หลังฉาก “ดอน” พบ “หวัง อี้” ไทย-จีน มีเป้าหมายต่อยูเครน

หลังฉาก “ดอน” พบ “หวัง อี้” ไทย-จีน มีเป้าหมายต่อยูเครน

“สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน” หนึ่งประเด็นที่หยิบขึ้นพูดคุยระหว่างนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกับนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีนที่เมืองหวงซาน มณฑลอันฮุย แต่กลับไม่มีการขยายความถึงเรื่องนี้มากนัก

แหล่งข่าวระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า จีนและไทย มีเป้าหมายต่อสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนร่วมกัน 4 เรื่องหลังที่ทั้งสองได้หารือกันได้แก่

1.สนับสนุนการเจรจาและข้อตกลงสันติภาพรัสเซีย-ยูเครนต่อเนื่อง 

2.ป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์มนุษยธรรมและต้องส่งความช่วยเหลือให้ทันท่วงที

3.ควบคุมผลกระทบทางลบจะถาโถมใส่เศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวหลังเผชิญการระบาดโควิด-19

4.ปกป้องความสงบสุขและพัฒนาให้เกิดสันติภาพที่ได้มาอย่างยากลำบากในภูมิภาค ตลอดจนทั่วโลก

ว่าไปแล้วเป้าหมายเหล่านี้ มีขึ้นในการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกับผู้นำสหภาพยุโรปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และการเดินทางไปเยือนมณฑลอันหุยของรัฐมนตรีต่างประเทศดอน เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สถานการณ์ภูมิภาคและโลกกำลังตึงเครียด ซึ่งท้าทายบทบาทการทูต ไม่ว่าจะเป็นไหนก็ตาม

ปีนี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Asia-Pacific Economic Cooperation) หรือเอเปค มีความหมายมั่นปั้นมือต้องการจัด “ประชุมผู้นำแบบเจอตัว” แล้วเหตุการณ์รัสเซีย-ยูเครน ทำให้แอบคิดต่อไปว่า ประธานาธิบดีรัสเซียจะปรากฏตัวในเวทีเอเปคได้หรือไม่ อย่างไร

ในการประชุมเอเปคครั้งนี้ ไทยชูบทบาท “การทูตเชิงเศรษฐกิจ” มุ่งพลิกฟื้นโอกาส ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังผันผวน ซึ่งตอนนี้ไม่อาจปฏิเสธว่าสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนเข้ามาตอกย้ำซ้ำเติมเศรษฐกิจในภูมิภาค และโลก

ในช่วงเวลาเดียวกัน นายหวังยังได้นัดพบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เมียนมา และฟิลิปปินส์แบบรายประเทศ แต่สำหรับไทย เดิมทีมีกำหนดการประชุมไทย-จีน เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2564 ก็ได้ขยับปรับเปลี่ยนจนลงตัวมาเป็นครั้งนี้

การเดินทางของนายดอน มุ่งเน้นที่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย-จีน การส่งเสริมการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศ และมีผู้แทนภาคเอกชนของไทยเข้าร่วมด้วย โดยนายดอนเรียกร้องให้จีนอำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าเกษตร และผลไม้ของไทย

นายหวังได้สั่งเจ้าหน้าที่ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ทันทีและยังรับปากจะปรับปรุงมาตรการนำเข้าผลไม้ไทยไปยังจีน นอกจากนี้ทั้งสองได้หารือวิธีการต่างๆ รวมถึงให้เจ้าหน้าที่จีนในไทยตรวจสอบผลไม้ก่อนบรรจุและส่งไปจีน เพราะผลไม้ไทยเป็นที่นิยมมาในกลุ่มคนจีน

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีน กล่าวย้ำต้องการให้ความร่วมมือจีน-ไทยเป็นต้นแบบความร่วมมือในภูมิภาค และมองเห็นความสำคัญเร่งเจรจาแผนความร่วมมือ “สายแถบและเส้นทาง” โดยเฉพาะเร่งกระบวนการหารือก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทยให้เร็วขึ้น เพื่อเชื่อมโยงกับทางรถไฟจีน-ลาวที่อยู่ตอนบน รวมทั้งแผนสร้างทางรถไฟไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ และเส้นทางรถไฟแพนเอเชียสายกลาง