“การทูตอันมีเอกลักษณ์แบบจีน” ตลอดปี 2021 ส่งผลต่อโลกอย่างไร?

“การทูตอันมีเอกลักษณ์แบบจีน” ตลอดปี 2021 ส่งผลต่อโลกอย่างไร?

หวัง อี้ เป็นหนึ่งในบุคคลกุมบังเหียนทิศทางของพญามังกร ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อใหญ่ของจีนเรื่อง “การดำเนินการทางการทูตของจีนในเวทีโลกตลอดทั้งปี 2021” อ้ายจงจึงขอสรุป 5 ประเด็นหลักที่สำคัญเกี่ยวกับ “การทูตอันมีเอกลักษณ์แบบจีน” นั้นเป็นอย่างไร? มาให้อ่านกัน

ปีเก่า 2021 ผ่านพ้นไป ปีใหม่ 2022 เข้ามาแทนที่ เป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นสำหรับการเปลี่ยนผันของวันเวลา ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมไม่ว่าจะสำหรับคนทั่วไป หน่วยงานเล็กใหญ่ ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับนานาชาติ ที่จะมีการรีวิว ทบทวนในสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดปี ก่อนที่จะเริ่มปีศักราชใหม่ เพื่อให้ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงทั้งทางบวกและลบ พร้อมตั้งเป้าหมายใหม่ หรืออาจจะเป็นเป้าหมายเดิมแต่ดำเนินการต่อเนื่องให้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น

ประเทศจีนก็เช่นเดียวกัน เมื่อสิ้นปี 2021 นาย หวัง อี้ ผู้ดำรงตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสำคัญของจีน ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อใหญ่ของจีนอย่างสำนักข่าวซินหัว (Xinhua) และ China Media Group ที่มีสื่อในเครืออย่าง CCTV ซึ่งเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยต้องเคยได้ยินชื่อ

รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนคนนี้ ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็น “การดำเนินการทางการทูตของจีนในเวทีโลกตลอดทั้งปี 2021” ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศจีนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเหตุสงครามการค้าจีนอเมริกาสมัยโดนัล ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งผู้นำอเมริกา และสืบเนื่องมาจนถึงการแพร่ระบาดโควิด-19 เหตุการณ์ที่จีนโดนกระหน่ำจากหลายประเทศ เนื่องจากมองว่า จีนเป็นเหตุให้เกิดการระบาดโควิด-19 แม้ความเป็นจริง ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สามารถชี้ชัดได้ว่า “แหล่งกำเนิดโควิด-19” อยู่ที่ไหนกันแน่ก็ตาม แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่จีนต้องดำเนินการด้วยวิธีการทูตอย่างหนัก ตามหลักการที่จีนพยายามสื่อสารมาโดยตลอด นั่นคือ จีน ไม่ก้าวก่าย ไม่แทรกแซงเรื่องของประเทศอื่น ประเทศอื่นก็โปรดเคารพในแนวทางของจีน  และจีนขอผลักดันการร่วมมือกับทุกประเทศแบบ พหุภาคี

อ้ายจง ขอสรุปการดำเนินการทางการทูตแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดปี 2021 ตามการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เพราะเป็นหนึ่งในบุคคลกุมบังเหียนทิศทางของพญามังกรในยุทธจักรอันแสนวุ่นวายด้วยโรคระบาด และการเมืองระดับโลกอันร้อนระอุ ดังนี้

1. สถาปนาบทใหม่หน้าประวัติศาสตร์การทูตด้วย “การทูตอันมีเอกลักษณ์แบบจีน”

ตามที่อ้ายจงได้กล่าวหลักการทางการทูตที่จีนใช้สื่อสารเป็นหลักไปข้างต้น เป็นเหตุผลสำคัญที่จีนให้นิยามการดำเนินการทางการทูตเช่นนี้ เพราะจีนต้องการแสดงท่าที การเป็นตัวของตัวเอง จีนไม่เป็นแบบใคร และคนอื่นก็ไม่ต้องมาเหมือนตน จีนมีเพียงแนวทางของตนเอง หนึ่งเดียว ก็เหมือนกับที่จีนย้ำในเวทีโลกโดยตลอดถึง “จีนเดียว 1 ประเทศ 2 ระบบ”

การทูตอันมีเอกลักษณ์แบบจีน จึงหมายถึง การทูตในแนวทางและวิธีการต่างๆ สื่อสารออกมาแบบแข็งกร้าวบ้าง อ่อนบ้าง ผสมผสานกัน แต่มุ่งเป้าไปเพื่อเป้าหมายที่จีนต้องการ และเป็นไปตามบริบทและตามอัตลักษณ์ของจีน นั่นคือ การเป็นตัวของตัวเอง

แนวทาง “อันมีเอกลักษณ์แบบจีน/ลักษณะเฉพาะแบบจีน” ไม่ได้มีแค่ การดำเนินการทางการทูต แต่ยังถูกนำไปใช้ในการนิยมระบบการปกครองของจีนยุคใหม่ที่ สี จิ้นผิง ได้ก่อตั้งแนวคิดการปกครอง “สังคมนิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีน” โดยได้รับการรับรองในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 19 ครั้งที่ 6 เมื่อพฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมา
 

2. จีนมุ่งใช้ “การทูตวัคซีน” ในการสร้างสัมพันธ์และร่วมมือกับประชาคมโลก

นับตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกในปี 2020 หรือเมื่อ 2 ปีก่อนหน้า สี จิ้นผิง และทีมงานการต่างประเทศของรัฐบาลจีน ได้ออกมาแสดงท่าที “พร้อมช่วยเหลือทุกประเทศที่เผชิญกับโควิด-19” ทั้งการช่วยเหลือโดยมอบหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ไปยังประเทศอื่นๆ ภายใต้ “การทูตหน้ากาก” ในช่วงแรกที่จีนเริ่มหายเมาหมัดและกลับมาผลิตอาวุธสู้กับโควิดได้ช่วงหลังระบาดรอบแรก 1-2 เดือน ของปี 2020 จนมาถึงการช่วยเหลือด้านวัคซีนโควิด-19 หลังจีนสามารถพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้แล้ว ที่เราเรียกว่า การทูตวัคซีน ซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในปี 2021 ทั้งปี และจะสืบเนื่องไปยังปี 2022 ต่อไป ตราบใดที่โลกยังหนีไม่พ้นโควิด-19

การดำเนินการทั้ง การทูตหน้ากาก การทูตวัคซีน หรือจะเรียกโดยรวมว่าการทูตสุขภาพก็ย่อมได้ ในทรรศนะของจีนมองว่า การดำเนินการเหล่านี้ เป็นการทูตเพื่อแสดงความรับผิดชอบที่จีนมีต่อประชาคมโลก และจีนมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือประเทศอื่นจริงๆ โดยทางรัฐมนตรี หวัง อี้ ได้ยกประเด็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนของจีนให้ประเทศอื่นๆ ได้ใช้เพื่อร่วมพัฒนาวัคซีน ทำให้เป็นสินค้าสาธารณะทุกคนทุกประเทศสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา

โครงการ Spring Sprout ส่งวัคซีนโควิด-19 ไปช่วยเหลือพลเมืองจีน-ชาวจีนโพ้นทะเลในกว่า 180 ประเทศ เป็นการทูตวัคซีนที่ทางจีนดำเนินเพื่อสื่อไปสองแง่ นั่นคือ แง่แรก ซื้อใจเพื่อนร่วมชาติ ทำให้เห็นว่า ประเทศไม่ทอดทิ้งพวกเขา และอีกแง่หนึ่ง ทำให้ต่างประเทศ ประชาคมโลก ได้เห็นบทบาทของจีน การทูตโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งประชาชนตนเองและประชาชนโลก

3. จีนใช้การทูตเพื่อเรียกร้อง “ประชาธิปไตยในแบบเฉพาะของแต่ละคน ไม่มีใครเป็นผู้กำหนด”

หากสังเกตให้ดี ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2021 จีนยกประเด็น “ประชาธิปไตย” มาพูดในเวทีโลกบ่อยมาก อย่างในการตอบโต้สหรัฐอเมริกาที่เข้ามาแทรกในกรณีไต้หวัน และซินเจียงอุยกูร์ โดยจีนระบุว่า อเมริกาหรือประเทศใดก็ตามที่อ้างถึงระบบประชาธิปไตย ไม่ควรไปกำหนดให้กับผู้อื่นว่า ประชาธิปไตยควรเป็นแบบไหน แต่ทุกประเทศล้วนมีแนวทางของตนเอง จีนเองก็มีประชาธิปไตยแบบฉบับของจีนเหมือนกัน และจีนไม่ไปกำหนดให้ประเทศอื่นต้องมาทำตามแนวทางของตน

4. ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ เป็นไปในทิศทางที่ (อาจ) ดีขึ้นกว่าเดิม ในยุค โจ ไบเดน

ปี 2021 เป็นปีที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประชุมเสมือนจริง (ประชุมบนโลกออนไลน์) กับ โจ ไบเดน แบบเห็นหน้าตากันเป็นครั้งแรก หลังจากที่มีการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ถึง 2 ครั้ง เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับสถานการณ์สองประเทศและสถานการณ์โลก

โดยผู้นำจีนเน้นย้ำเสมอถึงความสำคัญที่ จีน-สหรัฐฯ ควรหันหน้าเจรจา ไม่ใช่เผชิญด้วยความขัดแย้ง เพราะจะทำให้สถานการณ์โลกยิ่งวิกฤติในยุคโควิด-19 แพร่ระบาด ซึ่งหลักการที่ สี จิ้นผิง เคยเสนอไว้ คือ อยู่ร่วมอย่างสันติ ร่วมมือแบบ Win-Win ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย และการเคารพซึ่งกันและกัน

ทำให้หลายฝ่ายคาดว่า สถานการณ์จีน-สหรัฐฯ มีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งที่ยังมีปมขัดแย้งอยู่ไม่น้อย ทั้งไต้หวัน ซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งประเด็นหลังนี้นำมาสู่การประกาศบอยคอต ไม่ส่งเจ้าหน้าที่การทูต-เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าร่วมโอลิมปิกฤดูหนาวกรุงปักกิ่ง ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 (ภายหลังมีการยืนยันจากฝั่งกระทรวงการต่างประเทศจีนว่า สหรัฐฯ ยื่นขอวีซ่าให้กับเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหม เพื่อเดินทางไปดูแลความเรียบร้อยให้แก่ทัพนักกีฬาอเมริกัน)

5. รัสเซีย ประเทศในภูมิภาคแอฟริกา และประเทศอาเซียน พื้นที่หลักของการเน้นย้ำความสัมพันธ์การทูตและระหว่างประเทศในปี 2021

หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวถึงรัสเซียว่า เป็นประเทศที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับจีนในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 และหวังให้ความสัมพันธ์ยิ่งแน้นแฟ้นขึ้นไปอีก โดยระบุ “จีน-รัสเซีย เป็นสองประเทศที่จะสร้างความสงบสุขและความยุติธรรมแก่ภูมิภาคและโลก”

สำหรับประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ปี 2021 เป็นปีครบรอบ 65 ปี ความสัมพันธ์การทูตจีนและประเทศในแอฟริกา จีนจึงมุ่งเน้นการทูตสานสัมพันธ์ไปในประเทศภูมิภาคนี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะการช่วยเหลือวัคซีน ทั้งในรูปแบบของการบริจาค และการผลิตร่วมกันระหว่างบริษัทจีน-บริษัทในภูมิภาคแอฟริกา การลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านสื่อ ก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายหลักของจีนในแอฟริกา

ส่วนประเทศย่านอาเซียน นับเป็นภูมิภาคหลักที่จีนให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะถือว่ามีความใกล้ชิดไม่น้อยทั้งพื้นที่ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดั้งเดิม การลงทุน และที่สำคัญคือ ข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2022 เป็นต้นมา 

และทั้งหมดนี้ก็คือ 5 ประเด็นสำคัญ ของการดำเนินการทูตภายใต้หลัก “การทูตอันมีเอกลักษณ์แบบจีน” ที่เราได้เห็นตลอดทั้งปี 2021 ซึ่งเป็นที่น่าสนใจมากทีเดียวว่า การทูตจีนจะดำเนินการไปในแนวทางใด แตกต่างหรือเหมือนเดิม เรามาร่วมติดตามไปด้วยกันในปี 2022 อ้ายจงขอ “สวัสดีปีใหม่ 2022 (พ.ศ.2565) นะครับ ทุกคน”

ผู้เขียน: ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่