ธรรมาภิบาลกินได้สักสองสามเรื่อง

ธรรมาภิบาลกินได้สักสองสามเรื่อง

ด้วยสำนักข่าวอิศราได้นำเสนอข้อขัดแย้งเกี่ยวกับความเห็นต่อประเด็น “ทุนเล่าเรียนหลวง” “ทุนสำนักงาน ก.พ.” และ “ทุนของหน่วยงานรัฐ”

ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาร้อนแรงภายในหน่วยงานหนึ่งของรัฐที่ถูกกล่าวหาพาดพิง ผมไม่อยู่ในฐานะจะชี้ว่าใครผิดหรือถูกในเรื่องความขัดแย้งภายในหน่วยงานดังกล่าว แต่ในฐานะที่ตนเองได้เคยเป็นผู้รับทุนรัฐบาล (ทุน ก.พ.) รวมทั้งมีเพื่อนอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เป็นเพื่อนร่วมงานได้รับทุนเล่าเรียนหลวงและพอมีความคุ้นเคยกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงาน ก.พ. ซึ่งดูแลเกี่ยวกับการจัดสอบทุนเล่าเรียนหลวง เมื่อมีข้อสงสัยสามารถสอบถามขอความรู้ได้ ทำให้เมื่ออ่านข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา (www/isranews.org) นำเสนอเห็นว่ายังมีข้อมูลบางประการน่าจะให้ความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมแก่สาธารณะ ดังนี้


ในกรณี “ทุนเล่าเรียนหลวง” ต่อประวัติความเป็นมาที่สืบค้นได้จากเว็บไซต์สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา ถือเป็นทุนการศึกษาส่วนพระองค์ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงพระราชทานให้กับบุคคลชาวไทยที่มีความรู้ความสามารถไปศึกษายังต่างประเทศและได้มีการพระราชทานต่อเนื่องมาหลายรัชกาลและมีการพระราชทานทุนการศึกษา King’s scholarship ขึ้นใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน ถือเป็นทุนการศึกษาที่มีเกียรติสูงยิ่งและมีกระบวนการคัดเลือกที่เข้มงวดมากทุนหนึ่งในหมู่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย


ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. ทำหน้าที่ในการรับสมัครและจัดให้มีการสอบคัดเลือกประเมินผู้มีความเหมาะสมกระทั่งได้นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงรับทุนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเพื่อกลับมารับใช้ชาติบ้านเมืองในอนาคต แต่ต้องเข้าใจให้ตรงกันในหลากหลายประเด็นดังต่อไปนี้ คือ


ประการแรก เป็นทุนที่เปิดกว้างให้บุคคลที่เป็นเยาวชนไทยในกรอบอายุ คุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้ามและอยู่ในแขนงวิชาที่กำหนดขึ้นเป็นผู้มีสิทธิสมัครสอบ


ประการที่สอง ผู้รับทุนจะสามารถเลือกหน่วยงานของรัฐที่ตนเองต้องการปฏิบัติงาน เมื่อสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับสู่ประเทศไทย


ประการที่สาม อัตราการให้เงินสนับสนุน เช่น เงินทุน ค่าเล่าเรียน ค่ากิจกรรม เบี้ยเลี้ยง เป็นไปตามข้อกำหนดที่มีระเบียบข้อบังคับชัดเจน ซึ่งหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่มีการให้ทุนการศึกษาของตนเองอาจมีเงื่อนไขลดหรือเพิ่มแตกต่างไป


ประการที่สี่ เกณฑ์ที่ถือผ่านการสอบข้อเขียน เพื่อเข้ารับการประเมินความเหมาะสม (อาทิ สัมภาษณ์ ดูท่วงที บุคลิกลักษณะ ความเหมาะสมในด้านต่างๆ - ความคิดเห็นผู้เขียน) จะวัดจากการผ่านคะแนนเฉลี่ยของทุกวิชาที่สอบรวมกันแล้วได้มากกว่าร้อยละ 70 โดยจะต้องได้คะแนนวิชาภาษาอังกฤษผ่านค่าเฉลี่ยที่กำหนดขึ้น จึงจะตรวจวิชาอื่น


ประการที่ห้า การผ่านการสอบข้อเขียนของ “ทุนเล่าเรียนหลวง” ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะสอบทุนอื่น เช่น ทุนรัฐบาลหรือ ทุนสำนักงาน ก.พ. ได้ด้วย เพราะปกติในข้อกำหนดมาตรฐานเพื่อเป็นผู้มีสิทธิได้รับการพิจารณาเข้ารับการประเมินความเหมาะสมของการรับทุนเล่าเรียนหลวงที่ค่าคะแนนร้อยละเจ็ดสิบเป็นเกณฑ์ขั้นต้น ที่ส่วนมากผู้ได้รับทุน ไม่ว่าจะเป็นทุนเล่าเรียนหลวง หรือ ทุนของสำนักงาน ก.พ. มักจะได้คะแนนที่สูงมากกว่านี้เกือบในทุกวิชา และมีเกรดเฉลี่ยในการศึกษาชั้นมัธยมปลายที่ค่อนข้างสูงมาก จึงต้องให้ท่านทั้งหลายใช้ดุลยพินิจและวิจารณญาณของแต่ละท่านพิจารณาด้วยข้อเท็จจริงที่ปรากฏนี้และนำข้อมูลไปปรับใช้เข้ากับแต่ละกรณี


ขณะเดียวกันก็มีประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับการเข้าสมัครรับการคัดเลือกของ “ผู้ใหญ่” ด้วยเช่นกัน นั่นคือ การประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อเป็น “กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กปค.” โดยที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า “กปค.” จะมีสภาพเช่นไร คือ ถูกยุบเลิก ควบ รวมกับหน่วยงานใดหรือไม่ ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ แต่ได้มีข่าวปรากฏให้ทราบว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ สมาชิกสภาปฏิรูป สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งอดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมายหลายท่านได้สมัครเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกด้วยเช่นกัน


เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นร้อนกระทั่งผมได้มีโอกาสชี้แจงเรื่องนี้ต่อสาธารณชน ผ่านผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ก็เพราะมีกระแสข่าวการเตรียมการตรวจสอบในเรื่องเดียวกันนี้ของบุคคลภายนอก เนื่องด้วยกระบวนการอาจมีปัญหาที่ต้องพิจารณา ได้แก่ เรื่องของการเป็นผู้ให้คุณให้โทษของ สนช. และ สปช.. รวมทั้ง กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญที่ไปสมัครเพราะกระบวนการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญในร่างสุดท้ายยังไม่แล้วเสร็จ และบุคคลในกลุ่มองค์กรเหล่านี้คือผู้มีส่วนในการพิจารณาถึงความมีอยู่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายรวมทั้ง กปค. ด้วย


ประการสำคัญ การมี สนช. สปช. กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งอดีตกรรมการ กปค. จำนวนหนึ่งไปสมัครย่อมมีส่วนในการกดดัน ผู้สมัครท่านอื่นๆ ที่อาจทราบการประกาศรับสมัครแต่อาจเข้าใจไปเองว่า เมื่อบุคคลผู้มีส่วนให้คุณให้โทษไปลงสมัครย่อมทำให้โอกาสของตนเองน้อยลงแม้ความจริงอาจไม่ใช่เช่นนั้นก็ตาม ยิ่งกว่านั้นยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า จากการสืบค้นประกาศที่มีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์มีเพียงเว็บไซต์ของ กปค. และ สำนักข่าวอิศรา เป็นหลักอยู่สองเว็บไซต์ แม้จะไม่มีข้อต้องห้ามแต่สะท้อนให้เห็นถึงแวดวงที่ค่อนข้างแคบของการรับรู้ ซึ่งอาจมีการส่งเอกสารเชิญชวนไปยังหน่วยราชการต่างๆ แต่สำหรับส่วนตัวไม่เห็นประกาศดังกล่าวกระทั่งมีการไปสืบค้นและพบโดยบังเอิญ จึงเห็นว่าเพื่อความโปร่งใสและหากกระทำได้น่าจะให้ยกเลิกการประกาศรับสมัครในครั้งนี้ เพื่อให้มีการประกาศเชิญชวนให้ได้บุคคลที่มีความหลากหลายและเป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ทำให้เรื่องของการ “ปฏิรูปตำรวจ” ซึ่งเคยรับที่จะนำมาเสนอในคอลัมน์นี้ต้องยกไปอีกครั้ง เพราะมีเรื่องสำคัญสองสามเรื่องดังกล่าวมาสอดแทรก