แก้ปัญหาโรฮิงญา ด้วยหลักสิทธิมนุษยชน

แก้ปัญหาโรฮิงญา ด้วยหลักสิทธิมนุษยชน

การแก้ปัญหาโรฮิงญา เริ่มแผ่วเบาลงตามกระแส ที่ความสนใจของผู้คนลดลง ซึ่งจะว่าไปแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาชาวโรฮิงญายังคงเคว้งคว้าง

เหมือนเรือกลางกระแสคลื่น ช่วงไหนคลื่นลมแรงหลบเข้าฝั่งมีคนสนใจปัญหาก็ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือเพื่อหาทางออก แต่เมื่อลมสงบการแก้ปัญหาก็หยุดนิ่งตามไปด้วย

การค้ามนุษย์โดยมีชาวโรฮิงญาเป็นเหยื่อ เกิดขึ้นและมีให้เห็นต่อเนื่องโดยที่ไม่สามารถทลายกลุ่มเหล่านี้ได้ โดยล่าสุด พ.อ.จรัญ เอี่ยมฐานนท์ หัวหน้าชุดป้องกันภัยแทรกซ้อน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าได้ร่วมสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสุไหงโก-ลกเจ้าหน้าที่ทหารชุดเฉพาะกิจนราธิวาส 36 และเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.สุไหงโก-ลก จำนวน 50 นาย ใช้กฎอัยการศึกบุกจู่โจมตรวจค้นเป้าหมาย 6 จุด ในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกซึ่งเป็นสถานที่อาศัยของกลุ่มเครือข่ายนายหน้าค้าโรฮิงญาข้ามชาติโดยในทำเนียบขบวนการกลุ่มค้ามนุษย์รายใหญ่ มีนายยูซูป อาลี หรือกูรเมียร์ เป็นผู้ซื้อชาวโรฮิงญาจากนายหน้าในพื้นที่ จ.ระนอง

โดยมีนายอาแว ยานยา หรือ แบมะ และนายรอแม อาแว ทั้ง 2 คนทำหน้าที่ธุรกรรมด้านการเงิน ส่วนนายหมัดหรือ บัง โรตีเซเว่นทำหน้าที่ดูแลและส่งเสบียงอาหารให้กับชาวโรฮิงญาที่กลุ่มเครือข่ายค้ามนุษย์ได้ซ่อนตัวชาวโรฮิงญาไว้ในป่าบริเวณพรมแดนด้านอ.ตากใบ และ อ.สุไหงโก-ลก รวมทั้งแอบตัวซ่อนไว้ตามบ้านเช่าในเขตชุมชนต่างๆ เพื่อรอแอบส่งตัวเดินทางลักลอบเข้าประเทศมาเลเซียชุดนี้มีจำนวนหลายร้อยคน

การค้าโรฮิงญาเพื่อไปแรงงานในต่างประเทศที่ผ่านมาพบขบวนการที่โยงถึงบิ๊กราชการ แต่ก็ไม่สามารถทลายขบวนการได้จริง แม้ว่าพ.ต.ท.ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านคดีพิเศษ กำกับดูแลศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ จะออกมาระบุว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งชุดปฏิบัติการตรวจสอบปัญหาดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นพบว่าการหลบหนีเข้าเมืองของชาวโรฮิงญานอกจากจะยินดีหลบหนีเข้ามาเองแล้ว ยังพบว่ามีกลุ่มชาวไทยและต่างประเทศเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการลักลอบนำคนเข้าเมือง ทั้งการหลอกลวง บังคับขู่เข็ญ และแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

ที่สุดแล้วจึงอยากให้การแก้ปัญหาชาวโรฮิงญาได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังภายในหลักการของการเคารพสิทธิความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีตามหลักสิทธิมนุษยชน เพราะพวกเขาคือมนุษย์ที่เกิดบนแผ่นดินโลกเช่นกัน ดังนั้นภายใต้หลักการดังกล่าวการส่งกลับจะต้องไม่ใช่ส่งกลับประเทศต้นทางเพื่อให้เกิดการทารุณและการฆ่าได้อีก นอกจากนี้ต้องคิดถึงการแก้ปัญหาในระยะยาวที่จะทำยังไงไม่ให้เกิดปัญหากระทบกับประเทศได้อีก

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมายังไม่เห็นความชัดเจนถึงแนวทางแก้ไขปัญหาภายใต้หลักการดังกล่าว เพราะเรามักจะบอกเพียงหลักความมั่นคงของประเทศแต่ไม่ได้มองถึงหลักความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชน