'เยียวยาตองกา'โอกาสทองลดอิทธิพลจีนของบรรดาประเทศในแปซิฟิก

'เยียวยาตองกา'โอกาสทองลดอิทธิพลจีนของบรรดาประเทศในแปซิฟิก

'เยียวยาตองกา'โอกาสทองลดอิทธิพลจีน ขณะที่ทุกวันนี้ ตองกา เป็นหนี้ธนาคารเพื่อการส่งออก-นำเข้าของจีน 108 ล้านดอลลาร์ประมาณ 25% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)

 ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐ กำลังแข่งกันสร้างอิทธิพลทางการเมืองในตองกาแทนที่จีน ที่มีสายสัมพันธ์แน่นหนาและมีอิทธิพลต่อตองกา ซึ่งล่าสุดความเสียหายจากการถูกสึนามิถล่มมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยพบว่าประชากรกว่า80% ได้รับผลกระทบอย่างหนัก บางเกาะเสียหายทั่วทั้งเกาะ

ภูเขาไฟใต้น้ำฮุงกา ตองกา ฮุงกา ฮาอาปาย ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงของตองกาประมาณ 65 กิโลเมตร ระเบิดขึ้นเมื่อวันเสาร์(15ม.ค.) ที่ผ่านมา โดยเสียงระเบิดของภูเขาไฟดังไปไกลประมาณ 2,300 กิโลเมตร และทำให้เกิดสึนามิไปทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก

ด้านสำนักนายกรัฐมนตรีของตองกา รายงานว่าคลื่นสึนามิความสูงประมาณ 15 เมตรได้ทำลายเกาะแมงโก้ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกของตองกาเสียหายแทบทั้งหมด รวมทั้งบ้านเรือน 56 หลังที่ถูกทำลายเสียหายด้วย

การระเบิดของภูเขาไฟและการเกิดสึนามิทำให้สายเคเบิลสื่อสารใต้ทะเลในตองกาได้รับความเสียหาย และการซ่อมแซมเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ อาจต้องใช้เวลาซ่อมแซมอย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งทีมผู้เชี่ยวชาญเตรียมออกเดินทางมาในช่วงสุดสัปดาห์นี้ และจะใช้เวลาเดินทางด้วยเรือนานถึง 9 วัน ขณะที่เริ่มใช้สัญญาณโทรศัพท์ 2G จากจานดาวเทียมได้แล้วแม้จะอยู่ในพื้นที่จำกัด ครอบคลุมเพียง 10% ของความจุตามปกติ
 

หน่วยงานบรรเทาทุกข์ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น)รายงานว่า มีประชาชนชาวตองกาประมาณ 84,000 คนหรือมากกว่า 80% ของประชากรทั้งหมดประมาณ 105,000 คน ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสึนามิถล่ม ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตยืนยันแล้ว 3 คน มีผู้บาดเจ็บและบ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก ขณะที่ระบบน้ำก็ปนเปื้อน

ยูเอ็น รายงานว่าความต้องการเร่งด่วนในขณะนี้คือการมีน้ำสะอาด อาหาร สิ่งของอุปโภค เครื่องปั่นไฟ รวมถึงการฟื้นฟูระบบสื่อสารโทรคมนาคมเช่นการใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ เริ่มใช้งานได้บ้างแล้ว หลังจากตองกาถูกตัดขาดจากโลกภายนอกมาเป็นเวลา 5 วัน

ขณะที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เริ่มส่งความช่วยเหลือไปยังตองกา โดยนิวซีแลนด์ส่งเรือ 2 ลำของกองทัพเรือ พร้อมเสบียงบรรเทาทุกข์ คาดว่าจะถึงที่หมายใน 4 วัน โดยหวังว่าอย่างเร็วที่สุดอาจไปถึงในวันที่ 21 ม.ค.นี้ หากสภาพอากาศเป็นใจ 

ส่วนเรือหลวงแอดิเลดของออสเตรเลีย ที่บรรทุกเครื่องยังชีพ รวมถึงอุปกรณ์จัดทำที่พักชั่วคราวและน้ำดื่มสะอาดซึ่งอาจปนเปื้อนจากเถ้าถ่านได้ออกเดินทางไปตองกาแล้วเช่นกัน
 

นอกจากนี้ ทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ต่างให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินทันที ส่วนหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ ก็อนุมัติงบประมาณ 100,000 ดอลลาร์ เพื่อส่งความช่วยเหลือโดยด่วน  เช่นเดียวกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี)ที่กำลังหารือกับทางการตองกาว่า จะประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อดึงเงินช่วยเหลือด้านภัยพิบัติมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์มาให้ตองกาหรือไม่ 

ด้านทางการจีนก็ประกาศให้เงินช่วยเหลือตองกาเบื้องต้น 100,000 ดอลลาร์ พร้อมส่งความช่วยเหลือด้านอื่นๆแก่ตองกาเช่นกัน รวมทั้งน้ำและอาหารที่ส่งไปให้ทันทีที่สนามบินตองกาเปิด

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นการระบาดของโรคโควิด-19นั้น ตองกา เป็นประเทศที่ปลอดโรคโควิด-19 และสามารถปิดพรมแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่ได้รับอนุญาติให้เข้าตองกาได้คือผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเท่านั้น

“Siaosi Sovaleni” นายกรัฐมนตรีตองกา ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง ตระหนักดีว่าหมู่เกาะของเขามีเงินน้อยและมีหนี้สินก้อนโตกับรัฐบาลจีนหลังจากเกิดจลาจลทางการเมืองเมื่อปี 2549 ที่ส่งผลให้ศูนย์กลางธุรกิจของประเทศล่มสลายและมีเพียงจีนประเทศเดียวที่เข้ามาช่วยฟื้นฟูสถานการณ์ แต่ก็ผ่านการปล่อยกู้ ไม่ใช่การช่วยเหลือแบบให้เปล่า ส่งผลให้ทุกวันนี้ ตองกา เป็นหนี้ธนาคารเพื่อการส่งออก-นำเข้าของจีน 108 ล้านดอลลาร์ประมาณ 25% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)

“เควิน รัดด์”อดีตนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย ทวีตว่าออสเตรเลียต้องเร่งให้การช่วยเหลือตองกาเป็นประเทศแรก มิฉะนั้นจะพบว่าจีนเป็นประเทศแรกที่ให้การช่วยเหลือตองกา พร้อมทั้งกล่าวเพิ่มเติมว่าออสเตรเลียควรส่งเรือรบลำใหญ่ไปให้การช่วยเหลือยังตองกาในทันทีเพราะนี่คือเหตุผลที่สร้างเรือลำนี้ขึ้น 

ขณะที่โกลบอล ไทม์ สื่อภาษาอังกฤษที่เป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตีพิมพ์บทบรรณาธิการระบุว่า ตองกาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วนและจีนก็ประกาศชัดว่าจะช่วยเหลือตองกาเต็มที่

นอกจากนี้ บทบรรณาธิการในสื่อจีนยังระบุว่า การที่ระบเคเบิ้ลใต้น้ำของตองกาได้รับความเสียหายนั้นทางการจีนช่วยเหลือได้ โดยเฉพาะหัวเว่ย ที่ปัจจุบันพยายามเข้าไปดำเนินธุรกิจในแปซิฟิกใต้  

"นอกจากให้ความช่วยเหลือด้านสิ่งของจำเป็นแล้ว จีนยังช่วยบรรดาประเทศเกาะในแปซิฟิกเหล่านี้ในส่วนของงานฟื้นฟูได้ด้วย เมื่อไม่กี่ปีมานี้ บริษัทจีนหลายแห่ง เช่น บริษัทหัวเว่ย ได้เข้าไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่หลายประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งการก่อสร้างเคเบิ้ลใยแก้วใต้น้ำเป็นส่วนที่สำคัญ

ที่ผ่านมา หัวเว่ยพยายามเข้าไปติดตั้งเคเบิ้ลในปาปัว นิวกินี และหมู่เกาะซาโลมอน แต่ไม่สามารถทำได้เพราะถูกสกัดจากรัฐบาลออสเตรเลีย

โกลบอล ไทม์ ระบุว่า ตะวันตกบางประเทศนำโดยสหรัฐพยายามสกัดกั้นความร่วมมือต่างๆเพราะมองว่าประเทศในแปซฟิกเหล่านี้เป็นสนามแข่งเพื่อสร้างอิทธิพลด้านภูมิรัฐศาสตร์และอ้างว่าเพื่อคานอิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในแปซิฟิก