priorities/digital-single-market/index_en.htm และสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของสหภาพยุโรปได้ทาง www.thaieurope.net หรือติดตามรับข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจาก Twitter “@Thaieurope_news” และ Facebook “thaieurope.net”