ประชาธิปไตยต้านทุนในกรีซ

ประชาธิปไตยต้านทุนในกรีซ

ชาวกรีซส่วนใหญ่ 61% ลงคะแนนเสียงปฏิเสธเงื่อนไข ในมาตรการช่วยเหลือของฝ่ายเจ้าหนี้ หลังจากมีการเจรจากันมานาน

เพื่อแก้วิกฤติทางเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนกระทั่งรัฐบาลกรีซจัดให้การประชามติประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลกรีซปฏิเสธข้อเสนอของบรรดาเจ้าหนี้ ให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจหลังจากดำเนินมานานกว่า 5 ปี โดยการปฏิรูปก่อนหน้านั้นได้สร้างผลกระทบกับประชาชนอย่างมาก เนื่องจากทำให้มีคนตกงานจำนวนมากและเศรษฐกิจตกต่ำ

การจัดประชามติของรัฐบาลกรีซในครั้งนี้ เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยของประเทศตะวันตก ซึ่งในกรณีของกรีซก็คาดการณ์ล่วงหน้าได้ไม่ยากนัก ว่าผลที่ออกมาจะคัดค้านเงื่อนไขของบรรดาเจ้าหนี้ที่เรียกร้อง ให้รัฐบาลกรีซปฏิบัติตามเงื่อนไข เนื่องจากผลของการปฏิรูปเศรษฐกิจตามเงื่อนไขของเจ้าหนี้นั้น รัฐบาลกรีซพยายามดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปรากฏว่าส่งผลกระทบต่อประชาชนกรีซอย่างมาก เนื่องจากมีการตัดรายจ่ายและสวัสดิการสังคม รวมทั้งเศรษฐกิจตกต่ำ

หากย้อนกลับไปพิจารณาเงื่อนไขของเจ้าหนี้ จะเห็นว่ามีเงื่อนไขแทบจะเป็นรูปแบบเดียวกันทั่วโลก ทั้งมาตรการรัดเข็มขัด การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูประบบบำนาญ การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นมาตรการเดียวกับที่ไทยเผชิญมาแล้วในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ กล่าวคือ เป็นมาตรการเพิ่มรายได้และตัดรายจ่าย อีกทั้งต้องปรับกฎกติกาต่างๆในกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสากล โดยเจ้าหนี้ซึ่งเป็นองค์กรการเงินระหว่างประเทศมักจะกำหนดเอาไว้ในเงื่อนไขความช่วยเหลือ

บรรดาเจ้าหนี้เหล่านี้เป็นองค์กรที่มีทุนการเงินเป็นเครื่องมือสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะเงินกู้ให้กับประเทศที่ต้องการเงินทุนเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา องค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้มักจะกำหนดเงื่อนไขความช่วยเหลือทางการเงินด้วยกฎกติกาเดียวกัน กล่าวคือเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยม หรือที่เรียกว่ากระบวนการโลกาภิวัตน์ ซึ่งมักจะผูกเงื่อนไขให้ประเทศลูกหนี้ทำตาม ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็คือทำให้กระบวนการโลกาภิวัตน์ขยายตัวกว้างไกลยิ่งขึ้น

นอกจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจแล้ว ในบางกรณีมีเงื่อนไขในเรื่องของระบอบประชาธิปไตยด้วย เพื่อแลกกับเงื่อนไขความช่วยเหลือ ซึ่งที่ผ่านมา ความช่วยเหลือทางการเงินขององ์กรเหล่านี้มักจะไปด้วยกันกับกระบวนการประชาธิปไตยทั่วโลก แต่กรณีกรีซได้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในเมื่อประชาชนกรีซออกมาใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่นำมาใช้เพื่อต่อต้านโลกาภิวัตน์ในกรีซจากมาตรการของเจ้าหนี้

กรณีของกรีซถือว่าน่าจับตาอย่างมาก ในเรื่องของตรรกะในอธิบายถึงเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี กับประชาธิปไตยว่าเป็นสิ่งที่เกิดคู่กันจริงหรือไม่ หากการประชามติของกรีซในครั้งนี้เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย นั่นก็หมายความว่ามีความขัดแย้งกับกฎกติกาทางเศรษฐกิจที่เป็นสากลในขณะนี้จากบรรดาเจ้าหนี้ กล่าวอีกความหมายหนึ่งก็คือความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้น อาจไม่จำเป็นต้องมีเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็เป็นได้ และทุนนิยมก็ไม่จำเป็นต้องเกิดจากประชาธิปไตยเสมอไป

ดังนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในกรีซ อาจเป็นบทเรียนให้กับหลายประเทศที่กำลังมุ่งหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตย พร้อมๆกับการออกแบบระบอบเศรษฐกิจตามกระแสโลกาภิวัตน์ในขณะนี้ หากกรีซสามารถต่อรองและต่อสู้ให้ฝ่ายเจ้าหนี้ยอมรับเงื่อนไขของตัวเองโดยอ้างผลประชามติ ก็อาจจะเป็นกรณีแรกที่สามารถต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ได้สำเร็จ แต่หากกรีซไม่สามารถต่อต้านได้ หรือ ถูกขับออกจากระบบเศรษฐกิจในยูโรโซน กรีกก็ต้องยอมรับระบอบเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ไป เพราะชาวกรีซเป็นผู้เลือกด้วยตัวเอง