ในนาม “นักพลเมือง” เจ้าเก่า

ในนาม “นักพลเมือง” เจ้าเก่า

อรหันต์การเมืองประกาศต่อชาวไทยว่า จะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อ “พลเมืองไทย 65 ล้านคน” ไม่ใช่ร่างเพื่อ “นักเลือกตั้ง 500 คน”

ดังนั้นวาทกรรม พลเมืองเป็นใหญ่ จึงอุบัติขึ้นในแผ่นดินสยาม

 

000 ฉะนั้นมาตรา 26 และ 27 ของร่างรัฐธรรมนูญ จึงว่าด้วย ความเป็นพลเมืองและหน้าที่ของพลเมือง และคุณสมบัติของพลเมือง เช่น มีค่านิยมที่ดี มีวินัย รู้รักสามัคคี มีความเพียร พึ่งตนเอง เสียภาษีอากรโดยสุจริต ไม่ทำให้เกิดความเกลียดชังกัน ฯลฯ รัฐมีหน้าที่ต้องปลูกฝัง เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองตามมาตรานี้

 

000 หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ใครคือพลเมือง? จริงๆแล้ว ใบหน้า พลเมือง ที่จะได้เข้าไปเป็นสมาชิก “สมัชชาพลเมือง” นั้น ปรากฏตัวมาตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550” เมื่อมีการจัดตั้ง สภาพัฒนาการเมือง ตามมาตรา 78 (7) และจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง” ตามมาตรา 87 (4)

 

000 รัฐบาลสุรยุทธ์ ได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมืองฯ ต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นกฎหมาย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2551...ทุกวันนี้ เรามีสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง และมีสำนักงานสภาพัฒนาการเมือง โดยสถาบันพระปกเกล้า ของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นผู้กุมเข็มมุ่งการเมืองภาคพลเมือง

 

000 อย่าได้แปลกใจ หาก พลเมืองใบหน้าเดิมๆ จากสภาองค์กรชุมชน ,เอ็นจีโอ, ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ จะดาหน้าเข้ามายึด สมัชชาพลเมือง และ สมัชชาคุณธรรม ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยมี นักเลือกตั้ง ที่หมุนเวียนเข้าสภาฯ ไม่เกินพันคน และก็มี นักพลเมืองไม่เกินพันคนเช่นกัน ที่เวียนว่ายอยู่ในร้อยแปดสมัชชาภาคประชาชน จึงมีคำถามตัวโตๆว่า พอจะมี “ที่อยู่ที่ยืน” ให้พลเมืองตัวจริงบ้างหรือไม่?

 

000 วาทกรรม “นักเลือกตั้ง” เป็นผู้ร้าย เริ่มลงหลักปักฐานทางความคิดกันในสมัยร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 โดยมีนักพลเมืองในนาม สมัชชาคนดี ทั้งหลายได้ชู ธงเขียว หนุนรัฐธรรมนูญสีขาว...แต่ภายหลังมี “นายกรัฐมนตรี” ที่มีเสียงสนับสนุนในสภาฯแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็เกิดการต่อต้านและนำไปสู่การรัฐประหาร เพื่อกำจัด “นักเลือกตั้ง” ผู้เลวร้าย

 

000 จะว่าไปแล้ว คำว่า “พลเมืองเป็นใหญ่” ของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็ดูจะมีกลิ่นอนุรักษนิยม แต่ กลุ่มขวาใหม่ ก็ไม่พอใจ และได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการใช้คำว่า “พลเมือง” ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะที่ผ่านมา คำหลวงเช่น ปวงชน,ประชาชน และราษฎร ดูมีความเหมาะสมอยู่แล้ว...การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อการปฏิรูป ควรตั้งมั่นอยู่บนหลักการ ประชาธิปไตยประเพณีไทย คำนึงถึงรากเหง้าที่ต้องมี “ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” สถาบันหลักของชาติอยู่เสมอ

 

000 กลุ่มขวาใหม่ยังวิจารณ์ว่า การโอ้อวดด้วยถ้อยคำแบบ นักปลุกระดมฝ่ายซ้าย ควรหลีกเลี่ยงเช่น คำขวัญที่ว่า “การสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่” ซึ่งเมื่ออ่านแถลงการณ์จบ ก็คิดไม่ถึงว่าสิ้นสุดยุคสงครามเย็นไปนานแล้ว “ความคิดขวาตกขอบ” ก็ยังดำรงอยู่

 

000 อย่างไรก็ตาม นักเลือกตั้ง หรือ นักพลเมือง ต่างก็เป็นมนุษย์ เป็นปุถุชน มีรักโลภโกรธหลง การสร้างวาทกรรมให้ฝ่ายหนึ่งเป็น มาร อีกฝ่ายหนึ่งเป็น เทพ มันควรจะจบสิ้นไปพร้อมกับการเลือกตั้งหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535...หากเรายังไม่เข้าใจในสัจธรรมข้อนี้ วันข้างหน้าความขัดแย้งเดิมๆ ก็ยังหมุนวนเป็นวงจนอุบาทว์ไม่จบไม่สิ้น