สายการบินเอเชียเพิ่มเที่ยวบินรับหลายประเทศเปิดพรมแดน

สายการบินเอเชียเพิ่มเที่ยวบินรับหลายประเทศเปิดพรมแดน

สายการบินเอเชียเพิ่มเที่ยวบินรับหลายประเทศเปิดพรมแดน ขณะฟิลิปปินส์ มองว่า การเคลื่อนไหวเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วฟิลิปปินส์ และฟิลิปปินส์ยินดีต้อนรับนักเดินทางที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วจากทั่วโลก

สายการบินเอเชียแห่เพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศหลังหลายประเทศเปิดพรมแดน ท่ามกลางความหวังว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่่มขึ้นต่อเนื่องหลังอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคซบเซามานานสองปีเต็มเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มจากสิงคโปร์ แอร์ไลน์ สายการบินประจำชาติสิงคโปร์ กลับมาเปิดรับสมัครลูกเรืออีกครั้ง หลังระงับการจ้างงานใหม่ไปนานกว่า 2 ปี 

การกลับมาจ้างลูกเรือครั้งใหม่เเละเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม หลังประเทศต่างๆเริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทาง ตามอัตราการฉีดวัคซีนที่ทั่วถึงมากขึ้น

“นักบินและลูกเรือส่วนใหญ่ของเรากลับมาปฏิบัติหน้าที่กับสิงคโปร์ แอร์ไลน์แล้ว” แถลงการณ์จากสิงคโปร์ แอร์ไลน์ ระบุ และบริษัทมีเเผนจะเพิ่มความจุเที่ยวบิน ขยายบริการ เพื่อรองรับความต้องการการเดินทางเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังติดต่อและเชิญลูกเรือเก่าที่ลาออกไปให้กลับมาสมัครงานอีกครั้งด้วย

ทุกวันนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ปรับนโยบายมาเป็นอยู่ร่วมกับโควิดเเละเปิดช่องทางการเดินทางของผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ให้สามารถเข้าสิงคโปร์โดยไม่ต้องกักตัว หรือเรียกว่า Vaccinated Travel Lane (VTL) กับหลายสิบประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) โดยรวมของสิงคโปร์ แอร์ไลน์เเละบริษัทในเครือย่างซิลค์ แอร์ เเละ สกู๊ตเพิ่มขึ้นเป็น 46.5% ในเดือนธันวาคม ปี 2564 จาก 13.7% ในปีก่อนหน้า

ในเดือนก.ย.ปี 2563 บริษัทปลดพนักงานไปกว่า 4,300 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 20% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด พร้อมลดต้นทุนเเละเสนอให้ลูกเรือเกษียณอายุก่อนกำหนด เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำลายอุตสาหกรรมการบิน

สิงคโปร์ แอร์ไลน์หวนเปิดเส้นทางบินจากสนามบินชางฮีของสิงคโปร์ไปบาหลีประเทศอินโดนีเซียตั้งแต่ช่วงกลางเดือนก.พ. ทั้งยังมีแผนหวนกลับไปให้บริการเส้นทางสิงคโปร์-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในวันพฤหัสบดี(24ก.พ.)นี้ตามหลังฮ่องกงที่เปิดเที่ยวบินในวันพุธ(23ก.พ.) ตามมาด้วยวันที่ 4 มี.ค.ที่จะเปิดเที่ยวบินไปยังกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์และเปิดเที่ยวบินสิงคโปร์-กรุงเทพฯ-ภูเก็ต ประเทศไทย

เช่นเดียวกับสายการบินคู่แข่งอย่างการูดา อินโดนีเซียที่เพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น เริ่มจากเที่ยวบินจากญี่ปุ่นไปบาหลีเริ่มตั้งแต่วันที่ 3ก.พ.และจากนครซิดนีย์ไปยังบาหลี
 

ส่วนการบินไทย เสนอโปรโมชันพิเศษสำหรับเที่ยวบินญี่ปุ่นด้วยการจับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ครอบคลุมถึงการลดราคาค่าตั๋วโดยสาร 3,000เยน(26ดอลลาร์)สำหรับนักเดินทางที่ต้องการเดินทางมากรุงเทพฯ

ซึ่งการเคลื่อนไหวของสายการบินในเอเชียหลายแห่งเกิดขึ้นในช่วงที่หลายประเทศเริ่มเปิดพรมแดน เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักและขยายตัวเหมือนช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19

นอกจากสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบแล้ว สายการบินต้นทุนต่ำก็เพิ่มเส้นทางรองรับการเปิดพรมแดนของหลายประเทศในเอเชียเช่นกัน อย่างสายการบินเวียตเจ็ท อะวิเอชัน ของเวียดนาม ที่ประกาศเมื่อวันอังคาร(22ก.พ.)ให้บริการเพิ่มเที่ยวบินสองเท่าระหว่างโฮจิมินห์ ซิตี้และกรุงเทพฯเป็น6เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค. และจัดโปรโมชันลดราคาค่าตั๋วโดยสารในเส้นทางดังกล่าวเหลือ 50% ในเบื้องต้น

ส่วนสายการบินเซบู แอร์ ของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นเจ้าของเซบู แปซิฟิกก็หวนกลับมาเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศหลังจากรัฐบาลฟิลิปปินส์เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.

บริษัทประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะหวนกลับมาเปิดบริการเที่ยวบินจากกรุงมะนิลาไปนครโฮจิมินห์ซิตี้ในวันที่ 1 มี.ค.และไปกรุงไทเป ประเทศไต้หวันวันที่ 2 มี.ค.ทั้งยังมีแผนเริ่มให้บริการเที่ยวบินรายวันไปยูเออีตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.หลังจากยูเออียกเลิกข้อจำกัดด้านความจุผู้โดยสารในเส้นทางบินดูไบ-มะนิลา และยังหวนกลับไปเปิดบริการเที่ยวบินสัปดาห์ละสามเที่ยวไปกรุงเทพฯและเที่ยวบินรายสัปดาห์ไปกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย และเมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น

“การเคลื่อนไหวเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วฟิลิปปินส์ และเรายินดีต้อนรับนักเดินทางที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วจากทั่วโลกให้มาสำรวจชายหาดอันงดงามของเรา”แซนเดอร์ เหลา หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายการค้าของเซบู แปซิฟิก กล่าว

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(ไออาต้า)ระบุว่า การเพิ่มเที่ยวบินของสายการบินต่างๆทำให้มีการสั่งซื้อเครื่องบินโดยสารเพิ่มตามมาด้วย เริ่มจากเซบู แปซิฟิกที่สั่งซื้อเครื่องบินเพิ่ม 6 ลำในปี 2564  ขณะที่การส่งมอบเครื่องบินโดยสารแก่สายการบินต่างๆในเอเชีย-แปซิฟิกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 61% ในปี 2565 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินก็ไม่ได้ครอบคลุมสายการบินทุกแห่งทั่วทั้งภูมิภาค อย่างกรณีของสายการบินญี่ปุ่น แม้ว่ารัฐบาลโตเกียวจะประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี(17ก.พ.)ที่ผ่านมา เปิดรับนักศึกษาต่างชาติและนักเดินทางเพื่อธุรกิจจากต่างชาติเข้าประเทศอย่างมีข้อจำกัดตั้งแต่เดือนมี.ค.และสายการบินญี่ปุ่นก็ไม่คาดหวังว่าผู้โดยสารจะหวนกลับมาใช้บริการกันอย่างคึกคักเหมือนเดิม

ออล นิปปอน แอร์เวยส์ (เอเอ็นเอ) สายการบินชั้นนำของญี่ปุ่น ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่ายังคงระงับเที่ยวบินส่วนใหญ่ไปจีน รวมทั้งเส้นทางอื่นๆจากสนามบินฮาเนดะ กรุงโตเกียวไปกรุงโซล และจากสนามบินนาริตะไปโฮโนลูลูในรัฐฮาวายของสหรัฐ ทั้งยังเลื่อนการเปิดเส้นทางบินไปมิลานประเทศอิตาลีและไปกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย