เผยสาเหตุ WHO ข้ามอักษรกรีกสองตัวก่อนมาถึงโอมิครอน

เผยสาเหตุ WHO ข้ามอักษรกรีกสองตัวก่อนมาถึงโอมิครอน

การตั้งชื่อโควิดสายพันธุ์ใหม่ว่า “โอมิครอน” ทำให้เกิดความสับสนบางประการ เพราะต้องข้ามตัวอักษรกรีกไปถึงสองตัว

เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ตั้งแต่เดือน พ.ค. องค์การอนามัยโลก (WHO) ใช้ตัวอักษรกรีกเรียกสายพันธุ์โควิด-19 เรียงตามลำดับ โดยสายพันธุ์เดลตาโดดเด่นที่สุด ตามด้วยสายพันธุ์อื่นๆ อีก 8 ชื่อ เช่น เอปซิลอน ไอโอตา และแลมบ์ดา ที่ถึงขณะนี้ส่วนใหญ่อ่อนแรงกันไปแล้ว

เมื่อพบสายพันธุ์ล่าสุดB.1.1.529 ที่แอฟริกาใต้ในสัปดาห์ก่อน นักสังเกตการณ์คาดว่า ตัวอักษรกรีกลำดับต่อไปที่ต้องใช้ตั้งชื่อคือ “Nu” (นิว) แต่กลายเป็นว่าชื่อนิวถูกข้ามไปเช่นเดียวกับ Xi (ไซ) ข้ามมาใช้ โอมิครอน อักษรตัวที่ 15 เลย ซึ่ง WHO ได้อธิบายกับซีเอ็นเอ็นผ่านทางอีเมล

“Nu (นิว) อาจไปสับสนกับคำว่า new ได้ง่าย ๆส่วน Xi ไม่ใช้เพราะเป็นนามสกุล หลักการตั้งชื่อของ WHO แนะให้หลีกเลี่ยงสร้างความขุ่นเคืองให้กับกลุ่มวัฒนธรรม สังคม ประชาชาติ ภูมิภาค อาชีพ หรือเชื้อชาติใดๆ”

สำหรับตัวอักษร Xi แม้ออกเสียงแตกต่างแต่ก็เขียนเหมือนกับแซ่สี ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จนทำให้เกิดการคาดการณ์กันมากว่า ประธานาธิบดีสีอาจมีส่วนทำให้ WHO ต้องข้ามอักษรตัวนี้ไป

จีนพยายามแยกตัวเองออกจากการระบาดของโควิด-19 และตอบโต้ข้อกล่าวหาที่ว่าไวรัสถือกำเนิดที่เมืองอู่ฮั่น

เมื่อเดือน พ.ค. WHO อธิบายว่า การใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เรียกยาก จำยาก เสี่ยงรายงานผิด “ส่งผลให้ประชาชนใช้ัชื่อสถานที่ตรวจพบเป็นชื่อเรียกสายพันธุ์โควิด กลายเป็นตราบาปและเลือกปฏิบัติ”

เพื่อหลีกเลี่ยงรอยมลทิน WHO จึงไม่ระบุไวรัสเข้ากับภูมิภาคใดในโลก หลายคนเชื่อว่า การเรียกโควิด-19 ว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” และ “ไวรัสจีน” ทำให้เกิดการทำร้ายคนเชื้อสายเอเชีย

WHO แถลงบนเว็บไซต์ว่า WHO ใช้วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดในการตั้งชื่อโรคใหม่ ด้วยวัตถุประสงค์ลดผลกระทบไม่พึงประสงค์จากการตั้งชื่อที่อาจมีต่อการค้า การเดินทาง การท่องเที่ยว หรือสวัสดิภาพสัตว์" นี่คือเหตุผลว่าทำไมโควิดสายพันธุ์ล่าสุดจึงได้ชื่อว่า "โอมิครอน" และถ้ามีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอีก ยังมีอักษรกรีกอีก 9 ตัวให้ใช้ ตัวต่อไปคือ "Pi" (พาย)