“Smile Club” Barber ไทยใจกลางสยามสแควร์

“Smile Club” Barber ไทยใจกลางสยามสแควร์

บรรยากาศของ เพลินวานพาณิชย์ ตอนชุมชนบางรอดที่ชั้น 3 สยามสแควร์วัน สะท้อนอดีตเมืองไทยสมัยเปิดรับวัฒนธรรมของชาติตะวันตก

จากการตกแต่งให้มีสไตล์ชุมชนโบราณ ร้านค้า ร้านขายของข้างทางในตรอกเล็กๆ "Smile Club" หนึ่งในร้านของชุมชนบางรอด เป็นร้านตัดผม ที่นำเอา Concept ของ Barber ร้านตัดผมท่านชายสมัยรุ่นคุณพ่อ มาผสมผสานกับร้านทำผมสมัยใหม่ในยุค Salon ที่สามารถให้บริการได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงเอาไว้ด้วยกัน

โทนี่ รากแก่น และซัน เดอะเลาจน์ เจ้าของร้านเลือกที่จะออกแบบร้านให้สอดคล้องกับสถานที่และแตกต่างจากร้านตัดผมส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ที่เน้นรูปแบบการตัดผมหรูหราทันสมัย เนื่องจากวัยรุ่นให้ความนิยมกับทรงผมของต่างประเทศ เช่น แนว เกาหลี และญี่ปุ่น แต่ด้วยความชื่นชอบความคลาสสิกของ ร้านตัดผมชายสไตล์ Barber ที่อยู่ตามตรอกซอกซอยของชุนชนต่างๆ ในอดีต นับวันจะเหลือลดน้อยลงทุกที ซึ่งก็เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ที่เคยมีประสบการณ์สมัยวัยเด็กกับการไปตัดผมก่อนเปิดเรียนกับร้านใกล้บ้านจนเกือบลืมไปแล้ว จะได้กลับมาย้อนถึงประสบการณ์เดิมในแนวใหม่

โดย Smile Club เพิ่มคุณค่าผ่านทางคุณภาพของการตัดผมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมกับบรรยากาศที่เน้นการตกแต่งร้านที่ย้อนยุค โครงสร้างของร้านที่ใช้ไม้เป็นส่วนประกอบ แสดงให้เห็นถึงกลิ่นอายของบ้านเรือนในอดีต เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ในร้าน เช่น เก้าอี้ตัดผม แบตเตอร์เลี่ยน ต่างก็ล้วนเป็นของสะท้อนอดีต มาประยุกต์เข้ากับสังคมยุคใหม่ ตอบโจทย์ลูกค้าทั้งด้าน Emotional และ Functional ได้อย่างลงตัว

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของร้าน คือ กลุ่มวัยรุ่นทั้งชายและหญิง ที่มีสไตล์ สะท้อนตัวตนและความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สำหรับผู้ชายนั้น เน้นการตัดผมกระแสซึ่งมาจากเทรนด์แฟชั่นย้อนยุคที่ผู้ชายต้องการจะตัดผมแบบผู้ชายจริงๆ เน้นที่แบตเตอร์เลี่ยนเท่านั้น ผนวกกับแฟชั่นปัจจุบันก็ผู้ชายต้องการ การเช็ททรงผมที่ทำให้ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น เบาสบาย แต่ยังคงสะท้อนความเป็นตัวตนของตัวเองได้อยู่

สำหรับราคานั้น ทางร้านได้กำหนดมาตราฐานไว้ที่ 800 บาท แต่ด้วยชื่อเสียงของ โทนี่ รากแก่น และซัน เดอะเลาจน์ ที่คัดสรรช่างตัดผมฝีมือดี และมีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่เชื่อมั่นในคุณภาพของทรงผมที่ตัดออกมาแล้วเปลี่ยนตัวตนให้มีเอกลักษณ์มีสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร และพร้อมที่จะจ่ายในราคาที่สูงกว่าร้านตัดผมอื่นๆ ทั่วไป

จากการสัมภาษณ์ คุณตาว ผู้จัดการร้าน พบว่า เนื่องจากร้าน Smile Club นั้นเพิ่งเปิดได้ไม่นาน กลยุทธ์ในการทำธุรกิจนั้นจึงเน้นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดอารมณ์ร่วมเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้เพราะธุรกิจบริการจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า รวมไปถึงการทำให้ลูกค้า "อิน" ไปกับสินค้าหรือการบริการ สำหรับการทำ Marketing ของที่นี่ อาศัยการทำการตลาดแบบ WOM จากกลุ่มลูกค้าเก่า เพราะก่อนที่จะมาเปิดร้าน Smile Club ที่สยามสแควร์ ทางกลุ่มผู้ก่อตั้ง คุณซัน เดอะเลาจน์ เป็นช่างทำผมประจำกองถ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น MV คอนเสิร์ต ซึ่งคอยทำผมให้กับศิลปิน ดาราที่เป็นที่รู้จักในวงการบันเทิงมาอยู่แล้ว ช่วยให้การเปิดตัวของร้าน Smile Club เป็นที่รู้จักกันเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนั้น Smile Club ยังทำการตลาดผ่าน Facebook Fan page และ Instagram โดยการถ่ายภาพบรรยากาศของร้าน หรือศิลปิน ดารานักร้อง ที่มาตัดผมหรือใช้บริการ โดยมีการตัดแต่งทรงผมอย่างมีเอกลักษณ์ให้เข้ากับเทรนด์แฟชั่นหรือบุคลิกภาพของแต่ละคน เป็นการสร้างกระแสในโลก Online ได้อย่างรวดเร็วในบรรดาหมู่วัยรุ่น

กรณีศึกษา Smile Club สะท้อนให้เห็นว่า หากต้องการนำกระแสย้อนยุคมาใช้นั้น สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ สินค้าและบริการของเรานั้นเหมาะสมจะย้อนกลับไปในอดีตหรือไม่ แม้คนเรามักโหยหาอดีต แต่ก็ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ดังนั้นต้องผสมผสานอดีตกับปัจจุบันในเข้ากัน อีกประเด็นที่สำคัญคือ ธุรกิจการให้บริการเป็นเหมือนงานศิลปะ การให้ความสำคัญกับประสบการณ์ อารมณ์ร่วมที่ดีแล้วนั้น สำหรับลูกค้าหากถูกใจ ในสไตล์ที่ใช่ เท่าไหร่ลูกค้าก็ยินดีที่จะจ่าย

(เครดิต : กรณีศึกษาโดย คุณชญาวัต เลิศภิรมย์ลักษณ์ นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล)