สิงคโปร์แหล่งเก็บเงินเศรษฐีจีนยุคปักกิ่งคุมเข้ม

สิงคโปร์แหล่งเก็บเงินเศรษฐีจีนยุคปักกิ่งคุมเข้ม

บรรดามหาเศรษฐีจีนพากันเคลื่อนย้ายเงินและทรัพย์สินต่างๆมายังสิงคโปร์ ส่วนหนึ่งเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงการตกเป็นเป้าการปราบปรามของรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งส่งผลให้มีมหาเศรษฐีจีนเข้ามาตั้งสำนักงานแบบครอบครัวในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซี นำเสนอรายงานเรื่องนี้ โดยระบุว่า แนวโน้มดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังจากรัฐบาลปักกิ่งเริ่มกวาดล้างบรรดาบริษัทให้บริการสอนพิเศษในอุตสาหกรรมด้านการศึกษาทั่วประเทศ พร้อมทั้งย้ำให้ชาวจีนทุกคนในประเทศตระหนักถึงความสำคัญของการมั่งคั่งร่ำรวยถ้วนหน้าไม่ใช่กระจุกอยู่แค่คนเพียงหยิบมือเดียว

“ไอริส ซู“ผู้ก่อตั้ง”เจนกา” บริษัทด้านการจัดทำบัญชีและบริษัทให้บริการแก่ภาคธุรกิจที่เพิ่งก่อตั้งได้5ปี เปิดเผยว่า

ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งสำนักงานบริหารโดยครอบครัวในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นสองเท่า และการสอบถามข้อมูลส่วนใหญ่มาจากประชาชนในประเทศจีน หรือจากบรรดาผู้อพยพจากประเทศจีน       
 

ทั้งนี้ ชาวจีนที่มีฐานะร่ำรวยเริ่มมีความวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการเก็บรักษาเงินและสินทรัพย์ไว้ในจีนแผ่นดินใหญ่และบางคนเริ่มมองเห็นว่าสิงคโปร์เป็นแดนสวรรค์การเก็บเงินของพวกเขาได้อย่างปลอดภัย

นับตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเมื่อปี 2562 ที่บั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจของฮ่องกง บรรดาเศรษฐีจีนก็เริ่มมองหาทางเลือกที่จะใช้เป็นแหล่งเก็บสินทรัพย์และเงินทองของพวกเขา ซึ่งสิงคโปร์ก็ได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นประเทศที่เหมาะสมที่สุดในฐานะที่มีชุมชนขนาดใหญ่ที่มีคนพูดภาษาจีนกลางและที่สำคัญสิงคโปร์ไม่เหมือนประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศตรงที่ไม่เก็บภาษีความมั่งคั่ง

ข้อมูลของซีเอ็นบีซี ซึ่งได้จากการสัมภาษณ์บรรดาบริษัทต่างๆในสิงคโปร์พบว่า กำลังเกิดปรากฏการณ์ช่วยเหลือบรรดาเศรษฐีจีนให้เคลื่อนย้ายสินทรัพย์และเงินสดมายังสิงคโปร์ผ่านโครงสร้างสำนักงานที่มีลักษณะการบริหารงานแบบครอบครัวและถือเป็นบริษัทเอกชนที่ทำหน้าที่ลงทุนและบริหารจัดการความมั่งคั่งให้แก่ตระกูลเศรษฐีจีน

ในสิงคโปร์ การตั้งสำนักงานหรือบริษัทบริหารในรูปแบบครอบครัวจำเป็นต้องมีสินทรัพย์ขั้นต่ำ 5 ล้านดอลลาร์

ซู  ผู้ก่อตั้งเจนกา กล่าวว่า เศรษฐีจีนจำนวนมากเชื่อว่าพวกเขามีโอกาสมากมายในการสร้างความมั่งคั่งในประเทศแต่ไม่มั่นใจว่าเป็นเรื่องปลอดภัยที่จะเก็บเงินและสินทรัพย์ทั้งหมดไว้ที่จีน  และตอนนี้เธอมีลูกค้าประมาณ 50 รายที่เข้าไปเปิดบริษัทบริหารงานแบบครอบครัวในสิงคโปร์ โดยแต่ละรายมีสินทรัพย์อย่างน้อย 10 ล้านดอลลาร์ 

ข้อมูลการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ ระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนทำให้เกิดมหาเศรษฐีระดับพันล้านหลายร้อยคนในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ และในปีที่แล้วก็มีมหาเศรษฐีจีนติดอันดับเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนรวม 626 คน เป็นที่สองรองจากสหรัฐที่มีมหาเศรษฐีพันล้านจำนวน 724 คน

แต่การที่รัฐบาลปักกิ่งใช้นโยบายควบคุมเงินทุนที่เข็มงวด โดยจำกัดเพดานการลงทุนในต่างประเทศไว้ที่ปีละ 50,000 ดอลลาร์ เท่ากับจำกัดทางเลือกด้านการลงทุนและสะสมความมั่งคั่งของบรรดามหาเศรษฐีพันล้านเหล่านี้

“ไรอัน หลิน”ผู้อำนวยการจากเบย์ฟรอนต์ ลอว์ ในสิงคโปร์ มีความเห็นว่าตอนนี้มีงานที่เกี่ยวข้องกับการตั้งสำนักงานบริหารแบบครอบครัวจากลูกค้าชาวจีนเข้ามาจำนวนมาก นอกเหนือจากลูกค้าชาติอื่นๆ ทั้งจากอินเดีย อินโดนีเซียและอีกหลายประเทศในยุโรป

หลิน กล่าวว่า มีลูกค้าบางคนที่โยกเงินสดและสินทรัพย์มาไว้ที่ฮ่องกงก่อนระยะหนึ่งจากนั้นจึงตัดสินใจโยกสินทรัพย์มาไว้ที่สิงคโปร์

"แนวโน้มนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 ที่มีการชุมนุมประท้วงทางการเมืองในฮ่องกง ทำให้ชาวจีนจำนวนมากเริ่มคิดถึงความปลอดภัยในการเก็บรักษาสินทรัพย์ของตัวเอง และแนวโน้มนี้เพิ่มขึ้นในปีนี้ หลังจากที่รัฐบาลปักกิ่งมีนโยบายปราบปรามในอุตสาหกรรมด้านการศึกษาและประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ชูนโยบายสร้างความมั่งคั่งแก่ชาวจีนทั่วประเทศ ไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำ