โลกต้องการมาตรการจริง

โลกต้องการมาตรการจริง

การประชุมระดับรัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลาง

จากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศหรือจี-7 ซึ่งประกอบไปด้วย อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่นและสหรัฐ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถหาข้อยุติใดๆในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกได้ แม้จะมีข่าวออกมาเป็นระยะว่าบรรดาประเทศ จี-7 อาจจะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพราะขณะนี้เริ่มมีความกังวลมากขึ้นว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มมีความเสี่ยงเข้าสู่ช่วงขาลง จากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศยังไม่มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีน

ประเด็นสำคัญในขณะนี้คือความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งการประชุมเพื่อแก้ปัญหาของประเทศชั้นนำ ยังไม่มีอะไรที่ออกมาเป็นรูปธรรม เพราะมักจะมีความเห็นต่างกันในนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่จะเร่งผลักดันออกมา ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเวทีระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูงหรือระดับผู้นำรัฐบาล ก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาได้ว่าจะมีความพยายามแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง ซึ่งขณะนี้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกกำลังลดลง ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าธนาคารสหรัฐ (เฟด)จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนหน้า เพราะเกรงว่าจะเกิดความปั่นป่วนรอบใหม่จนคุกคามเศรษฐกิจประเทศอื่นที่กำลังฟื้นตัว

ขณะนี้เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าถึงเวลาแล้ว ที่บรรดาชาติชั้นนำต่างๆที่มีพลังมากพอ จะร่วมมือกันแก้ปัญหา ก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะตกต่ำครั้งใหม่ เพราะเท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ บรรดาผู้นำมักจะแก้ปัญหาด้วยการประชุมหรือแถลงท่าทีว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่มีมาตรการใดๆ ออกมา ซึ่งหมายความว่าความพยายามแก้วิกฤติเศรษฐกิจในขณะนี้ใช้วิธีแบบประวิงเวลาออกไป เพื่อรอให้เกิดการปรับตัวทางโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศให้เข้าสู่ภาวะสมดุล ซึ่งอาจจะมีความผันผวนเกิดขึ้นบ้างเป็นระยะ และเมื่อถึงจุดนั้นเศรษฐกิจโลกโดยรวมน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ตามปกติ

หากติดตามการออกมาตรการต่างๆ ของประเทศเหล่านี้เพื่อแก้ปัญหา ก็จะพบว่าถึงที่สุดแล้วก็เป็นไปอย่างยากลำบาก อาทิ การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการเงินโลก หรือ  Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) ซึ่งครอบคลุมเรื่องการดำรงเงินกองทุนและการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ที่มีข้อกำหนดมานาน แต่หากย้อนกลับไปดูแล้วก็จะพบว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น ที่สามารถทำได้ตามข้อกำหนด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขณะนี้การแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อป้องกันวิกฤติการเงินนั้นยังเป็นไปอย่างยากลำบาก เราทำกันได้เพียงแค่การชะลอปัญหาและแก้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเท่านั้น

จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ยืดเยื้อยาวนานมาหลายปี แม้จะมีสัญญาณในบางช่วงว่าบางประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ก็พูดกันไม่เต็มปากนักว่าฟื้นตัว เพราะเป็นปรับตัวดีขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น นั่นหมายความว่าเรายังไม่อาจก้าวพ้นวิกฤติไปได้โดยเร็ว แม้จะมีความหวังว่าขณะนี้เศรษบกิจสหรัฐ ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกกำลังฟื้นตัว ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าจากความไม่เชื่อมั่นที่เริ่มก่อตัวขึ้นในขณะนี้ อาจเป็นการส่งสัญญาณชี้ให้เห็นว่าอาจจำเป็นต้องมีมาตรการจริงๆ ออกมาเสียที นอกจากเวทีการประชุมและแถลงความเห็น หาไม่แล้วหากความเชื่อมั่นพุ่งสูงขึ้นเรื่อยก็จะลุกลามกลายเป็นภาวะการตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง