อังกฤษปฏิรูปกฎหมาย หย่าได้ไม่ต้องพิสูจน์ความผิด!

อังกฤษปฏิรูปกฎหมาย หย่าได้ไม่ต้องพิสูจน์ความผิด!

อังกฤษปฏิรูปกฎหมายหย่าร้างครั้งใหญ่สุดในรอบ 50 ปี คู่แต่งงานที่ไม่มีความสุขสามารถยุติการสมรสได้โดยไม่ต้องสร้างหลักฐานปลอมหรือคอยนานหลายปี

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน นับตั้งแต่วันนี้ (6 เม.ย.) อังกฤษและเวลส์เริ่มบังคับใช้กฎหมายหย่าไม่มีความผิด จากเดิมที่เมื่อต้องการหย่าคู่สมรสคนใดคนหนึ่งต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าอีกฝ่ายมีชู้ มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หรือทอดทิ้งตน หากไม่มีเหตุเหล่านี้คู่สมรสจะต้องแยกกันอยู่สองปีก่อนจะหย่ากันได้ หรือห้าปีหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมหย่า

การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้อังกฤษและเวลส์เดินตามรอยสกอตแลนด์ที่มีระบบกฎหมายของตนเอง รวมถึงประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐ ออสเตรเลีย เยอรมนี

กรณีของทินี โอเวนส์ ผู้รณรงค์ให้แก้ไขกฎหมาย เธอเคยสู้คดีหย่าถึงศาลฎีกาขอยุติชีวิตสมรส 40 ปี โดยอ้างว่าสามีมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม แต่สามีคัดค้าน ศาลพิพากษาในปี 2561 ว่า การติดอยู่ในชีวิตสมรสที่ไม่มีความสุขโดยตัวมันเองแล้วไม่ใช่มูลเหตุแห่งการหย่า

“ไม่ควรมีใครต้องอยู่กับชีวิตแต่งงานไร้รัก หรือทนรอเวลายืดยาว ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายมากมายกับการสู้คดีในศาลเพื่อให้ได้หย่า การเปลี่ยนกฎหมายครั้งนี้ช่วยปกป้องไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งดิฉันยินดีมาก” โอเวนส์กล่าว

การปฏิรูปนี้ไม่ได้ทำให้หย่าได้อย่างรวดเร็วเหมือนการหย่าแบบสหรัฐ ต้องคอยอย่างน้อย 20 สัปดาห์ระหว่างที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มกระบวนการจากนั้นยื่นขอคำสั่งหย่าตามกฎหมาย จากนั้นต้องคอยต่อไปอีกหกสัปดาห์ก่อนการหย่าได้รับการยอมรับ  แต่ก็ถือเป็นการยกเครื่องระบบปัจจุบันที่ใช้มานานหลายสิบปี ทำให้คู่สมรสบางคู่ต้องพึ่งนักสืบเอกชนไปหาหลักฐานการกระทำความผิด หรือคู่สมรสตกลงกันสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมาให้ศาลเชื่อ 

อย่างกรณีของวิกกี ที่เผยกับสถานีวิทยุบีบีซีว่า เมื่อเธอกับสามีคนแรกตกลงกันได้ว่าจะหย่า จึงจัดฉากที่รู้สึกว่าศาลยอมรับได้ ส่วนการสมรสครั้งที่ 2 กับชายผู้เจ้าเล่ห์มากและนิยมความรุนแรง เขาไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการหย่า ทำให้วิกกีต้องรอถึงห้าปีกว่าจะได้แยกทางกัน

“ฉันควรจะได้ออกจากความสัมพันธ์แบบนี้เร็วกว่าที่ฉันเจอมาก” วิกกีโอดครวญ

ทนายความจำนวนหนึ่งยินดีกับการยุติวัฒนธรรมหย่าด้วยความบาดหมาง พร้อมกับย้ำว่าคำแนะนำทางกฎหมายยังเป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ปัญหาการเงินและการดูแลบุตร

ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญคาดว่า การปฏิรูปกฎหมายหย่าทำให้เกิดผลที่ไม่ตั้งใจตามมาด้วย จะมีคู่สมรสที่รอคอยการปฏิรูปกฎหมายจะแห่กันมาหย่า และทำให้อัตราการแต่งงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าจะเป็น ด้วยคู่สมรสเล็งเห็นว่าหากรักร้าวโอกาสหย่าร้างก็ง่ายขึ้น

 ผลการสำรวจจัดทำโดยบริษัทกฎหมายสเลเตอร์และกอร์ดอนระบุว่า ผู้ให้ข้อมูลที่ใช้ชีวิตอยู่กับคู่รัก32% บอกว่าตอนนี้อยากแต่งงานแล้วเพราะกระบวนการหย่าง่ายขึ้น