"ยูเครน" ระดมทุนคราวด์ฟันดิง เพื่อช่วยกองทัพต้าน "รัสเซีย"

"ยูเครน" ระดมทุนคราวด์ฟันดิง เพื่อช่วยกองทัพต้าน "รัสเซีย"

ธนาคารแห่งชาติยูเครน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ระดมเงินทุนเพื่อช่วยเหลือกองทัพยูเครนในการต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ก.พ. 2565 ผ่านมา “ธนาคารแห่งชาติยูเครน” ได้เปิดบัญชีพิเศษ เพื่อให้คนทั่วโลกโอนเงินผ่านสกุลเงินหลักของโลก เข้ามาเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนกองทัพของยูเครน

Come Back Alive” องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า องค์กรสามารถระดมทุนในวันเดียวได้มากกว่า 20 ล้านฮรีฟเนีย หรือประมาณ 673,000 ดอลลาร์ ขณะที่อีกหนึ่งองค์กรไม่แสวงหน้าผลกำไร “Army SOS” ได้ประกาศเปิดรับบริจาคและติดตั้งเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กับกองทัพยูเครน เช่น แท็บเล็ต และ โดรน ผ่านกลุ่มในเฟซบุ๊ก ด้วยเช่นกัน

แม้ว่าจำนวนเงินที่ระดมทุนได้นั้นจะเป็นจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับงบประมาณทางการทหารของยูเครน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3,900 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 แต่ก็สามารถช่วยสร้างกำลังใจให้แก่กองทัพในช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ได้

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายนิติบัญญัติของสภายูเครน มีมติเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประมาณ 870 ล้านดอลลาร์ ขณะที่รัสเซียมีงบประมาณในด้านการป้องกันประเทศมากกว่ายูเครนถึง 10 เท่า

อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา พันธมิตรชาติตะวันตกของยูเครน คาดการณ์ว่า กองทัพยูเครนไม่สามารถต้านทานกองทัพรัสเซียได้ และกองทัพรัสเซียจะสามารถยึดครองกรุงเคียฟได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนั้น “วลาดิมีร์ ปูติน” ประธานาธิบดีของรัสเซีย จะสั่งปลดรัฐบาลของยูเครน และตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดขึ้นมาแทน

องค์กรไม่แสวงหากำไร และ เหล่าทหารอาสา เป็นหัวใจสำคัญของกองทัพยูเครนในการต่อสู้กับกองทัพรัสเซียตั้งแต่สมัยวิกฤตการณ์ไครเมีย ในปี  2557 ซึ่งองค์กร Come Back Alive ก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อช่วยสนับสนุนยานพาหนะทางทหาร ระบบเฝ้าระวัง และอุปกรณ์อื่น ๆ ตามข้อมูลในเว็บไซต์ขององค์กรระบุว่า ในปี 2562 องค์กรได้สนับสนุนอุปกรณ์ทางการทหารให้แก่กองทัพยูเครนมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ผู้คนจำนวนมากยังได้โอนเงินไปช่วยเหลือกองทัพยูเครนผ่าน “Wise” แพลตฟอร์มการโอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์ แม้ว่าจะมีการตั้งเพดานการโอนเงินได้สูงสุดเพียง 200 ยูโร หรือ ประมาณ 224 ดอลลาร์ แต่ Wise ยืนยันว่ากำลังแก้ไขไม่ให้มีการกำหนดยอดเงินโอนขั้นสูงสุด

คราวด์ฟันดิง คืออะไร

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้ให้ความหมายของ การระดมทุนผ่านผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง ไว้ว่า เป็นการระดมทุนจากประชาชนหมู่มาก (The Crowd) ผ่านเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลาง (Funding Portal) โดยอาศัยเทคโนโลยีของระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้ลงทุนแต่ละรายจะลงทุนในจำนวนเงินที่ไม่มาก แต่จะอาศัยพลังของจำนวนผู้ลงทุนที่มากพอจนสามารถตอบสนองความต้องการในการใช้เงินของธุรกิจได้ โดยสามารถแบ่งประเภทของคราวด์ฟันดิงได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. Crowdfunding ในรูปแบบบริจาค (Donation-based Crowdfunding)

การรับบริจาคเงินจากประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ โดยผู้บริจาคไม่หวังจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทน นอกจาก “ความสุขทางใจ” เหมาะสําหรับองค์กรที่มุ่งทําประโยชน์เพื่อสังคมหรือเพื่อการกุศล นอกจากนี้ ผู้ระดมเงินอาจได้รับใบเสร็จรับเงินเพื่อนําไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย ตัวอย่างแพลตฟอร์มนี้ในประเทศไทย ได้แก่ เทใจดอทคอม (taejai.com) สินวัฒนา โซเชียล คราวด์ฟันดิง (social.sinwattana.com) หรือ มูลนิธิก้าวคน ละก้าว (kaokonlakao.com)

 

2. Crowdfunding ในรูปแบบสิ่งของ (Reward-based Crowdfunding)

การระดมทุนรูปแบบนี้ เจ้าของโครงการส่วนใหญ่มีไอเดียใหม่ ๆ และต้องการระดมทุนผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยผู้ระดมทุนจะได้รับสินค้าที่ผลิตได้หรือสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับสินค้านั้นตอบ แทนในอนาคต ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่คุ้นเคยกันดีในต่างประเทศ ได้แก่ Kickstarter หรือ Indiegogo ซึ่งมี โครงการชื่อดังที่ประสบความสําเร็จ อย่างบอร์ดเกม Exploding Kittens หรือแว่นตาวิดีโอเสมือนจริง (Virtual Reality) ของ Oculus

 

3. Crowdfunding ในรูปแบบของการกู้ยืม (Lending-based Crowdfunding หรือ Peer-to-Peer Lending)

การกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคลผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีตัวกลางจัดให้มีสัญญาสินเชื่อระหว่างกัน ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ตัวอย่างแพลตฟอร์มในต่างประเทศ ได้แก่ Lendingclub ที่อเมริกา หรือ Zopa ที่อังกฤษ

 

4. Crowdfunding ในรูปแบบหลักทรัพย์ (Investment-based Crowdfunding)

การลงทุนในหลักทรัพย์ (หุ้น และหุ้นกู้) ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจะมีตัวกลาง หรือ Funding Portal ทํา หน้าที่คัดกรองบริษัทที่จะระดมทุน ซึ่งผู้ลงทุนอาจได้รับเงินปันผลหรือส่วนต่างราคาหากเป็นการลงทุนในหุ้น และได้ดอกเบี้ยหากลงทุนหุ้นกู้

 

ในต่างประเทศ คราวด์ฟันดิงได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะในมุมของผู้ขอระดมทุน นี่เป็นวิธีการเข้าถึงเงินทุนที่สะดวก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ส่วนฝ่ายนักลงทุนก็มองว่าเป็นโอกาสในการกระจายการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย  

ขณะที่คราวด์ฟันดิงในไทย เป็นช่องทางการระดมทุนของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนใน SET และ MAI (non-listed) โดยผู้ต้องการระดมทุนต้องติดต่อกับผ่านเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลาง ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ได้รับอนุญาตจากก.ล.ต. จำนวน 7 ราย ที่ผ่านมาถือว่าการระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิง ประสบความเสร็จอย่างดี 

ตั้งแต่ปี 2562 มีการระดมทุนแล้วประมาณ 400 ล้านบาท จากบริษัทกว่า 60 แห่ง  บริษัทเข้ามาระดมทุนมีหลากหลายธุรกิจ เช่น บริษัทขายสเต็ก, บริษัทขายน้ำจิ้มซีฟู้ด,บริษัทขายน้ำจิ้มสุกี้ สินค้าอุตสาหกรรม ฯลฯ 

อย่างไรก็ตาม แม้กฎเกณฑ์การระดมทุนนั้นจะมีความเข้มงวดน้อยกว่าบริษัที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็จะมีทาง ผ่านเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลาง ทำหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลกิจการที่เข้ามาลงทุน ดังนั้นนักลงทุนจะต้องมีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบก่อนตัดสินใจลงทุน ขณะที่ก.ล.ต. จะมีการจำกัดความเสี่ยงของผู้ลงทุน โดยสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 1 แสนบาท

ดังนั้น นักลงทุนผ่านคราวด์ฟันดิง จะต้องศึกษาข้อมูล และสามารถรับความเสี่ยงการลงทุนได้ เพราะหากเกิดความเสียหายการลงทุนจะได้ไม่เดือนร้อน และควรที่จะมีการกระจายการลงทุน   


ที่มา: Bloomberg