วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน บทบาทจีนจากปากจีน

วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน บทบาทจีนจากปากจีน

การรุกรานยูเครนของรัสเซียที่ดูเหมือนเป็นความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ แต่แท้จริงแล้วยังมีตัวละครเกี่ยวข้องอีกมากมาย ฝ่ายยูเครนมีตะวันตกนำโดยสหรัฐเป็นพันธมิตรชัดเจน

ส่วนฝ่ายรัสเซียแม้ดูมีเพื่อนน้อยกว่าแต่ก็ใช่จะสิ้นไร้ไม้ตอกอย่างน้อยๆ ก็มีจีนที่ไม่ร่วมวงคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจด้วย ยิ่งหลังๆ มีข่าวจากฝ่ายสหรัฐว่ารัสเซียขอความร่วมมือทางทหารจากจีน ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเองก็ต้องโทรศัพท์ไปหารือเรื่องวิกฤติยูเครนกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง บทบาทของจีนจึงสำคัญอย่างยิ่ง เรื่องนี้ต้องฟังจากปากจีนเอง 

หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย แสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ในพิธีเปิดอบรมหลักสูตร “มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้ ปีที่4” โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันก่อนว่า เสียงปืนในยูเครนสร้างความห่วงใยแก่ผู้หวังดีทุกคน 

“เบื้องหลังความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนคือความขัดแย้งทางด้านความมั่นคงของยุโรป ที่สะสมขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน หลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น นาโต (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) ที่นำโดยสหรัฐฯ ได้ขยายขอบเขตไปทางตะวันออกอย่างต่อเนื่องและกดดันรัสเซียอย่างสุดขีดจนทำให้รัสเซียต้องตอบโต้กลับและยูเครนตกเป็นเหยื่อ” ทูตหาน จื้อเฉียงกล่าวและว่าจีนมีจุดยืนแน่วแน่ว่าควรเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศ ควรเคารพปณิธานและหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อกังวลด้านความมั่นคงที่สมเหตุสมผลของทุกประเทศควรได้รับการให้ความสำคัญอย่างจริงจัง และความพยายามทั้งหมดที่จะเป็นประโยชน์ต่อแก้ไขวิกฤตการณ์อย่างสันติควรได้รับการสนับสนุน 

 

จีนได้เสนอแนวคิดริเริ่ม 6 ประการเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในยูเครน และเป็นประเทศแรก ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายสนับสนุนการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และสหรัฐฯ นาโตก็ควรเจรจากับรัสเซียด้วยเพื่อแก้ไขปมเงื่อนที่อยู่เบื้องหลังวิกฤติยูเครน 

จีนไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการคว่ำบาตรเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน การคว่ำบาตรแบบรอบด้านและไม่เลือกปฏิบัติจะซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก จนก่อเกิดวิกฤติระดับโลกที่รุนแรงขึ้นมา จีนเรียกร้องให้ประเทศที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างรอบคอบและมีเหตุผล จีนจะยังคงแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์โดยใช้วิธีของตนเองต่อไป

ผศ.ดร.หลี่ เหริน เหลียง(Li Ren Liang) จากคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงบทบาทจีนที่งดออกเสียงข้อมติในการประชุมวาระเร่งด่วนของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติประณามรัสเซียว่า ความต้องการของจีนคือในประเทศมีเสถียรภาพ นอกประเทศมีสันติภาพ จีนอดทนมาตลอดไม่ถึงเวลาก็ไม่แสดงบทบาท

“แต่เมื่อจีนเติบโตขึ้นต่างประเทศก็คาดหวังให้จีนรับผิดชอบสังคมโลก ซึ่งตั้งแต่ปี 2018 (พ.ศ.2561) นโยบายต่างประเทศของจีนประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเสนอให้สร้างประชาคมร่วมอนาคตแห่งมวลมนุษยชาติ” นักวิชาการจีนในไทยอธิบายว่า การมีเพื่อนเท่ากับมีช่องทางการค้าเพิ่มขึ้น จีนเป็นมิตรกับทุกประเทศในฐานะประเทศใหญ่ก็แสดงบทบาทตามสมควร  เช่น ผู้นำจีนได้หารือกับผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนี  แต่ไม่ว่าใครจะทำผิดทำถูกจีนก็ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 

รศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหายูเครนเริ่มตั้งแต่ปี 2014 (พ.ศ.2557) ที่รัสเซียผนวกคาบสมุทรไครเมียเป็นของตนอ้างว่าประชาชนไครเมียลงประชามติจะอยู่กับรัสเซีย กรณีนี้จีนแสดงความเห็นน้อยมาก เพราะถ้าสนับสนุนก็จะส่งผลเสียต่อจีนเองเรื่อง Self-determination ของทิเบตและฮ่องกง  ล่าสุดรัสเซียรับรองสาธารณรัฐประชาโดเนตส์กและสาธารณรัฐประชาชนลูฮันส์ก ซึ่งจีนไม่สามารถยอมรับการรับรองของรัสเซียได้ อีกด้านหนึ่งจีนบอกว่านาโตเป็นปัญหาทำให้รัสเซียหวาดระแวง 

“ตอนนี้จะว่าจีนอุ้มรัสเซียก็ไม่ใช่ หนุนนาโตก็ไม่เชิง กล่าวเพียงว่าจีนยึดมั่นในกฎบัตรสหประชาชาติเรื่องการเคารพอธิปไตยของรัฐ เชื่อว่าจีนกำลังรอดูสถานการณ์และไม่อยากให้ความขัดแย้งยืดยาว เพราะทำให้โลกตะวันตกเฝ้าระวังจีนมากขึ้น อีกทั้งโครงการสายแถบและเส้นทาง (บีอาร์ไอ) จะไปยุโรปได้ต้องผ่านยูเครนและเบลารุส ถ้ายูเครนไม่สงบจะกระทบกับบีอาร์ไอ” 

นักวิชาการรายนี้กล่าวด้วยว่า ถ้าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินยึดยูเครนสำเร็จและไปต่อเท่ากับว่ารัสเซียต้องการเป็นจักรวรรดิก็จะเป็นความกังวลของจีน ซึ่งตั้งแต่อดีตจีนมองรสเซียอย่างกังวลมาโดยตลอด ย้อนกลับไปตอนที่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 (พ.ศ.2534) ด้านหนึ่งจีนกังวลเรื่องการล้มตามกันแบบโดมิโน แต่อีกด้านก็โล่งใจเพราะไม่ต้องกังวลเรื่องพรมแดนด้านเหนือติดกับโซเวียตหมื่นกว่ากิโลเมตรอีกแล้ว หันมาเน้นการพัฒนาประเทศได้เต็มที่

รศ.ดร.สิทธิพลสรุปว่า การกลับมาผงาดขึ้นอีกครั้งของรัสเซียไม่น่าจะเป็นผลดีกับจีน 

นั่นคือสามมุมมองจากสองชาวจีนในประเทศไทยและหนึ่งนักวิชาการชาวไทย ไม่ว่าจะมองในมุมไหนดูเหมือนว่าจีนจะหนีวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนไม่พ้นเสียแล้ว ตอนนี้ได้แต่จับตาว่าจีนจะแสดงบทบาทแบบไหนถึงจะได้คะแนนมากที่สุด