เอเปคหลังยุคโควิด-BCG ฟื้นฟู-เชื่อมโยงเศรษฐกิจ

เอเปคหลังยุคโควิด-BCG ฟื้นฟู-เชื่อมโยงเศรษฐกิจ

เอเปคหลังยุคโควิด-BCG เน้นฟื้นฟู-เชื่อมโยงเศรษฐกิจ ภายใต้ธีม “Open. Connect. Balance.” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล”

การเกิดโรคระบาดใหญ่ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาสร้างผลกระทบไปทั่วโลก ขณะเดียวกันก็เป็นจุดเปลี่ยนสร้างเมกะเทรนด์ครั้งใหญ่ทั้งเศรษฐกิจ การค้า การเงิน เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ภายใต้ธีม “Open. Connect. Balance.” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” ได้นำเสนอแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังยุคโควิด-19

“ธานี ทองภักดี” กล่าวว่า การประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องจากการประชุมเอเปคที่นิวซีแลนด์ โดยมุ่งเน้นการสร้างแผนภูมิอนาคต เพื่อก้าวข้ามวิกฤติต่อไปข้างหน้าเพราะจำเป็นต้องส่งเสริมเศรษฐกิจในระยะยาวให้มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม สมดุลและยั่งยืน

"เราเชื่อว่า แนวทางเศรษฐกิจ BCG จะช่วยนำเสนอแนวคิดที่ครอบคลุมเบื้องหลังในปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุม APEC2022 และจะทำให้เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจที่เปิดกว้างสำหรับทุกโอกาส เชื่อมต่อในทุกมิติ และสมดุลในทุกด้าน" ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าว 

ขณะเดียวกัน แนวคิดเศรษฐกิจ BCG จะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในทุกมิติ ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์และจัดการกับความไม่เท่าเทียมกัน และความไม่สมดุลโดยธรรมชาติที่ทำให้เศรษฐกิจของเราอ่อนแอลง

“ไทยมุ่งมั่นขับเคลื่อนความยั่งยืนและวาระการเติบโตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของเอเปค โดยการปรับขนาดและเร่งการดำเนินงานที่มีอยู่ และต่อยอดความก้าวหน้าในอดีตเพื่อส่งมอบผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม” ธานี กล่าว

และว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ APEC มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในฐานะเวทีเศรษฐกิจชั้นนำคือ บทบาทที่เป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดและความสามารถในการนำเสนอโซลูชั่นที่ใช้งานได้จริง และเป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการ รวมทั้งเป็นแหล่งมุมมองและข้อมูลจากคณะผู้เชี่ยวชาญจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายในปัจจุบัน ตั้งแต่รัฐบาลไปจนถึงภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และเยาวชน ล้วนมีความเกี่ยวข้องเพื่อให้แน่ใจว่า APEC สร้างความมีส่วนร่วมที่ตอบคำถามสำคัญในปัจจุบัน

ส่วน“เหลียว เลย์เหมย” อธิบดีกรมพลังงานและอุตสาหกรรม กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ มองบริบทการค้าการลงทุนในยุคหลังโควิด-19 ว่า การเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่สร้างแรงสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แต่เป็นจุดเปลี่ยนให้สังคมของทุกประเทศได้เรียนรู้การปรับตัวเพื่อความยั่งยืน ทั้งในเรื่องการเสริมสร้างขีดความสามารถทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศตนเอง ควบคู่กับการพึ่งพาระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีความสมดุลและได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม
 

ขณะที่“สุวิทย์ เมษินทรีย์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิกครั้งใหญ่ จะต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงในวันนี้ได้แก่ 1.การเปลี่ยนความคิด (Mindset) สู่การเป็นสร้างศูนย์กลางระบบนิเวศน์ (ecosystem centric) ทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุม สมดุล และยั่งยืนมากขึ้น

2.เปลี่ยนกลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคเอกชน เพราะปัจจุบันไม่อาจพูดเพียงเรื่องการเข้าถึงตลาดการลดกำแพงภาษีเท่านั้น แต่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม และเติบโตแบบสมดุล

3.โลกมีภารกิจร่วมกันในเรื่องการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน(SDG)17 ข้อ ซึ่งการประชุมเอเปคจะเป็นเวทีหนึ่งร่วมต่อจิ๊กซอว์ โดยใช้แนวทางเศรษฐกิจ BCG เป็นตัวเชื่อมโยงให้บรรลุเป้าหมายความยั่งยืน

"ทูตหลายชาติในยุโรปพูดตรงกันว่า ไทยเป็นชาติแรกที่นำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG สร้างการเชื่อมโยงให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และตอบโจทย์โลกที่กำลังเผชิญกับความไม่ยั่งยืนในหลายด้าน รวมทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะในส่วนเศรษฐกิจชีวภาพ เป็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ซึ่งแต่ละพื้นที่มีจุดเด่น และเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ล้วนเป็นโอกาสทางการค้าการลงทุนที่แตกต่างกัน" สุวิทย์ กล่าว

ดร.สุวิทย์ ยังกล่าวด้วยว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ภาครัฐจะมีบทบาทในเรื่องการระดมกองทุนสีเขียวให้ภาคธุรกิจทุกระดับได้ปรับตัวสู่เศรษฐกิจใหม่และให้ได้ประโยชน์ทั่วถึง เพราะการชี้แนะแต่แนวทาง แต่ขาดปัจจัยด้านงบประมาณเข้ามาสนับสนุน ก็ยากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ผู้แทนของเวียดนามสะท้อนความเห็นว่า เวียดนามแบ่งเป็นเหนือและใต้ ก็มีความหลากหลายสูง และมองว่า 21 เขตเศรษฐกิจมีความหลากหลายและโดดเด่นต่างกัน จึงไม่ควรมุ่งแต่แข่งขัน ขณะเดียวกันสามารถพึ่งพาตนเองและพลังท้องถิ่น (Local Empowerment) โดยไม่ต้องพึ่งแต่อุตสาหกรรมไฮเทคอย่างเดียว เพียงแต่ต้องต้องเติมเต็มจุดนี้ด้วยองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการทำงานร่วมกันของเครือข่ายเอเปค

“ในมุมของจีนและสหรัฐ แม้จะมีการแข่งขันทางเทคโนโลยี แต่หากมองผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ BCG จะเห็นว่าทุกประเทศมีโอกาสได้ประโยชน์ทั้งคู่” ดร.สุวิทย์ กล่าวและชี้ว่า BCG ยังตอบโจทย์โลกหลังโควิด เป็นเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ด้านสุขภาพ และสาธารณสุข นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหาร แรงงาน สิ่งแวดล้อม พลังงาน

ในอีกด้านหนึ่งของแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวยังตอบโจทย์ความยั่งยืนทางธุรกิจ ซึ่งเห็นว่า รัฐบาลของ 21 เขตเศรษฐกิจต้องลงทุนในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนภาคเอกชน สตาร์ทอัพ ประชาชนได้ปรับตัวให้ทันกับเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งการค้าอี-คอมเมิร์ซ ฟินเทค บิตคอยน์เพราะสิ่งนี้จะสร้างจุดเปลี่ยนเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21