การพัฒนาแบบหมาเห็นเงา (9)

การพัฒนาแบบหมาเห็นเงา (9)

ย้อนไป 63 ปี สังคมไทยได้ยินเพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” เป็นครั้งแรก เป็นเพลงบันทึกเสียงที่ขายดีที่สุด

ในยุคนั้นและต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นตำนานและฐานของเพลงลูกทุ่ง เนื้อเพลงท่อนแรกขึ้นต้นด้วยคำว่า “อย่าดูหมิ่นชาวนา...”และท่อนสุดท้ายขึ้นต้นด้วยคำว่า “อย่าดูถูกชาวนา ..”ในตอนนั้นผมยังเป็นเด็กวิ่งเล่นอยู่ในกลางทุ่งนาจึงรู้แต่เพียงว่านั่นเป็นเพลงที่ขับร้องโดยนักร้องชายซึ่งหนุ่มเล็กใหญ่ในทุ่งนาพากันผิวปากเลียนตามทำนอง ผมมาได้ฟังเนื้อร้องและทำนองเพลงจริงๆ อีกครั้งหลังได้ไปอยู่ต่างประเทศหลายสิบปี คราวนี้นักร้องหญิงเป็นผู้ขับร้อง แต่การฟังครั้งหลังๆ ต่างกับการฟังเมื่อครั้งยังอยู่ในทุ่งนา กล่าวคือ จิตใจมิได้เคลิ้มไปกับความเสนาะเพราะพริ้งของท่วงทำนองของเสียงดนตรีและเนื้อเพลงเท่านั้น หากบางครั้งยังคิดต่อไปถึงความหมายในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย กรุณาอย่าเพิ่งมองว่าผมเป็นโรคจิตจากการคิดเรื่องการพัฒนามากจนสมองเต็มไปด้วยของเสีย

ในเบื้องแรกขอทบทวนเรื่องเวเนซุเอลา ซึ่งผมเขียนถึงในตอนที่ 3 และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้อ้างว่าเวเนซุเอลาประกาศภาวะฉุกเฉินเพราะขาดอาหารจนถึงขั้นวิกฤติ เวเนซุเอลามีพื้นที่ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในเขตร้อนซึ่งมีน้ำพร้อมใช้ในการเกษตรจึงเคยเป็นประเทศที่ผลิตอาหารได้เพียงพอ และส่งผลผลิตบางอย่างออกไปขายในต่างประเทศ หลังค้นพบน้ำมันปริมาณมหาศาล รัฐบาลเริ่มดำเนินนโยบายที่ทำให้เกษตรกรละทิ้งอาชีพในชนบท เพื่อไปทำงานและรับรัฐสวัสดิการในเมือง นโยบายนั้นส่งผลให้ประเทศต้องนำเข้าอาหาร และหลังเวลาผ่านไปไม่นานชาวเวเนซุเอลาก็เริ่มลืมภูมิปัญญาในการทำเกษตรกรรมของตน เราอาจมองได้ว่า

นั่นเป็นผลของการ “ดูหมิ่นชาวนา” อันเป็นการพัฒนาแบบหมาโง่เห็นเงาในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเมื่อราคาน้ำมันตกต่ำอยู่นาน ชาวเวเนซุเอลาขาดอาหารจนถึงขั้นจะฆ่าฟันกันเอง

ตัวอย่างที่สองอยู่ในสหภาพโซเวียต ซึ่งเกิดขึ้นจากรัสเซียควบรวมประเทศต่างๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติและใช้ระบบคอมมิวนิสต์พัฒนาเศรษฐกิจและปกครองหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบคอมมิวนิสต์ ได้แก่รัฐบาลเป็นผู้สั่งการว่าจะผลิตอะไร อย่างไรและเพื่อใคร ในด้านการเกษตร ภาครัฐทำตัวเสมือนบริษัทขนาดมหึมาที่สั่งให้ชาวไร่ชาวนาผลิตสิ่งต่างๆ ตามขั้นตอนของรัฐ ชาวนาชาวไร่ไม่อาจตัดสินใจทำอะไรโดยใช้ภูมิปัญญาของตนเอง เมื่อเวลาผ่านไป ผู้อยู่ในภาคเกษตรกรรมรุ่นใหม่เริ่มไม่มีภูมิปัญญาทางด้านการเกษตรเพราะเป็นเพียงลูกจ้างที่ทำตามคำสั่งเท่านั้น

การทำเกษตรกรรมตามคำสั่งดำเนินมาจนกระทั่งปี 2534 เมื่อสหภาพโซเวียตแตกสลายและประเทศต่างๆ ที่ถูกควบรวมไว้กลับไปเป็นเอกราชอีกครั้ง ประเทศเหล่านั้นต่างใช้ระบบตลาดเสรีพัฒนาเศรษฐกิจ ในระบบตลาดเสรีชาวไร่ชาวนาต้องมีภูมิปัญญาทางด้านการเกษตรเพียงพอที่จะตัดสินใจได้ว่า ควรผลิตอะไร เมื่อไรและอย่างไร บรรดาประเทศที่เป็นเอกราชใหม่เหล่านั้นประสบปัญหาอยู่เป็นเวลานานเพราะขาดชาวไร่ชาวนาที่มีภูมิปัญญาจริงๆ ในหลายๆ กรณี ต้องจูงใจให้บริษัทข้ามชาติเข้าไปลงทุนทำเกษตรกรรม หรือไม่ก็นำเข้าอาหารโดยตรง

นอกจากนั้น การละทิ้งภูมิปัญญาดั้งเดิมในภาคเกษตรกรรมยังทำให้เกิดความหายนะทางสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ในอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย กล่าวคือ รัฐบาลเข้าไปปิดกั้นแม่น้ำใหญ่สองสายเพื่อผันน้ำไปใช้ปลูกฝ้ายในทะเลทรายเพื่อส่งออก โครงการนั้นมองข้ามความสำคัญของผู้ทำเกษตรกรรมและการประมงดั้งเดิม ตามธรรมดาแม่น้ำสองสายดังกล่าวส่งน้ำไปลงทะเลสาบอารัล ซึ่งเป็นทะเลสาบใหญ่หมายเลข 4 ของโลกและตั้งอยู่ระหว่างประเทศคาซัคสถานและอุซเบกิสถาน เมื่อขาดน้ำไหลลงไปเป็นเวลานาน ทะเลสาบอารัลก็เหือดแห้งไปถึงราวร้อยละ 90 ส่งผลให้เกษตรกรและชาวประมงส่วนใหญ่ไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมต่อไปได้ ร้ายยิ่งกว่านั้น เมื่อน้ำเหือดแห้งไปพื้นทะเลสาบกลายเป็นฝุ่นพิษที่เกิดจากสารเคมีและเกลือเจือปนอยู่ ณ วันนี้ โครงการปลูกฝ้ายยังดำเนินต่อไปในอุซเบกิสถาน ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมดั้งเดิมนั้นส่วนใหญ่ถูกทำลายไปพร้อมๆ กับสุขภาพของประชาชนโดยฝุ่นพิษดังกล่าว

สำหรับในเมืองไทย ความมีอารมณ์สุนทรีย์ที่แสดงออกมาทางเสียงดนตรีให้ความสำคัญแก่ชาวนา แต่กระบวนการพัฒนาหยามภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวไร่ชาวนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน การพัฒนาผ่านการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนำไปสู่การทำลายป่าเพื่อนำที่ดินมาใช้ปลูกพืชต่างๆ รวมทั้งมันสำปะหลัง อ้อยและข้าวโพด ด้วยวิธีใช้สารเคมีอย่างเข้มข้นและเครื่องจักรกลทันสมัย การทำเกษตรกรรมแนวใหม่ถูกนำมาใช้ในการทำนาด้วย

เมื่อเวลาผ่านไป ภูมิปัญญาดั้งเดิมของเกษตรกรไทยค่อยๆ หายไปพร้อมกับป่าไม้และความหลากหลายในระบบนิเวศ ในท้องนา หอย ปู ปลา กบ เขียดและแมงดาหาไม่ค่อยได้ แม้แต่ไส้เดือนซึ่งในย่านบ้านเกิดของผมเรียกกึ่งขบขันว่า พระเจ้าแผ่นดินก็เริ่มหายาก ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการใช้สารเคมีและการเผาฟาง ซึ่งทำให้ดินไร้สารอินทรีย์ในขณะเดียวกัน ชาวนาได้กลายพันธุ์เป็น”เกษตรกรมือถือ” ซึ่งขาดภูมิปัญญาของชาวนารุ่นปู่ย่าตายายหากขาดเครื่องจักรกลและสารเคมี ชาวนาเหล่านี้มีโอกาสอดตาย

ท่ามกลางภาพใหญ่ซึ่งไร้ความสุนทรีย์ตามเสียงเพลง กลิ่นโคลนสาบควาย” กำลังเกิดการเคลื่อนไหวขึ้นในภาคเอกชน การเคลื่อนไหวนี้มีเป้าอยู่ที่การรื้อฟื้นการทำเกษตรกรรมแบบผสมผสานอันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม เสริมด้วยการบริหารจัดการน้ำและความเสี่ยงตามหลักวิชาการหากรัฐบาลให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าวอย่างจริงจัง ชาติไทยยังมีโอกาสหยุดยั้งการพัฒนามิให้กลายเป็นแบบหมาโง่เห็นเงาแบบถาวร