นโยบายลดเหลื่อมล้ำ ทำได้จริงส่งผลดีประชาชน

นโยบายลดเหลื่อมล้ำ ทำได้จริงส่งผลดีประชาชน

ที่ประชุมข้าราชการระดับปลัดกระทรวงทุกกระทรวงวานนี้ (3 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ได้มอบนโยบายให้ปลัดทุกกระทรวงเร่งขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหาตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม รวมถึง การเข้าถึงทรัพยากรและกฎหมายของประชาชน เน้นย้ำรัฐบาลมีหน้าที่ขจัดความเหลื่อมล้ำในชนชั้นให้ได้ ผ่านการบังคับใช้กฎหมายที่ช่วยทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันตามขีดความสามารถของแต่ละคน สร้างความต่อเนื่องเชื่อมโยงระหว่างประชาชนที่เข้มแข็งพอ ที่จะรองรับสังคมที่เจริญไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว จากที่ผ่านมาสังคมเจริญรุดหน้า แต่ประชาชนไม่เข้มแข็งพอ

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการเริ่มต้นปฏิรูป โดยมีนโยบายเร่งด่วน คือ ต้องการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ให้เป็นธรรม เข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงกฎหมาย คนจนมีสิทธิ์มีตัวตน ลดความขัดแย้ง เหลื่อมล้ำ ดูแลรายได้ที่แตกต่าง แต่ค่าใช้จ่ายดำรงชีพสูงขึ้นทุกวัน หาวิธีทำให้สินค้าราคาถูกเพื่อคนมีรายได้น้อยใช้ ขณะที่กระทรวงการคลังได้มอบนโยบายให้ธนาคารของรัฐเข้าไปช่วยดูแลผู้มีรายได้น้อย โดยออกมาตรการจัดตั้งธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ เพื่อปล่อยสินเชื่อธุรกิจที่ไม่มีหลักประกันและกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี

ส่วนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้วยโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ โดยอยู่ในขั้นตอนของการจัดตั้งบริษัทกลางมารวมโครงข่าย บริหารจัดการเครือข่ายบรอดแบนด์ที่มีอยู่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสานเป้าหมายการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ผ่านโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกไปยังทุกหมู่บ้านทั่วประเทศภายในปี 2559 และให้เข้าถึงทุกหมู่บ้านภายในปี 2560

การกระจายเครือข่ายบรอดแบนด์ให้เข้าถึงหมู่บ้าน ชุมชน รวมถึงครัวเรือน ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง ซึ่งหากทำได้ตามนโยบายที่วางไว้ โอกาสที่ประชาชนทุกระดับชั้นจะเข้าถึงเทคโนโลยีจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การเข้าถึงเทคโนโลยีจะช่วยให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ แต่สิ่งที่ต้องกระทำควบคู่กันไปคือ การเตือนภัยแฝงที่มากับเทคโนโลยี ให้ทุกเพศทุกวัยใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน ไม่ทำภัยมาสู่ตัวเอง และครอบครัว รวมถึงสังคม

ทุกวันนี้จากการแพร่หลายของการใช้โทรศัพท์มือถือ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีด้วยตัวเอง ซึ่งอาจมีถูกบ้างผิดบ้าง และปัจจุบันยังถือว่าค่อนข้างจำกัดอยู่ในประชาชนไม่เกิน 5 ล้านคนที่มีสมาร์ทโฟนใช้ แต่อนาคตปริมาณการเพิ่มขึ้นจะมีมหาศาล ฉะนั้น ต้องมีกระบวนการ กรรมวิธีใดๆ ที่จะช่วยเหลือให้ประชาชนใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ แต่ไม่ใช่การปิดกั้นการใช้งานเทคโนโลยี เพราะโลกยุคใหม่ต้องก้าวให้ทันประชาคมโลกอย่างมีศักดิ์ศรี และความเท่าเทียมดังเช่นที่นายกรัฐมนตรีกล่าว

การนำร่องใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมแก่ยุคสมัยที่เทคโนโลยีกลายเป็นปัจจัยสำคัญแก่การสร้างธุรกิจ การแพทย์กิจการสาธารณสุข การเงินการธนาคาร การขนส่ง และอื่นๆ ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของบุคคลทั่วไป การที่บรอดแบนด์เข้าถึงครัวเรือนจะเปิดช่องเรียนรู้ที่กว้างไกล ก้าวหน้า และกว้างขวางแก่คนทุกระดับ โดยอัตราการให้บริการนั้นต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถจ่ายได้ จะเป็นเครื่องยืนยันว่าสิ่งที่รัฐลงทุนไปนั้นคุ้มค่ามาก