UNHCR เปิดตัวไทยชาติที่ 2 โลก กองทุนนักธุรกิจหญิงเพื่อผู้ลี้ภัย

UNHCR เปิดตัวไทยชาติที่ 2 โลก กองทุนนักธุรกิจหญิงเพื่อผู้ลี้ภัย

UNHCR เปิดตัว Leading Women Fund กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่ในประเทศไทยเพื่อผู้ลี้ภัย นักธุรกิจหญิง-เซเลบริตีร่วมสนับสนุนคึกคัก เป็นประเทศที่ 2 ของโลก

ตามที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญสงครามและความขัดแย้ง ทำให้การพลัดถิ่นทั่วโลกเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนมากกว่า 82.4 ล้านคนถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านเกิดของตนจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งมากกว่าครึ่งคือผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่มีความเปราะบางและต้องการความคุ้มครอง 

สงครามซีเรียที่ดำเนินมากว่าสิบปีบังคับให้ผู้คนต้องพลัดถิ่นมากที่สุดในโลก สูงถึง 12 ล้านคน เพียงชั่วข้ามคืนผู้หญิงจำนวนมากต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ลี้ภัยเพื่อหาที่พักพิงที่ปลอดภัยในประเทศเพื่อนบ้าน และในประเทศจอร์แดน 1 ใน 3 ของหัวหน้าครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย คือผู้หญิงที่ขาดโอกาสในการทํางาน การศึกษา และทักษะในการประกอบอาชีพ จึงต้องตกอยู่ในภาวะยากจนขั้นสุด ไร้บ้าน และขาดแคลนอาหารขณะที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัวโดยลําพัง

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จึงได้จัดตั้ง “กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย” ขึ้นในประเทศไทย โดยความร่วมมือกับนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่  แวววรรณ กันต์นันท์ธร ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรสโกลด์ (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงทางธุรกิจและมุ่งมั่นที่จะสร้างเครือข่ายแห่งการแบ่งปันจากผู้หญิงถึงผู้หญิง เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือจากนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่ในประเทศไทยถึงแม่เลี้ยงเดี่ยวที่กำลังลี้ภัยและดูแลครอบครัวเพียงลำพัง

นาวีน อัลเบิร์ต รองผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย เล่าว่า เมื่อ 10 ปีก่อนเธอเป็นหนึ่งในผู้ร่วมตั้งค่ายผู้ลี้ภัยซาตารีในจอร์แดนของยูเอ็นเอชซีอาร์ ช่วงเริ่มต้นของวิกฤติซีเรียภาพที่เห็นคือผู้ลี้ภัยส่วนมากเป็นผู้หญิงและเด็กต้องเดินทางอย่างเหน็ดเหนื่อย ระหว่างเดินทางบางคนต้องสูญเสียครอบครัว บางคนต้องคลอดลูก บางคนต้องให้นมลูกระหว่างรอความช่วยเหลือ จากวันนั้นถึงวันนี้ยังมีชาวซีเรียกว่า 13 ล้านคนที่พลัดถิ่นอยู่ทั่วโลกและกว่า 6.6 ล้านคนยังลี้ภัยในจอร์แดนเพื่อนบ้าน ในจำนวนนี้มีผู้หญิงไม่ถึง 7% ที่ได้ทำงานมีรายได้ พวกเธอจึงอยู่ในภาวะยากจนขั้นสุด เสี่ยงถูกแสวงหาผลประโยชน์ บ้างก็ถูกบังคับให้แต่งงานก่อนวัยอันควร 

“กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย” ในประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ที่ได้รับการจัดตั้งต่อจากประเทศออสเตรเลีย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมบทบาทและพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงยุคใหม่ที่ประสบความสําเร็จทางธุรกิจ ผ่านการให้ที่แตกต่างและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นใหม่ของยูเอ็นเอชซีอาร์  เพื่อเชื่อมโยงผู้ให้และผู้รับ

อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการแผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชนยูเอ็นเอชซีอาร์ ขยายความถึงกองทุนดังกล่าวว่า เป็นการรวบรวมความช่วยเหลือจากสมาชิกในกองทุนมอบเงินรายเดือนๆ ละ 6,000 บาทให้ผู้ลี้ภัยโดยการโอนเข้าบัญชีโดยตรง ผู้ลี้ภัยกดเงินได้เองจากบัตรเอทีเอ็ม 

"ตอนที่โควิดระบาดเคยสำรวจความคิดเห็น พวกเขาอยากได้เงินสดมากที่สุด การมอบเงินให้โดยตรงเป็นการรักษาศักดิ์ศรีของผู้ลี้ภัย เงิน 6,000 บาทนี้เขาคิดได้เองว่าจะเอาไปซื้ออะไรบ้าง ส่วนใหญ่คนเป็นแม่ก็เลือกจะจ่ายให้กับค่าเล่าเรียนลูก ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน" 

แวววรรณ กันต์นันท์ธร ประธานกองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่ในประเทศไทยเพื่อผู้ลี้ภัย เล่าถึงความเป็นมาของการร่วมก่อตั้งกองทุนว่า ตัวเธอเองทำธุรกิจมาตั้งแต่เด็กเพราะครอบครัวเจอวิกฤติ แวววรรณต้องเสียสละชีวิตวัยรุ่นมารับผิดชอบธุรกิจ ซึ่งตอนนั้นเธอคิดว่าตนเองโชคร้ายที่ต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ แต่เมื่อเห็นโลกกว้างขึ้นก็เข้าใจว่า 

“เราผ่านมาได้เพราะมีครอบครัวให้กำลังใจ มีบ้านให้กลับ เรามีโอกาสมากกว่าคนอื่น” เมื่อแวววรรณเห็นว่า ตนเองประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้วจึงอยากให้อะไรกลับคืนแก่สังคมการร่วมก่อตั้งกองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่ในประเทศไทยเพื่อผู้ลี้ภัยคือคำตอบนั้น 

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนไทยบางคนที่มองว่าการบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสงครามซีเรียในจอร์แดนอาจเป็นเรื่องไกลตัว กองทุนฯ มีเครื่องมือเชื่อมโลก นั่นคือแอพพลิเคชันคอนเนคติง เวิลดส์ (Connecting Worlds) ถือเป็นแอพพลิเคชันแรกของโลกที่เปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนฯ และผู้ลี้ภัยหญิงชาวซีเรียในจอร์แดนสามารถแลกเปลี่ยนข้อความและรูปภาพถึงกันโดยตรง 

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเทคซอส มีเดีย จำกัด เล่าว่า เดิมทีการช่วยเหลือแบบระดมทุนผู้ให้กับผู้รับไม่มีโอกาสพูดคุยกัน แต่แอพพลิเคชันคอนเนคติง เวิลดส์ เป็นการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสังคมได้จริง เธอทำมาหลายโครงการแต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้คุยกับผู้ลี้ภัยแบบข้อมูลส่วนบุคคลไม่รั่วไหล 

“ก็โหลดแอพลงทะเบียนเหมือนแอพแชททั่วไป พิมพ์ได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มีเจ้าหน้าที่ช่วยกลั่นกรองข้อความและแปลให้ เขาไม่ได้แค่เงินแต่ได้สื่อสารกันแบบใจถึงใจ เขาเองก็อยากรู้จักประเทศไทยมากขึ้น เราก็เข้าใจเขามากขึ้น” อรนุชเผยประสบการณ์การใช้แอพ

ทั้งนี้ กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่ในประเทศไทยเพื่อผู้ลี้ภัยได้รับความสนใจจากผู้หญิงนักธุรกิจและผู้มีชื่อเสียงจำนวนมาก โดยมีสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่ร่วมสนับสนุนกองทุนและพัฒนาเครือข่ายให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เช่น ซอนญ่า สิงหะ, ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก, ศีกัญญา ศักดิเดช ภาณุพันธ์, กรกนก ยงสกุล, อรนุช เลิศสุวรรณกิจ, เฟื่องลดา-สรานี สงวนเรือง, ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล, วาสนา อินทะแสง และคนอื่นๆ