ยูนิคอร์นอาเซียนผงาด ‘จีน-อินเดีย’ แข่งเดือด

ยูนิคอร์นอาเซียนผงาด  ‘จีน-อินเดีย’  แข่งเดือด

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา สตาร์ทอัพในอาเซียนยกระดับเป็นยูนิคอร์น มูลค่าไม่น้อยกว่า 1 พันล้านดอลลาร์มากขึ้น ได้แรงหนุนจากหลายปัจจัย เช่น ระดมทุนจากหุ้นนอกตลาดได้อย่างแข็งแกร่ง และการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง

เวบไซต์ สเตรตส์ ไทมส์ รายงานข้อมูลสตาร์ทอัพอาเซียนจากเครดิตสวิส เมื่อเดือนต.ค.ว่า เฉพาะ 2564 ปีเดียว สตาร์ทอัพ 19 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มูลค่าทะยานขึ้นไปอยู่เหนือ 1 พันล้านดอลลาร์

ในบรรดายูนิคอร์น 35 บริษัทของภูมิภาค เป็นสตาร์ทอัพสิงคโปร์ 15 บริษัท อินโดนีเซีย 11 บริษัทที่เพิ่งติดกลุ่มยูนิคอร์นสิงคโปร์ ล่าสุด เช่น คาร์โร ตลาดรถมือสอง และนินจาแวน บริษัทโลจิสติกส์

รายชื่อจากเครดิตสวิสไม่รวมสตาร์ทอัพที่อยู่ในกระบวนการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ เช่น ซูเปอร์แอพ “แกร็บ” ที่มีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์

ยูนิคอร์นอาเซียนราว 26% เป็นฟินเทค 20% เป็นอีคอมเมิร์ซ ตามด้วยโลจิสติกส์ (11%) อินเทอร์เน็ต (8%) เทคโนโลยี (8%) ยูนิคอร์นส่วนใหญ่เป็นโมเดลธุรกิจนำโดยผู้บริโภค โมเดลแบบธุรกิจสู่ธุรกิจมีน้อยมาก
 

รายงานเน้นย้ำว่า ขณะที่การระดมทุนของสตาร์ทอัพในภูมิภาคเป็นข้อตกลงหุ้นนอกตลาดมากกว่าในตลาดหลักทรัพย์ แนวโน้มอาจเปลี่ยนแปลงในเร็วๆ นี้ เนื่องจากตลาดกำลังให้มูลค่าสูงกับบริษัทเทคโนโลยีอาเซียน

ส่วนการเติบโตที่แข็งแกร่งของยูนิคอร์นอาเซียนจำนวนหนึ่งเครดิตสวิส อธิบายว่ามีหลายเหตุผล ได้แก่ คุณลักษณะทางประชากร ชนชั้นกลางขยายตัว สมาร์ทโฟนและการใช้ข้อมูลเพิ่มขึ้น และการเติบโตของการลงทุนหุ้นนอกตลาด

รายงานตั้งข้อสังเกตว่า บางประเทศในกลุ่ม 6 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม อยู่ในกลุ่มมีประชากรอายุน้อยสุดของโลก นั่นหมายความว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มรับเทคโนโลยีใหม่ได้มาก

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางเชื่อมโยงกับผลผลิตมวลรวมในประเทศต่อหัวเพิ่มขึ้นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา กิจกรรมหุ้นนอกตลาดจำนวนมากเคยมีศูนย์กลางที่สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย แต่เมื่อเร็วๆ นี้ มาเลเซีย และเวียดนามมีกิจกรรมมากขึ้น โดยทั่วไปสิงคโปร์ถูกมองว่าเป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับระดมทุน เนื่องจากระดับบรรษัทภิบาลสูง 

"เจฟฟรีย์ เซีย" หุ้นส่วน Quest Ventures กล่าวว่า มูลค่าสตาร์ทอัพแตกต่างกันไปจากหลายปัจจัย เช่น ขีดความสามารถของบริษัท และการเข้าถึงผลิตภัณฑ์

หากมองในระดับโลก เวบไซต์ jumpstartmag.com รายงานว่า เฉพาะปี 2564 มียูนิคอร์น 650 บริษัททั่วโลก มูลค่ารวมกัน 2.173 ล้านล้านดอลลาร์ ในระดับทวีปเอเชียต้องมองไปที่สองมหาอำนาจอินเดียและจีน

ข้อมูลจากเวบไซต์ sirfnews.com ระบุว่า ปี 2564 อินเดียสร้างยูนิคอร์น 33 บริษัท มากที่สุดนับถึงปัจจุบัน และมากกว่าจีนในช่วงเวลาเดียวกันโดยปี 2563 เป็นปีแรกที่อินเดียสร้างยูนิคอร์นได้มากกว่าจีน 17 บริษัทต่อ 16 บริษัท ยิ่งปี 2564 ยิ่งทำได้มากขึ้น ยูนิคอร์นอินเดีย 33 บริษัท จีน 19 บริษัท

กระนั้น จีนยังมียูนิคอร์นมากเป็นอันดับสองของโลก 177 บริษัท มากกว่าอินเดียที่มี 72 บริษัทถึงกว่าสองเท่า ในช่วงเวลาเพียง 5 ปี ระหว่างปี 2558-2562 จีนสร้างยูนิคอร์น 136 บริษัทตรงข้ามกับอินเดียที่จำนวนยูนิคอร์นเพิ่งเพิ่มขึ้นในช่วงหลัง ระหว่างปี 2554-2562 อินเดียสร้างยูนิคอร์นได้เพียง 22 บริษัทเท่านั้น

ภาคส่วนที่มียูนิคอร์นเพิ่มขึ้นในปีนี้ค่อนข้างเหมือนกันในทั้งสองประเทศ ปีนี้ยูนิคอร์นอินเดีย 9 บริษัทมาจากฟินเทคและบริการทางการเงินตามด้วยกิจการแอพพลิเคชั่นและโครงสร้างพื้นฐาน 7 บริษัท ธุรกิจเพื่อผู้บริโภค 6 บริษัท

ขณะที่ 4 ยูนิคอร์นจีนในปีนี้ มาจากกิจการแอพพลิเคชั่น และโครงสร้างพื้นฐาน ตามด้วยฟินเทค เทคโนโลยีอาหารและเกษตร และธุรกิจเพื่อผู้บริโภคประเภทละ 3 ราย

ความโดดเด่นของจีนในการสร้างยูนิคอร์นเห็นได้จาก เวบไซต์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ รายงานเมื่อปลายเดือนต.ค.ว่า เมืองเซินเจิ้นทางภาคใต้ของจีน ที่ได้รับการขนานนามว่าซิลิคอน วัลเลย์ แดนมังกร ร่างแผนบ่มเพาะยูนิคอร์นให้ได้มากขึ้นและช่วยให้บริษัทเหล่านั้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ในช่วงที่เซินเจิ้นกำลังแข่งกับปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และหางโจว เป็นฐานที่มั่นเบอร์หนึ่งของสตาร์ทอัพเทคโนโลยีมูลค่าสูงในจีน

ตามแผนการของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งเซินเจิ้น เมืองนี้ต้องการสร้างแหล่งรวมยูนิคอร์นในหลากหลายสาขา อาทิ ไบโอเทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีควอนตัม และอุตสาหกรรมเกิดใหม่อื่นๆ ที่มีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์

รัฐบาลท้องถิ่นเซินเจิ้น กล่าวว่า จะให้การสนับสนุนด้านการเงินนานัปการแก่สตาร์ทอัพที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ เช่น ส่งเสริมให้กองทุนรัฐลงทุนโดยตรงในบริษัท หรือมีส่วนร่วมบ่มเพาะกิจการ ทั้งยังให้คำมั่นสนับสนุนยูนิคอร์นกระจายหุ้น หรือช่วยเหลือบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว ให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดจีน อีกหนึ่งเป้าหมายคือ ดึงดูดยูนิคอร์นต่างชาติเข้ามาตั้งสาขาในเซินเจิ้น

นอกจากนี้ ทางการเซินเจิ้นจะจับมือกับกลุ่มคลังสมองและกองทุนร่วมลงทุน (วีซี) ร่างมาตรฐานเพื่อระบุและประเมินหายูนิคอร์นอนาคตไกล ที่จะได้รับชุดทรัพยากรสนับสนุนพิเศษแบบกำหนดเองได้จากรัฐบาล นักลงทุน และฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยทางการเซินเจิ้นเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อแผนการดังกล่าวจนถึงวันที่ 21 พ.ย.

ทั้งนี้ เมืองเซินเจิ้น ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเลือกให้เป็น “เมืองสังคมนิยมต้นแบบ” ในปี 2562 ถือเป็นสนามทดสอบการปฏิรูปมุ่งเน้นระบบตลาดของจีน จากเมื่อไม่กี่สิบปีก่อนเป็นแค่หมู่บ้านชาวประมงเงียบเหงา ตอนนี้กลับเป็นที่ตั้งของบริษัทไฮเทคราว 14,000 บริษัท

รวมถึงบริษัทใหญ่สุดของประเทศอย่างหัวเว่ย เทคโนโลยี่ และแซดทีอี หรือยักษ์อินเทอร์เน็ตอย่างเทนเซ็นต์ โฮลดิ้งส์ และวีแชต บริษัทวิดีโอเกมทำรายได้มากที่สุดในโลก

ก่อนหน้านี้ เซินเจิ้นเคยประกาศว่าจะลงทุนกว่า 1.09 แสนล้านดอลลาร์ วิจัยและพัฒนาด้านไฮเทคใน 5 ปีนี้ เพื่อยกระดับตนเองเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของจีน

กล่าวได้ว่า ด้วยความเป็นประเทศใหญ่จีนจึงต้องใช้วิธีให้เมืองต่างๆ สร้างยุทธศาสตร์ผลิตยูนิคอร์นของตนเอง แต่ในภาพรวมไฟแนนเชียล ไทม์ส มองว่า การที่จำนวนยูนิคอร์นจีนลดลงในช่วงหลังอาจเป็นเพราะรัฐบาลปักกิ่งพยายามควบคุมบริษัทและผู้ประกอบการเอกชนป้องกันการผูกขาด

การเน้นย้ำสโลแกน “ความมั่งคั่งร่วมกัน” ให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำที่สูงมากในจีน รวมถึงเน้นอุดมการณ์สังคมนิยมตามคุณลักษณะของจีน ยิ่งเพิ่มความกังวลให้กับนักลงทุน

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์