สัมพันธ์สหรัฐ-จีนร้าวลึกแบนโอลิมปิกฤดูหนาว

สัมพันธ์สหรัฐ-จีนร้าวลึกแบนโอลิมปิกฤดูหนาว

สัมพันธ์สหรัฐ-จีนร้าวลึกแบนโอลิมปิกฤดูหนาว โดยสหรัฐยกระดับกดดันจีนที่มีการบังคับใช้แรงงานและละเมิดสิทธิมนุษยชนในมณฑลซินเจียง ทางตะวันตกของประเทศ โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยอุยกูร์

ความสัมพันธ์ทวิภาคีสหรัฐ-จีนยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐร้าวลึกยิ่งขึ้นแม้ไม่มีปมสงครามการค้าระหว่างกัน แต่เป็นปมการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐนำมาเป็นข้ออ้างแบนการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งปี 2522        

รัฐบาลสหรัฐของประธานาธิบไบเดน ยืนยันไม่ส่งผู้แทนอย่างเป็นทางการของสหรัฐเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงปักกิ่ง เดือนก.พ.ปีหน้า เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านจีนกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในมณฑลซินเจียง

“เจน ซากิ” โฆษกทำเนียบขาวระบุว่า แม้นักกีฬาสหรัฐยังคงได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จีน แต่รัฐบาลจะไม่ส่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลไปร่วมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในครั้งนี้ และสหรัฐจะใช้นโยบายนี้กับ“พาราลิมปิกเกมส์” หรือกีฬาคนพิการซึ่งจะจัดขึ้นในกรุงปักกิ่งด้วย

การกระทำของรัฐบาลสหรัฐ ถือเป็นการยกระดับกดดันจีนที่เจอข้อกล่าวหาต่างๆเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในมณฑลซินเจียง ทางตะวันตกของจีน โดยเฉพาะชาวอุยกูร์ ที่ถือเป็นชนกลุ่มน้อย
 

ตามปกติแล้ว สหรัฐมักส่งผู้แทนเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกตลอด อย่างกรณี “จิล ไบเดน” สุภาพสตรีหมายเลข 1 ที่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตสหรัฐร่วมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในกรุงโตเกียว 2020 ที่เลื่อนมาจัดขึ้นในช่วงฤดูร้อน 2021 เพราะการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

นิวซีแลนด์ก็จะไม่ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงร่วมงานแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งด้วยเช่นกัน แต่บอกว่าไม่เกี่ยวกับสหรัฐ โดยให้เหตุผลว่ากังวลเรื่องการเดินทางในช่วงนี้ ซึ่งโรคโควิด-19 ยังระบาดอยู่

“แกรนท์ โรเบิร์ตสัน” รองนายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ บอกว่า นิวซีแลนด์มีเหตุผลหลายข้อที่ไม่ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงร่วมงานโอลิมปิกที่ปักกิ่ง แต่เหตุผลหลักคือการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การเดินทางยังเป็นเรื่องที่ไม่สะดวก ซึ่งทางการนิวซีแลนด์ได้แจ้งเรื่องนี้ให้กับทางการจีนทราบแล้ว ตั้งแต่เดือนต.ค.

โรเบิร์ตสัน ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าการตัดสินใจไม่ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนิวซีแลนด์เข้าร่วมงานแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่สหรัฐตัดสินใจคว่ำบาตรทางการทูตไม่ส่งเจ้าหน้าที่รัฐเข้าร่วมงานแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ก็บอกว่าญี่ปุ่นจะตัดสินใจอีกครั้งว่าจะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในระดับใด โดยจะพิจารณาจากผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก หลังจากที่สหรัฐได้ประกาศบอยคอตต์การแข่งขันดังกล่าว

“เราจะตัดสินใจด้วยตัวเองโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก และรัฐบาลจะพิจารณาถึงผลกระทบทางการทูต และสิ่งที่จะกระทบต่อการแข่งขันโอลิมปิกด้วย"นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าว

เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา จีนเคยออกมาเรียกร้องให้ญี่ปุ่นสนับสนุนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว สหรัฐและชาติประชาธิปไตยอื่น ๆ เริ่มพิจารณาว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการทูตต่อการแข่งขันกีฬานี้หรือไม่

“จ้าว ลี่เจียน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน  กล่าวว่า “จีนได้ให้การสนับสนุนญี่ปุ่นในการจัดโตเกียวโอลิมปิกอย่างเต็มความสามารถในปีนี้ ฉะนั้นญี่ปุ่นจึงควรมีพื้นฐานเดียวกัน”

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน ยังเตือนสหรัฐด้วยว่า หากรัฐบาลสหรัฐคว่ำบาตรทางการทูตต่อการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ที่จีนเป็นเจ้าภาพในวันที่ 4 ก.พ. ปีหน้าด้วยการไม่ส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐมาร่วมงาน จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศ และจีนจะเตรียมใช้มาตรการที่เด็ดเดี่ยวตอบโต้

แต่การประกาศคว่ำบาตรของสหรัฐในครั้งนี้ยังไม่มากเท่าระดับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2523 ซึ่งอดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์สั่งห้ามทีมนักกีฬาสหรัฐเข้าร่วมการแข่งกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ซึ่งกรุงมอสโกเป็นเจ้าภาพเพื่อประท้วงการที่สหภาพโซเวียตในขณะนั้นส่งกำลังเข้าบุกอัฟกานิสถานในช่วงปลายปี 2522

ขณะที่จีน ซึ่งมีแผนจะจำกัดจำนวนผู้เข้าชมการแข่งกีฬาดังกล่าวอยู่แล้วเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับสื่อมวลชนของทางการจีนรายงานว่า ปักกิ่งจะไม่เชิญนักการเมืองของประเทศตะวันตกใดๆ ซึ่งขู่จะคว่ำบาตรการแข่งกีฬาครั้งนี้ และขณะนี้ก็ดูเหมือนว่ามีประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ในฐานะผู้นำของประเทศใหญ่เพียงประเทศเดียวที่ตอบรับคำเชิญของจีน

 แต่จีน ซึ่งเคยบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการนำประเด็นการแข่งขันกีฬามาเป็นประเด็นทางการเมืองก็เคยลงโทษองค์การกีฬาของสหรัฐมาก่อน รวมถึงสมาคมบาสเกตบอลอาชีพของสหรัฐ(เอ็นบีเอ)จากกรณีที่นักกีฬาบางคนแสดงท่าทีทางการเมืองซึ่งทำให้จีนไม่พอใจ

นอกจากสหรัฐ และนิวซีแลนด์แล้วมีรายงานว่าออสเตรเลียกับอังกฤษก็กำลังพิจารณาจะคว่ำบาตรการจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวของจีนด้วยเหมือนกัน และสำหรับสหรัฐนั้น ในปี 2571 นครลอสแองเจลิสในรัฐแคลิฟอร์เนียจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ทำให้เกิดคำถามว่าจีนจะมีวิธีตอบโต้ในเรื่องนี้อย่างไรและการตอบโต้ของจีนจะส่งผลกระทบถึงการที่ลอสแองเจลิสเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนหรือไม่

ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนมีความเห็นว่า จีนจะลงโทษประเทศที่คว่ำบาตรกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางการเมืองและการตอบโต้ด้านการค้า

แต่หากบริษัทใดไม่คว่ำบาตรกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวก็เสี่ยงที่จะเสียชื่อเสียงสำหรับผู้บริโภคในกลุ่มประเทศตะวันตก และชาวยุโรป แต่หากทำการคว่ำบาตร ก็เสี่ยงจะถูกปิดกั้นจากตลาดจีน