นาโตหวั่น'เบลารุส'โดดร่วมวงหนุนรัสเซีย

นาโตหวั่น'เบลารุส'โดดร่วมวงหนุนรัสเซีย

นาโตหวั่น'เบลารุส'โดดร่วมวงหนุนรัสเซีย โดยมีความเห็นว่าในไม่ช้าเบลารุสอาจเข้าร่วมปฏิบัติการโจมตียูเครนด้วยตัวเอง และพร้อมให้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียเข้าไปติดตั้งในแผ่นดินเบลารุส

นาโตหวั่นเบลารุสอาจเข้าสู่สงครามในยูเครนโดยตรงเพื่อช่วยเหลือกองทัพรัสเซียที่ยังไม่สามารถเผด็จศึกได้ หลังเจอการต้านทานอย่างหนักเกินคาดจากฝ่ายยูเครน  ขณะผู้นำคนใหม่ที่จะมาปกครองรัสเซียอาจร้ายยิ่งกว่า“ปูติน”หลายเท่า

เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองระดับอาวุโสขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต) ยอมรับว่า สงครามในยูเครน ที่ยืดเยื้อนานเกือบ 1 เดือนกำลังอยู่ในภาวะชะงักงัน ที่กองกำลังยูเครนสามารถยับยั้งไม่ให้กองทัพรัสเซียสามารถรุกคืบได้มากกว่านี้ และยังประกาศชัดเจนว่าจะไม่ยอมแพ้ ทำให้รัสเซียยากที่จะควบคุมพื้นที่ที่ยึดครองได้เพราะต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างยาวนาน ในขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ยังไม่อยากยอมรับความพ่ายแพ้และไม่ยอมถอยอย่างแน่นอน ทำให้จะมีแต่การสูญเสียชีวิตและความเสียหายมากยิ่งขึ้น โดยไม่มีฝ่ายใดสามารถเอาชนะได้

เจ้าหน้าที่รายนี้เตือนด้วยว่า ในไม่ช้าเบลารุส ที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดของรัสเซียอาจเข้าร่วมปฏิบัติการโจมตียูเครนด้วยตัวเอง และพร้อมให้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียเข้าไปติดตั้งในแผ่นดินเบลารุส หลังจากเบลารุสยอมให้กองทัพรัสเซียใช้ดินแดนเพื่อปฏิบัติการโจมตียูเครน และเมื่อเดือนที่แล้วผลการลงประชามติของชาวเบลารุส ก็สนับสนุนให้ยกเลิกสถานะรัฐปลอดนิวเคลียร์ ที่อาจเป็นการเปิดทางให้รัสเซียเข้าไปติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคตได้

ขณะนี้เบลารุสยอมให้ทหารรัสเซียเคลื่อนพลเข้าสู่กรุงเคียฟของยูเครนผ่านดินแดนของตัวเอง และยอมให้เครื่องบินรัสเซียใช้ฐานทัพอากาศสำหรับปฏิบัติการ รวมไปถึงใช้ดินแดนเบลารุสในการยิงขีปนาวุธหรือจรวดไปยังฝั่งยูเครน

แม้ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ยังไม่ยอมให้รัสเซียใช้ทหารเบลารุสในการโจมตียูเครน แต่อาจเปลี่ยนแปลงได้หากเผชิญแรงกดดันจากรัสเซียมากขึ้น

การประเมินของเจ้าหน้าที่นาโตต่อสถานการณ์สงครามในยูเครนมีขึ้นในขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ และผู้นำโลกเตรียมตัวสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำนาโตในวันพฤหัสบดี(24มี.ค.)และกระทรวงกลาโหมยูเครนเตือนเมื่อวันอาทิตย์ว่า กองทัพเบลารุสกำลังเตรียมพร้อมเข้าสู่ปฏิบัติการรุกรานดินแดนยูเครนโดยตรง และเตือนว่า หากทหารเบลารุสเข้าร่วมโดยตรงในการรุกรานของกองทัพรัสเซียต่อยูเครน สวนทางกับความเห็นของกองทัพและประชาชนส่วนใหญ่ ก็จะเป็นความผิดพลาดครั้งร้ายแรงของประธานาธิบดีลูกาเชนโก

ในส่วนของสถานการณ์ในรัสเซียนั้น กำลังมีกระแสข่าวแพร่สะพัดไปทั่วว่าพวกผู้ทรงอิทธิพลในรัสเซียกำลังวางแผนกำจัดประธานาธิบดีปูติน เพราะทนไม่ไหวต่อผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรและวางตัวผู้สืบทอดไว้แล้ว แต่ฝั่งตะวันตกกลับยิ่งหนักใจ เพราะผู้มาใหม่อาจร้ายยิ่งกว่าปูตินหลายเท่า

การส่งทหารบุกยูเครนส่งผลให้ประธานาธิบดีปูติน เผชิญแรงกดดันอย่างหนักที่บ้านเกิดของตนเอง จนเกิดข่าวแพร่สะพัดว่าพวกผู้ทรงอิทธิพลที่เริ่มรับรู้ถึงความสั่นคลอนของฐานะทางการเงินและอนาคต ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรอย่างหนักหน่วงจากตะวันตก กำลังคิดแผนกำจัดเขาในหลายทางเลือกตั้งแต่วางยาพิษไปจนถึงจัดฉากให้เกิดอุบัติเหตุ และวางตัวคนที่จะขึ้นมาแทนแล้ว ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นอดีตสายลับร่วมองค์กรที่น่าเกรงขามที่สุดในยุคสหภาพโซเวียตอย่างเคจีบี หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าคณะกรรมการความมั่นคงแห่งรัฐ และเป็นมือขวาของปูติน

"อเล็กซานเดอร์ บอร์ตนิคอฟ" ผู้อำนวยการสำนักความมั่นคงกลาง (เอฟเอสบี) วัย 70 ปี คือตัวเลือกที่จะมาปลดปล่อยรัสเซียจากการคว่ำบาตรของตะวันตก โดยเชื่อว่าเขาจะเป็นหัวหอกในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับตะวันตก แต่อีกด้านหนึ่งเขาได้ชื่อว่ามีเครือข่ายกระจายอยู่ทุกแห่งในยุโรปตะวันออก และมี “สาย” ที่ทำงานและอาศัยอยู่ในยูเครน

บอร์ตนิคอฟ ไม่ได้ต่างจากปูตินในเรื่องของความโหด และเป็นมาตั้งแต่สมัยที่อยู่ใต้ร่มเงาของคจีบี ซึ่งสื่อยักษ์ใหญ่ของอเมริกันอย่างนิวยอร์กไทม์ รายงานว่า บอร์ตนิคอฟอยู่เบื้องหลังการใช้สารพิษโพโลเนียมวางยา “อเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโก” อดีตสายลับเอฟเอสบีที่เปิดโปงเรื่องการคอร์รัปชัน ก่อนหนีไปพึ่งใบบุญอังกฤษ ทั้งยังฝักใฝ่โจเซฟ สตาลิน อย่างมาก โดยเมื่อปี 2560 เขาถูกนักวิชาการมากกว่า 30 คน รุมตำหนิเขาที่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ “ความน่าสะพรึงกลัวครั้งใหญ่” ในยุคของสตาลิน ที่เกิดขึ้นในโซเวียตช่วงระหว่างปี 2479-2481 ซึ่งนักประวัติศาสตร์ประเมินว่า มีคนเสียชีวิตราว 1 ล้านคน

แม้ว่าบอร์ตนิคอฟจะไม่ได้เป็นประธานาธิบดี แต่บทบาทในฐานะนายใหญ่ของเอฟเอสบีเมื่อปี 2551 ทำให้เขาเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของรัสเซีย เขามีผู้ใช้บังคับบัญชาหลายแสนคน รับผิดชอบตั้งแต่การรักษาความปลอดภัยตามแนวพรมแดน ต่อต้านการก่อการร้าย ต่อต้านข่าวกรองและเฝ้าระวังทางอิเล็กทรอนิกส์ การจับกุมคุมขังฝ่ายค้านและผู้ประท้วงต่อต้านสงคราม ก็อยู่ในอำนาจของเขาเช่นกัน

เมื่อครั้งที่อดีตประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน แต่งตั้งปูตินเป็นรักษาการประธานาธิบดี บอร์ตนิคอฟก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (เอสอีบี) ซึ่งหมายถึงการกุมบังเหียนเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะปิดบริษัทใดที่เป็นของรัสเซียหรือส่งเจ้าของไปเข้าคุกเมื่อใดก็ได้ 

สื่อรัสเซียระบุว่า บอร์ตนิคอฟต้องการคำต่อท้ายชื่อว่า “วีรบุรุษแห่งสหพันธ์รัสเซีย” ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุด แต่ ตอนนี้เขาอาจมองข้ามและปรารถนาคำนำหน้าว่า “ประธานาธิบดี” แล้วก็เป็นได้