ชีวิตที่อยู่ยากขึ้นของ'วลาดิมีร์ ปูติน'ผู้นำรัสเซีย

ชีวิตที่อยู่ยากขึ้นของ'วลาดิมีร์ ปูติน'ผู้นำรัสเซีย

ช่วงนี้ชื่อของ“วลาดิมีร์ ปูติน” แห่งรัสเซีย ถูกพูดถึงในหน้าสื่อทั่วโลกทุกวัน และดูเหมือนว่าชีวิตของผู้นำรัสเซียคนนี้จะไม่ได้เจอกระแสต่อต้านจากสหรัฐและชาติพันธมิตรตะวันตกเท่านั้นแต่เจอกระแสต่อต้านจากคนในชาติด้วย

ล่าสุด หน่วยข่าวกรองของกระทรวงกลาโหมยูเครน อ้างว่า กลุ่มผู้ทรงอิทธิพลในรัสเซียที่ตกตะลึงต่อมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ กำลังวางแผนใช้ “ยาพิษ” ปลิดชีพประธานาธิบดีปูติน และเตรียมผู้สืบทอดอำนาจคนใหม่เอาแล้วคือ อเล็กซานเดอร์ วาซิลีเยวิช บอร์ตนิคอฟ ผู้อำนวยการสำนักความมั่นคงกลาง (เอฟเอสบี) ที่ตั้งขึ้นมาแทนคณะกรรมการความมั่นคงแห่งรัฐ (เคจีบี) องค์กรที่น่าเกรงขามที่สุดในยุคสหภาพโซเวียต

ปูติน เคยเป็นผู้อำนวยการเอฟเอสบี ก่อนจะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และเขากับบอร์ตนิคอฟก็เคยทำงานในเคจีบีด้วยกันที่เลนินกราดหรือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปัจจุบัน แต่หลังการบุกยูเครนทำให้รัสเซียถูกตะวันตกใช้มาตรการลงโทษที่หนักหน่วง จนสร้างความไม่พอใจให้บอร์ตนิคอฟกับผู้ทรงอิทธิพลที่เป็นตัวแทนชนชั้นสูงในรัสเซีย และพวกเขากำลังพิจารณาทางเลือกในการกระชากปูตินลงจากอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางยาพิษ, โรคที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตกระทันหัน หรือ “ความบังเอิญอื่น ๆ”
 

ข่าวกรอง ระบุว่า บอร์ตนิคอฟไม่เห็นด้วยกับปูติน หลังสูญเสียทางทหารไปเป็นจำนวนมากตั้งแต่ 3 สัปดาห์แรกของการบุกยูเครน และในช่วงเวลาเดียวกันปูติน ก็ปลดนายพลไปถึง 8 คน ซึ่งน่าจะทำให้บอร์ตนิคอฟไม่พอใจปูตินมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เขาต้องเสียหน้าในฐานะผู้กุมบังเหียนเอฟเอสบีที่ผิดพลาดมหันต์ในการประเมิน “อารมณ์” ของชาวยูเครน และขีดความสามารถของกองทัพ ทั้ง ๆ ที่เขามีเครือข่ายวงในที่เข้าไปฝังตัว ทั้งทำงานและอาศัยอยู่ในยูเครนมาหลายปี

แหล่งข่าวตะวันตกอ้างว่า มีข่าวและข้อมูลที่น่าสงสัยในแวดวงบุคคลวงในของรัสเซีย ที่กำลังหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความหวาดระแวงและความไม่ไว้วางใจในตัวผู้นำ โดยไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเขารู้สึกว่า มาตรการคว่ำบาตรทำให้พวกเขามองเห็นอนาคตที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ อันเป็นผลพวงของสงคราม และมีสิ่งบ่งชี้ว่าคนกลุ่มย่อย ๆ อาจกำลังพยายามกำจัดปูติน แต่จะสำเร็จหรือไม่ก็ต้องมาคอยดูกัน

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เปิดฉากทำสงครามกับยูเครน ประธานาธิบดีปูติน ก็เกิดอาการหวาดระแวงอย่างหนัก เปลี่ยนมานอนตอนเช้าไปจนถึงสั่งทดสอบหายาพิษในอาหารทุกมื้อ
 

ประธานาธิบดีปูติน ปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตนับตั้งแต่เปิดศึกกับยูเครน โดยตื่นนอนเวลา 12.00 น. ก่อนเริ่มอาหารมื้อแรกที่ต้องผ่านการตรวจหาสารพิษแล้ว ที่โปรดปรานคือไข่เจียวหรือโจ๊ก แต่ที่ขาดไม่ได้คือไข่นกกระทาและคอทเทจชีส ที่เหมาะสำหรับคนที่คุมน้ำหนัก และต้องการสร้างมวลกล้ามเนื้อเพราะมีโปรตีนสูง ตามด้วยน้ำผลไม้

อาหารทุกอย่างต้องใหม่สดมาจากฟาร์มของพระอัครบิดร “คีริลล์” ประมุขสูงสุดของคริสตจักรออโธดอกซ์ แห่งเดียวเท่านั้น จากนั้นปูตินจะจิบกาแฟและว่ายน้ำเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ซึ่งในช่วงที่ผู้นำวัย 69 ปี อยู่ในน้ำ เหล่าเจ้าหน้าที่ที่จะเสนอรายงานหรือหารือกิจการงานเมือง ก็จะต้องไปรอให้ห้องที่ตกแต่งด้วยไม้เคลือบเงา แต่ถ้าตามด้วยการออกกำลังกาย พวกเขาก็จะต้องรอนานถึง 4 ชั่วโมง

เมื่อปูตินเข้ามาในห้อง เขาจะอ่านหนังสือพิมพ์และรายงานสรุปที่เป็นบันทึกย่อที่วางเตรียมไว้บนโต๊ะไม้ขนาดใหญ่ เพราะเขาไม่ยอมให้ใช้คอมพิวเตอร์เพราะไม่ไว้ใจในเรื่องความปลอดภัยทางออนไลน์ ทำให้เอกสารทุกอย่างจะอยู่ในรูปของกระดาษอยู่ในแฟ้มสีแดง ยกเว้นโทรศัพท์ที่ใช้โครงข่ายคมนาคมสื่อสารในยุคสหภาพโซเวียต

แหล่งข่าวในทำเนียบเครมลิน เปิดเผยว่า ปูตินชอบอ่านคอลัมน์เกี่ยวกับเขาที่เขียนโดยคอลัมนิสต์ อังเดรย์ คาเลสนิคอฟ ของหนังสือพิมพ์คอมเมอร์ซานต์และอ่านจนจบเสมอ 

ส่วนพฤติกรรมการกินในช่วงที่เหลือของวันจะชัดเจนน้อยกว่าช่วงเช้า ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ขณะที่หนังสือพิมพ์ปราฟดารายงานว่า ปูตินเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น มะเขือเทศ แตงกวาและผักกาดหอม และแม้จะชอบเนื้อแกะมากกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น แต่ส่วนใหญ่เขาเลือกเมนูปลาและปฏิเสธของหวานทุกชนิด

ขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นครั้งใหม่จากลอร์ด แอชครอฟต์ โพลส์ เปิดเผยว่า ชาวรัสเซียส่วนใหญ่สนับสนุน “ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ” ในยูเครน และมองประธานาธิบดีปูตินในแง่ดี แต่ผู้ตอบแบบสำรวจกลุ่มอายุ 18-24 ปีคัดค้านการรุกรานยูเครน และรู้สึกเคลือบแคลงกับท่าทีของทางการรัสเซียมากกว่ากลุ่มอื่น

ผลสำรวจความคิดเห็นชาวรัสเซีย 1,007 รายครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นการโทรสอบถามความคิดเห็นจากรัฐที่อยู่ใกล้เคียงเมื่อวันที่ 11-13 มี.ค.ที่ผ่านมา ยังพบว่า 76% สนับสนุนปฏิบัติการทางทหารพิเศษของรัสเซีย และ  57% เห็นด้วยอย่างยิ่งแต่ผู้ตอบแบบสำรวจ 53% มองว่ายูเครนสกัดกั้นการรุกรานได้แข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้