ยักษ์ใหญ่พลังงานเอเชีย:แหล่งรายได้หลักเมียนมา

ยักษ์ใหญ่พลังงานเอเชีย:แหล่งรายได้หลักเมียนมา

ยักษ์ใหญ่พลังงานเอเชีย:แหล่งรายได้หลักเมียนมา โดยรัฐบาลเมียนมาคาดการณ์ว่าจะมีรายได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในปีงบการเงิน 2565 อยู่ที่ 1,500 ล้านดอลลาร์

แม้สหภาพยุโรป (อียู)ประกาศคว่ำบาตรเมียนมาเพราะปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศนี้แต่ในความเป็นจริง ปรากฏว่า บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานในเอเชียยังคงดำเนินธุรกิจกับรัฐบาลทหารเมียนมา ทั้งปอสโก และปตท.ที่ขยายธุรกิจในดินแดนนี้ สวนทางกับโททาลและเชฟรอนที่เตรียมถอนตัวออกจากธุรกิจพลังงานในประเทศนี้    

 ขณะที่ประชาคมโลกพยายามกดดันรัฐบาลทหารเมียนมาให้เร่งปรับปรุงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ อียูก็ประกาศห้ามนิติบุคคลและบุคคลเมื่อปลายเดือนที่แล้วจากการจัดหาเงินทุนให้แก่ บริษัทเมียนมาออยล์และก๊าซ เอ็นเตอร์ไพรซ์ หรือ MOGE  พร้อมทั้งอายัดทรัพย์สินกลุ่มบริษัทเหล่านี้ โดยทั้งสองบริษัททำหน้าที่ทั้งลงทุนในโครงการพัฒนาแหล่งพลังงานต่างๆและเก็บค่าภาคหลวงโครงการพัฒนาก๊าซในเมียนมา    

 รัฐบาลเมียนมา คาดการณ์ว่าจะมีรายได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในปีงบการเงิน 2565 อยู่ที่ 1,500 ล้านดอลลาร์ เท่ากับเกือบ 10% ของงบการเงินโดยรวม กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยเรียกร้องให้บรรดาบริษัทต่างชาติยุติการลงทุนใน MOGE  ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นการช่วยต่อลมหายใจแก่กองทัพเมียนมา

โททาลอีเนอร์ยีส์ บริษัทข้ามชาติสัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งถือหุ้นในแหล่งก๊าซขนาดใหญ่สุดในเมียนมาที่ยาดานาในทะเลอันดามัน ระบุเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาว่า ตัดสินใจที่จะถอนตัวจากธุรกิจพลังงานในเมียนมาภายใน 6เดือน ส่วนเชฟรอน บริษัทพลังงานชั้นนำของอเมริกัน บอกว่ากำลังพิจารณาที่จะถอนธุรกิจออกจากดินแดนแห่งนี้
 

สวนทางกับบรรดาบริษัทเอเชีย ที่ยังลังเลที่จะถอนตัวจากการทำธุรกิจในเมียนมา เริ่มจากปอสโก อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทเทรดดิ้งในเครือปอสโก ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่สัญชาติเกาหลีใต้ ถือหุ้น 51% ในแหล่งก๊าซชเว ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งทะเลตะวันตกของเมียนมา 

“ปอสโก อินเตอร์เนชั่นแนล” เผยว่า แม้ว่าผลผลิตก๊าซส่วนใหญ่ของโครงการนี้จะส่งออกไปยังจีน แต่ก๊าซบางส่วนถูกนำไปใช้ในโรงงานไฟฟ้าหลายแห่งในเมียนมา  การยุติแหล่งก๊าซแห่งนี้อาจสร้างความปั่นป่วนแก่ระบบการจัดหาเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าในเมียนมา ส่งผลกระทบต่อการใช้พลังงานของครัวเรือนต่างๆ

แหล่งก๊าซชเวแห่งนี้เป็นโครงการพัฒนาแหล่งพลังงานเพียงแห่งเดียวที่ปอสโก อินเตอร์เนชั่นแนลถือหุ้นอยู่ และรับผิดชอบกว่า 30% ของกำไรจากการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทจำนวน 585,400 ล้านวอน (472 ล้านดอลลาร์)ในปี 2564 และบริษัทได้ทำสัญญาจัดหาก๊าซให้แก่บริษัทไชนา เนชั่นแนล ปิโตรเลียม คอร์ป(ซีเอ็นพีซี)จนถึงปี 2586
 

ปอสโก อินเตอร์เนชั่นแนลยังลงทุนในเฟส2ของโครงการมูลค่า 470 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีกำหนดเริ่มผลิตก๊าซภายในปลายปีนี้ ส่วนในเฟส3 บริษัทมีแผนลงทุนเป็นเงิน 315 ล้านดอลลาร์ เพราะฉะนั้น การถอนตัวจากธุรกิจพลังงานในตอนนี้จึงถือเป็นการถอยหลังทางธุรกิจครั้งใหญ่

ขณะที่บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ. เปิดเผยว่า ได้เปลี่ยนแปลงผู้ดำเนินการในโครงการยาดานา ประเทศเมียนมา จากบริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ เป็น บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PTTEPI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มปตท.สผ. และเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการ โดยได้รับความเห็นชอบจากผู้ร่วมทุนของโครงการแล้ว และจะมีผลในวันที่ 20 ก.ค.

ทั้งนี้ บริษัทได้พิจารณาอย่างรอบคอบในการเข้าเป็นผู้ดำเนินการในโครงการยาดานาต่อจากบริษัท โททาลเอนเนอร์ยีส์ ซึ่งถอนตัวออกจากโครงการ โดยบริษัทเชื่อว่าการเข้าเป็นผู้ดำเนินการจะสามารถช่วยรักษาความต่อเนื่องในการจัดหาพลังงานให้กับทั้งสองประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงาน และสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว 

ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากโครงการยาดานา ในอ่าวเมาะตะมะ มีปริมาณ 770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งประมาณ 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันใช้ในเมียนมาเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือคิดเป็นประมาณ 50% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในเมียนมา 

ขณะที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากโครงการยาดานาด้วยเช่นกัน โดยส่งเข้าประเทศไทยประมาณ 550 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และขนาดเล็ก จำนวน 12 โรง รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าและพลังงานของประชาชนกว่า 11 ล้านคนในภาคตะวันตกและบางส่วนของภาคกลาง โดยปริมาณดังกล่าวคิดเป็นประมาณ 11% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของไทย

โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งพลังงานรูปแบบอื่นยังมีข้อจำกัดในการเป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับการผลิตไฟฟ้า รวมไปถึง ความต่อเนื่องในการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และกระบวนการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทุกขั้นตอน

การถอนตัวจากแหล่งก๊าซยาดานาของโททาลและการจัดสรรปันส่วนหุ้นใหม่ในกลุ่มผู้ถือหุ้นที่มีอยู่ของบริษัทพลังงานฝรั่งเศสจะเพิ่มผลประโยชน์ของ MOGE เป็นกว่า 20% จาก 15% 

ปัจจุบัน เมียนมายังคงส่งออกก๊าซธรรมชาติผ่านท่อส่งก๊าซให้ไทยและจีนได้ตามปกติ โดยทั้งสองประเทศนี้ไม่มีแผนที่จะระงับการนำเข้าก๊าซจากเมียนมา เพราะฉะนั้นมาตรการคว่ำบาตรของอียูจึงส่งผลกระทบอย่างจำกัดมากตราบใดที่การเก็บค่าภาคหลวงและการส่งออกพลังงานของบริษัท MOGE ยังคงดำเนินต่อไป