จาก‘โต๊ะกินโจ๊ก’ทำเนียบ ถึง‘สภากาแฟ’ชาวบ้าน

จาก‘โต๊ะกินโจ๊ก’ทำเนียบ ถึง‘สภากาแฟ’ชาวบ้าน

รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ บอกว่าทุก 7 โมงเช้าจะ “ตั้งโต๊ะกินโจ๊ก” เพื่อให้รัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง

มาพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ เป็นการผลักดันงานให้เดินไปข้างหน้าเพื่อความราบรื่น

แนวทางการทำงานของผู้นำมีความสำคัญ และวิธีการที่ให้เกิดการเชื่อมโยงวิธีคิดและแนวปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายก็เป็นปัจจัยสำคัญ ในการประเมินว่านโยบายใดสามารถเดินหน้าไปตามทิศทางที่วางเอาไว้หรือไม่

“กินโจ๊ก” เป็นการกำหนดรายการอาหารแบบเรียบง่าย ไม่มีใครสั่ง“เกาเหลา”บนโต๊ะโจ๊กแน่ หรือหากจะมีใครสั่งกาแฟหรือน้ำชามาเสริมรสก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างไร

สำคัญคือโจ๊กที่กินจะต้องไม่ ใส่ไข่มากเกินไป และต้องไม่โปรย ผักชีซึ่งอาจจะเป็นการเติมกลิ่นรส แต่ทำให้ขาดสารบำรุงร่างกายที่แท้จริง กลายเป็น “น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง” ซึ่งก็จะทำให้ “โต๊ะกินโจ๊ก” นั้นมีแต่สีสันแต่ขาดเนื้อหาสาระ คนอื่นไม่ได้ประโยชน์อย่างจริงจังแต่อย่างไร

วิธีการตั้งโต๊ะกินโจ๊ก 7 โมงเช้าของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะที่ผ่านมามีภาพของการขาดการประสานงานกันในระดับนโยบาย พอลงไปถึงภาคปฏิบัติก็ไม่มีความชัดเจน มิอาจจะประเมินว่าแต่ละเรื่อง พอเดินไปแล้ว ได้ผลหรือไม่ จะปรับจะเปลี่ยนอย่างไรให้ทันการณ์

เพราะ “มือซ้ายไม่รู้ว่ามือขวาทำอะไรอยู่”

ความจริง ที่ประชุม ครม. เป็น “โต๊ะการพูดคุย” ที่ได้ประโยชน์น้อยในแง่การวัดผลของนโยบาย เพราะมีหัวเรื่องมากมายและไม่แน่ใจว่าคนจัด “ลำดับความสำคัญ” นั้นเห็นภาพรวมของประเทศเพียงใด อีกทั้งที่ประชุม ครม. กลายเป็นเวทีของการที่แต่ละกระทรวงแย่งจังหวะการนำเสนอเพื่อโครงการของตนเองมากกว่าจะเป็นที่ “ระดมความคิดเห็น” เพื่อให้เกิดภาพของความเป็นเอกภาพในการทำงานในฐานะ “รัฐบาล” อย่างแท้จริง

โต๊ะกินโจ๊กของรองนายกฯ สมคิด จึงควรจะเป็นตัวกระตุ้นประจำวัน ที่จะประเมินทุกนโยบายโดยเฉพาะการแก้ปัญหาเร่งด่วน ที่จะต้องเห็นผลกันในไม่เกินสามเดือน การจะหวังให้หน่วยราชการปกติสามารถวิเคราะห์และประเมินอย่างทันการณ์เกือบจะเป็นไปไม่ได้

วงสนทนาไม่เป็นทางการตอนเช้าของคุณสมคิด จึงควรจะทำหน้าที่เหมือนเป็นการประชุม Management Committee (MC) ของบริษัทเอกชนที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย นั่นคือ CEO จะตั้งวงพร้อมกาแฟกับ CFO ที่ดูแลด้านการเงินกับ CMO ซึ่งวางแผนด้านการตลาดและ CPO ที่รับผิดชอบด้านตัวสินค้าและการผลิต รวมไปถึงหัวหน้าฝ่ายที่เป็นตัวเร่งให้เกิดผลทางปฏิบัติประจำวันของธุรกิจนั้น ๆ

Morning briefings หรือการประเมินผลของนโยบายแต่ละด้านทุก ๆ เช้าก็คงจะเกิดใน “วงโจ๊ก” นี่แหละ ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบวัดผลทั้งในแง่สถิติและผลตอบรับจากประชาชน จะนำเสนอให้รัฐมนตรีและผู้รับผิดชอบทั้งหลายได้เห็นว่าแต่ละเรื่องเร่งด่วน ที่ดำเนินการไปแล้วนั้นอยู่ในสถานภาพอย่างไร ต้องแก้ไขปรับปรุงทันทีตรงไหน และใครจะเป็นคนรับผิดชอบ

และเพื่อให้ “โต๊ะโจ๊ก” เป็นวงสนทนาที่ “ติดพื้น” จริง ๆ ก็จะต้องมีการส่งเสริมให้ตั้งวง “สภากาแฟ” ในแต่ละจังหวัดเพื่อสะท้อนถึงปัญหาและทางแก้ไขในระดับท้องถิ่นเพื่อป้อนเข้ามาใน “โต๊ะโจ๊ก” ที่ทำเนียบรัฐบาล

หรือหากรองนายกฯสมคิดจะ เดินสายพร้อม รมต.เศรษฐกิจ ตั้งโต๊ะ โจ๊กในจังหวัดต่าง ๆ ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่าง โจ๊กรัฐมนตรีกับ กาแฟชาวบ้านได้อย่างออกรสออกชาติ และระดมพลังทุกภาคส่วนได้ตามสภาพความเป็นจริง