ถอดรหัสโควิด-19 "โรคประจำถิ่น" แล้วไง? ใครว่าไม่แรง

ถอดรหัสโควิด-19 "โรคประจำถิ่น" แล้วไง? ใครว่าไม่แรง

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมามีการพูดกันมากว่า โควิด-19 กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น จนองค์การอนามัยโลกต้องเตือนว่า พูดแบบนี้ไม่ได้หมายถึงโควิดไม่ใช่โรคอันตรายอีกต่อไป

ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายฉุกเฉิน องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวในเวทีเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมผ่านระบบออนไลน์ หัวข้อความเท่าเทียมกันด้านวัคซีน ระบุ “ผู้คนพูดกันมากเรื่องโรคระบาดใหญ่กับโรคประจำถิ่น โรคประจำถิ่นมาลาเรียคร่าชีวิตคนหลายแสน โรคประจำถิ่นเอชไอวี ความรุนแรงประจำถิ่นในเมืองชั้นใน โรคประจำถิ่นโดยตัวมันเองไม่ได้หมายความว่าดี แค่หมายความว่าจะคงอยู่ตลอดไป”

ทั้งนี้ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กระจายได้อย่างรวดเร็วติดต่อง่ายกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้ามาก แต่ดูเหมือนรุนแรงน้อยกว่าสำหรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว นั่นกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายกันว่าโควิดกำลังเปลี่ยนจากการเป็นโรคระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่น ซึ่งตีความได้ว่าผ่านจุดอันตรายไปแล้ว

“สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือทำให้เกิดโรคน้อยโดยฉีดวัคซีนประชากรให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้มีใครต้องเสียชีวิต นี่คือการสิ้นสุดภาวะฉุกเฉินในทัศนะของผม นั่นคือการสิ้นสุดการระบาดใหญ่” ไรอันกล่าวและว่า เป็นไปได้ที่คลื่นการเสียชีวิตและเข้าโรงพยาบาลจะสิ้นสุดภายในสิ้นปี 2565 โดยใช้มาตรการสาธารณสุขนำโดยการฉีดวัคซีน แต่ “เรายังหยุดไวรัสไม่ได้ในปีนี้ เราอาจหยุดมันไม่ได้เลย การระบาดใหญ่ของไวรัสจะสิ้นสุดลงด้วยการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ สิ่งที่เราทำได้คือยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข”

ปัจจุบัน นอกจากวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทแจนส์เซนที่ฉีดเข็มเดียว วัคซีนตัวอื่นที่ WHO อนุมัติต่างฉีดสองเข็ม ซึ่งไรอันกล่าวถึงการฉีดเข็ม 3 และ 4 ด้วยเหมือนกันจึงจะถือว่าฉีดครบคอร์สเพื่อคงภูมิคุ้มกันเจ็บป่วยโควิดรุนแรง

“เมื่อความรู้พัฒนาไป เมื่อเราเห็นระบบภูมิคุ้มกันอิ่มตัวและตอบสนองต่อการติดเชื้อซ้ำหรือการฉีดวัคซีนเข็มเพิ่มเติม ในอนาคตการฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงอาจเป็นคอร์สละ 3 หรือ 4 เข็ม ซึ่งจะไม่เรียกว่าเข็มกระตุ้น จำเป็นต้องฉีด 3 หรือ 4 เข็มอยู่แล้วเพื่อพัฒนาภูมิคุ้มกันให้แข็งแกร่งยาวนาน ปกป้องการเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตในระยะยาว”