น้ำมัน WTI พุ่งกว่า 5%, หลังปูตินสั่งกองทัพนิวเคลียร์เตรียมพร้อม

น้ำมัน WTI พุ่งกว่า 5%, หลังปูตินสั่งกองทัพนิวเคลียร์เตรียมพร้อม

ราคาน้ำมันดิบ WTI ทะยานขึ้นกว่า 5% ขณะที่ราคาทองฟิวเจอร์พุ่งขึ้นกว่า 1.3% ในช่วงเช้านี้ หลังจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้สั่งการให้กองกำลังป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์

ราคาน้ำมันดิบ WTI ทะยานขึ้นกว่า 5% ขณะที่ราคาทองฟิวเจอร์พุ่งขึ้นกว่า 1.3% ในช่วงเช้านี้ หลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้สั่งการให้กองกำลังป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Deterrent Forces) เตรียมพร้อมในระดับสูงสุด เพื่อรับมือกับบรรดาชาติพันธมิตรขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่ส่งสัญญาณอันแข็งกร้าวว่าจะตอบโต้รัสเซีย หลังจากที่รัสเซียตัดสินใจบุกยูเครน

เมื่อเวลา 07.19 น.ตามเวลาไทยในวันนี้ สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 4.95 ดอลลาร์ หรือ 5.4% แตะที่ 96.54 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาทองคำตลาดโคเม็กซ์ ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 24.80 ดอลลาร์ หรือ 1.31% แตะที่ 1,912.40 ดอลลาร์/ออนซ์

ราคาน้ำมันและราคาทองฟิวเจอร์ทะยานขึ้นในช่วงเช้านี้ ท่ามกลางความกังวลที่ว่ารัสเซียอาจจะถูกคว่ำบาตรรุนแรงมากขึ้นอีก หลังจากปธน.ปูตินได้สั่งการให้กองกำลังป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์เตรียมพร้อมในระดับสูงสุด หลังจากบรรดาชาติพันธมิตรขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ส่งสัญญาณอันแข็งกร้าวว่าจะตอบโต้รัสเซีย ซึ่งรวมถึงการตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หลังจากที่รัสเซียตัดสินใจบุกยูเครน

ปธน.ปูตินได้ออกแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลรัสเซียวานนี้ว่า "ท่านได้เห็นแล้วว่า ไม่เพียงแต่ชาติตะวันตกเท่านั้นที่ใช้มาตรการที่ไม่เป็นมิตรต่อรัสเซียโดยเฉพาะมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาโตยังได้ใช้ถ้อยคำที่แข็งกร้าวทุกครั้งที่กล่าวถึงรัสเซีย"

นางลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวให้สัมภาษณ์ในรายการ "Face the Nation" ของสำนักข่าวซีบีเอสว่า การกระทำของปธน.ปูตินถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และยังเป็นการเพิ่มความขัดแย้งให้ลุกลามบานปลาย นอกจากนี้ นางโธมัส-กรีนด์ฟิลด์กล่าวว่า สหรัฐอาจจะใช้มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อรัสเซีย

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (26 ก.พ.) สหรัฐพร้อมด้วยชาติพันธมิตรแห่งโลกตะวันตก เห็นพ้องกันที่จะตัดธนาคารรัสเซียบางแห่งออกจากระบบ SWIFT ซึ่งเป็นตัวกลางสำหรับการโอนเงินข้ามประเทศ ซึ่งจะทำให้รัสเซียได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างหนัก

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ชาติพันธมิตรตะวันตก ได้แก่ คณะกรรมาธิการยุโรป (อียู) ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สหราชอาณาจักร แคนาดา และสหรัฐ ร่วมกันออกแถลงการณ์ว่า "การดำเนินการเหล่านี้จะเป็นการสร้างหลักประกันว่า ธนาคารรัสเซียจะถูกตัดออกจากระบบการเงินสากล ส่งผลให้ไม่สามารถทำธุรกรรมในระดับโลกได้"