บ.ญี่ปุ่นเปิดศึกชิงคนเก่ง - ตั้งเป้ารับสมัครบุคลากรให้ได้ 50,000 ตำแหน่ง

บ.ญี่ปุ่นเปิดศึกชิงคนเก่ง - ตั้งเป้ารับสมัครบุคลากรให้ได้ 50,000 ตำแหน่ง

บริษัทญี่ปุ่นเปิดศึกชิงคนเก่งร่วมองค์กร ตั้งเป้าดูดคนดีมีฝีมือด้านเทคโนโลยีในเอเชียให้ได้ 50,000 คน ตามแผนริเริ่มเพิ่มขีดความสามารถภาคธุรกิจของรัฐบาล เน้นสร้างความแข็งแกร่งแก่ระบบซัพพลายเชนในอุตฯ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ

เวบไซต์นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่าการแข่งกันชิงบุคลากรที่มีความสามารถกำลังกำลังร้อนแรงทั่วทวีปเอเชียในขณะนี้ โดยเฉพาะประเทศสมาชิกในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็ว 

The Asia-Japan Investing for the Future Initiative ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยบรรดาบริษัทญี่ปุ่นให้ได้พนักงานที่มีคุณสมบัติตามที่บริษัทต้องการเข้าร่วมงานด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของบริษัทมากขึ้น

“ญี่ปุ่นต้องการเสนอโอกาสให้แก่แรงงานหนุ่มสาวที่มีความทะเยอทะยาน”โคอิชิ ฮากิอูดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) กล่าวในการประชุมทางออนไลน์ เมื่อวันจันทร์ (10 ม.ค.65)
 

ภายใต้ข้อริเริ่มใหม่นี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจะทำงานเพื่อเพิ่มจำนวนผู้จบการศึกษาให้เข้าสู่ระบบแรงงานมากขึ้น ภายใต้ความร่วมมือกับบรรดามหาวิทยาลัยทั้งในญี่ปุ่น และต่างประเทศ จากนั้นก็กระตุ้นให้บริษัทญี่ปุ่นว่าจ้างนักศึกษาที่เรียนจบโปรแกรมต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งมืออาชีพที่มีทักษะ ความชำนาญอื่นๆ ตลอดระยะ 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจะสร้างโอกาสมากขึ้นสำหรับศิษย์เก่าต่างชาติตามมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการฝึกอบรมด้านต่างๆ และเข้ารับการอบรมด้านข้อมูลข่าวสารโดยบริษัทชั้นนำสัญชาติญี่ปุ่น

นอกจากเกณฑ์บรรดามืออาชีพที่มีทักษะแล้ว โครงการริเริ่มนี้ยังช่วยบริษัทญี่ปุ่นสร้างระบบซัพพลายเชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ ในอนาคตที่คาดไม่ถึง 
 

ขณะที่ข้อบังคับที่เข้มงวดขึ้นเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 สร้างความปั่นป่วนและเสียหายแก่โรงงานผลิตทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดปัญหาแก่สายการผลิตหลักๆ ในกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นจะช่วยให้บริษัทต่างๆ สร้างกรอบงานที่อนุญาตให้พวกเขาสามารถแชร์ความเสี่ยงระบบซัพพลายเชน รวมทั้ง ตรวจสอบสินค้าคงคลัง และความสามารถด้านการผลิตได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น

โครงการริเริ่มนี้จะเน้นแก้ปัญหาให้แก่การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ การดูแลสุขภาพและอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ พร้อมทั้งตั้งเป้าที่จะสร้างแนวปฏิบัติในระบบซัพพลายเชนตัวอย่าง 100 แห่งในระยะ 5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากต้องพลาดโอกาสในการได้ชาวต่างชาติที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการเข้ามาร่วมองค์กรเพียงเพราะยืนยันว่าผู้สมัครงานต้องมีทักษะภาษาญี่ปุ่นอย่างดี

ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจของบริษัทให้บริการจัดหางานสองแห่งในญี่ปุ่น ระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นที่เรียกร้องให้บุคลากรระดับผู้เชี่ยวชาญต้องพูดและเขียนภาษาญี่ปุ่นได้อย่างดีเยี่ยมมีสัดส่วนกว่า 70% ด้วยกัน  ขณะที่ผู้สมัครงานที่มีคุณสมบัติตามที่บริษัทญี่ปุ่นกำหนดมีสัดส่วนไม่ถึง 40% 

เพราะฉะนั้น ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานญี่ปุ่นคือ รัฐบาลพยายามดึงดูดบรรดานักวิจัย วิศวกร และตำแหน่งอื่นๆ ที่ต้องมีคุณสมบัติสูงให้เข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น แต่ความพยายามนี้กลับสูญเปล่า เพราะบริษัทญี่ปุ่น กำหนดให้ลูกจ้างชาวต่างชาติต้องพูดภาษาญี่ปุ่นได้อย่างคล่องแคล่ว

ในสหรัฐและยุโรป บรรดาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมักถูกว่าจ้างให้ทำงานที่ต้องใช้ทักษะความชำนาญสูง การขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกในสาขาต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารกำลังสร้างแรงกดดันให้บริษัทญี่ปุ่นให้ปรับแนวคิดใหม่ในการรับสมัครพนักงานร่วมงานด้วย โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่มีความสามารถตามที่บริษัทต้องการ

เมติ ยังคาดการณ์ว่า ญี่ปุ่นจะเผชิญหน้าปัญหาแรงงานด้านไอทีขาดแคลนจำนวนมากถึง 790,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2573  โดย“ยูจิ โคบายาชิ” นักวิจัยอาวุโสจากเพอร์ซอล รีเสิร์ช อินสติติว อ้างถึงผลสำรวจเมื่อปี 2562 ของแจแปน สติวเดนท์ เซร์วิสเซส ออร์กาไนซ์เซชัน ที่บ่งชี้ว่า มีแค่ 36.9% ของนักเรียนต่างชาติในญี่ปุ่นที่ตัดสินใจทำงานในประเทศนี้หลังจากเรียนจบ เทียบกับเป้า 50% ที่รัฐบาลตั้งไว้

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์