ตรวจความพร้อม'อินเดีย'แหล่งอาหารโลกช่วงสงครามแทนที่รัสเซีย-ยูเครน

ตรวจความพร้อม'อินเดีย'แหล่งอาหารโลกช่วงสงครามแทนที่รัสเซีย-ยูเครน

ตรวจความพร้อม'อินเดีย'แหล่งอาหารโลกช่วงสงคราม ขณะนายกฯอินเดียประกาศ อินเดียมีอาหารมากพอที่จะเลี้ยงผู้คน 1,400 ล้านคนและพร้อมจะจัดหาอาหารให้แก่โลกได้ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไปถ้าดับเบิลยูทีโออนุญาต

ท่ามกลางภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่สร้างความปั่นป่วนแก่ระบบห่วงโซ่อุปทานโลก ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงาน  และการส่งออกอาหารในฐานะที่ทั้งสองประเทศเป็นแหล่งผลิตพืชเกษตรสำคัญๆของโลก รวมถึงข้าวสาลี  ล่าสุด เว็บไซต์บีบีซี นำเสนอรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยตั้งคำถามว่า ในช่วงที่เกิดสงครามนี้ อินเดียมีความพร้อมแค่ไหนที่จะรับบทบาทแหล่งอาหารโลก     

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย กล่าวกับประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐว่า อินเดียพร้อมที่จะส่งอาหารไปยังส่วนต่างๆของโลกที่ประสบปัญหาสั่งซื้ออาหารไม่ได้และเจอปัญหาราคาอาหารเพิ่มขึ้นจากผลพวงของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

นายกรัฐมนตรีโมดี บอกว่า “อินเดียมีอาหารมากพอที่จะเลี้ยงผู้คน 1,400 ล้านคนและพร้อมจะจัดหาอาหารให้แก่โลกได้ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไปถ้าองค์การการค้าโลก(ดับเบิลยูทีโอ)อนุญาต”

ขณะที่ดัชนีราคาอาหารขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอฟเอโอ)ระบุว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทะยานสูงสุดในรอบ10ปีตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนเพราะปัญหาการเก็บเกี่ยวพืชเกษตรทั่วโลกและสงครามทำให้ราคาทะยานขึ้นไปอีกจนแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2533

รัสเซียและยูเครนล้วนเป็นประเทศส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ มีสัดส่วนประมาณหนึ่งในสามของยอดขายข้าวสาลีโดยรวมทั่วโลกในแต่ละปี และทั้งสองประเทศยังมีสัดส่วนการส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันในแต่ละปีมากถึง 55% ของปริมาณการส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันโดยรวมทั่วโลก ส่วนข้าวโพดและข้าวบาร์เลย์ มีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 17% 

ยูเอ็นเอฟเอโอ คาดการณ์ว่าทั้งยูเครนและรัสเซียมียอดส่งออกข้าวสาลี 14 ล้านตันส่วนข้าวโพดมียอดการส่งออกกว่า 16 ล้านตันในปีนี้ 

“ปัญหาในระบบห่วงโซ่อุปทานประกอบกับการที่ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้สมการในเรื่องการส่งออกอาหารของโลกเปลี่ยนไป ตอนนี้ อินเดีย อาจจะเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารที่รัสเซียและยูเครนเคยเป็นผู้ส่งออกรายหลักได้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออินเดียมีข้าวสาลีในสต็อกมากพอ”อูปาลี กัลเคติ อารัตชิเลจ นักเศรษฐศาสตร์ของยูเอ็นเอฟเอโอ ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในกรุงโรม ให้ความเห็น

อินเดีย เป็นผู้ผลิตข้าวและข้าวสาลีรายใหญ่สุดอันดับสองของโลก โดยช่วงต้นเดือนเม.ย. อินเดียมีข้าวและข้าวสาลีในสต็อกในปริมาณ 74 ล้านตัน ในจำนวนนี้ ปริมาณ 21ล้านตันเป็นการเก็บรักษาไว้ด้านยุทธศาสตร์และในระบบสำรองข้าวเพื่อประชาชนในประเทศ(พีดีเอส)เพื่อให้ประชาชนที่ยากจนจำนวนกว่า 700 ล้านคนเข้าถึงข้าวราคาถูก

 นอกจากนี้ อินเดีย ยังเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ข้าวสาลีและข้าวที่ราคาถูกที่สุด ปัจจุบัน อินเดียส่งออกข้าวไปยังประเทศต่างๆเกือบ 150 ประเทศและส่งออกข้าวสาลีไปยัง 68 ประเทศ และในช่วงปี 2563-2564 อินเดียส่งออกข้าวสาลีในปริมาณ 7 ล้านตัน 

ขณะที่ข้อมูลของทางการอินเดีย ระบุว่า บรรดาพ่อค้าที่มองเห็นถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก ได้เซ็นสัญญาเพื่อส่งออกข้าวสาลีปริมาณกว่า 3 ล้านตันในช่วงเดือนเม.ย.-ก.ค.แล้ว ส่งผลให้การส่งออกอาหารของอินเดียในช่วงปี 2564-2565 เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์คือสูงกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์    

“อโศก กูลาติ“ศาสตราจารย์ด้านเกษตรกรรมจากสภาเพื่อการวิจัยความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศของอินเดีย กล่าวว่า ”ในปีงบการเงินนี้ อินเดียมีศักยภาพที่จะส่งออกข้าวได้ในปริมาณ 22 ล้านตันและส่งออกข้าวสาลีได้ในปริมาณ 16 ล้านตัน ถ้าหากดับเบิลยูทีโออนุญาตให้รัฐบาลอินเดียส่งออกข้าวและข้าวสาลีในสต็อกได้ จะช่วยให้ราคาโภคภัณฑ์ทั้งสองตัวนี้ในตลาดโลกถูกลงและลดภาระแก่ประเทศนำเข้าข้าวและข้าวสาลีทั่วโลกได้”  

ด้าน IFPRI หน่วยงานด้านคลังสมองและยูเอ็นเอฟเอโอ คาดการณ์ว่า การเปิดฉากทำสงครามกับยูเครนของรัสเซียจะสั่นคลอนความมั่นคงด้านอาหารของโลก และหากการทำสงครามนี้ยืดเยื้อยาวนานไปจะเป็นปัญหาต่อการส่งออกข้าวสาลี ปุ๋ยและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆทั้งจากรัสเซียและยูเครนและอาจจะทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการแก่ประชากรโลกจำนวนตั้งแต่ 8-13 ล้านคน

นอกจากนี้ หลายประเทศยังพึ่งพาสินค้าเกษตรจากรัสเซียและยูเครนเป็นหลัก เช่น เลบานอน พึ่งพาข้าวสาลีจากยูเครนคิดเป็นสัดส่วน 50% ของการบริโภค เช่นเดียวกับลิเบีย ที่พึ่งพา 43% เยเมน พึ่งพา 22% บังคลาเทศ พึ่งพา 21% หรืออียิปต์ที่นำเข้าข้าวสาลีจากรัสเซียและยูเครนคิดเป็น 86% ของการนำเข้าทั้งหมด

ก่อนเกิดสงคราม ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมอาหารและผลิตผลการเกษตรได้รับความท้าทายอยู่แล้ว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวิกฤตโลกร้อน ดัชนีราคาอาหารโลกในช่วงปีที่ผ่านมา ปรับเพิ่มขึ้นทำลายสถิติอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีประชากรโลกตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารสูงสุดในรอบ 15 ปี และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ก็เข้ามาซ้ำเติมวิกฤตห่วงโซ่อาหารให้รุนแรงขึ้น