"ยูนิคอร์น" หมุดหมายแห่งโอกาส ดัน "ไทย" สู่เศรษฐกิจดิจิทัล

"ยูนิคอร์น" หมุดหมายแห่งโอกาส ดัน "ไทย" สู่เศรษฐกิจดิจิทัล

ประเทศไทยในสายตาของนักลงทุนทั่วโลกขณะนี้มีความโดดเด่น และน่าสนใจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมียูนิคอร์นเกิดใหม่ถึงสามราย ได้แก่ Flash Express และ Ascend Money และตามมาด้วยน้องใหม่สุดๆ อย่าง Bitkub ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนยูนิคอร์นกว่า 800 ตัวทั่วโลก

รายงานล่าสุดของ CB Insights การลงทุนในระดับ Global Venture Funding ทำให้เกิดจำนวน ยูนิคอร์น ใหม่เพิ่มขึ้น 127 บริษัท จากทั้งหมด 848 บริษัท ซึ่งเป็นยูนิคอร์นจากเอเชีย 30 บริษัท ทำให้เห็นเงินทุนในเอเชียเพิ่มขึ้น 95% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 50,200 ล้านดอลลาร์ และมีส่วนแบ่งจากตลาดเงินทุนโลกเติบโตจาก 26% ในไตรมาส 2 เป็น 32% ในไตรมาส 3 ของปีนี้

เส้นทางยูนิคอร์นของธุรกิจไทย

“มนสินี นาคปนันท์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า การลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย ทั้งจาก นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ และการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อนำมาเสริมศักยภาพในการทำธุรกิจรอบด้านของภาคเอกชน
 

ปัจจุบัน มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทยมีสัดส่วนน้อยกว่า 20% ของจีดีพี และคาดว่า จะสามารถเติบโตเป็นมากกว่า 25% ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า (อ้างอิงจาก บีโอไอ) สอดคล้องแนวโน้มการขยายตัวเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าทะยานถึง 300,000 ล้านดอลลาร์ หรือเติบโตเกือบ 3 เท่าภายในปี 2568 สถานภาพของไทย จึงโดดเด่นในฐานะประเทศหลักของกลุ่มอาเซียน 

ทั้งแนวโน้มนี้ ยังกระตุ้นบริษัทผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมต่างๆ เร่งพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างบริการรองรับความต้องการ และจัดการเส้นทางประสบการณ์ (Digital Journey) ของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น 

"มุมหนึ่งก็หมายถึงโอกาสของสตาร์ทอัพและบริษัทด้านเทคโนโลยี ที่มีความพร้อมและตอบโจทย์ธุรกิจที่จะได้รับความสนใจจากบริษัทขนาดใหญ่ทั้งในแง่การร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ และดึงดูดการลงทุนเพื่อก้าวกระโดดเป็นยูนิคอร์น เพื่อตอบรับการเติบโตดังกล่าว"
 

เส้นทางฟินเทค-บริการดิจิทัล

มนสินี กล่าวต่อว่า เมื่อภูมิทัศน์ของตลาด การแข่งขัน และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป มีเทคโนโลยีเป็นปัจจัยเร่ง จะเห็นได้ว่าผู้เล่นจากหลากหลายอุตสาหกรรมได้ก้าวข้ามเซ็กเม้นท์ตลาดมาลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจเดิม เช่น การลงทุนของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในธุรกิจสตาร์ทอัพ การจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างธนาคารหรือบริษัทประกันภัยหรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกับผู้ให้บริการดิจิทัลวอลเล็ท เพื่อนำนวัตกรรมฟินเทค หรือภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่เปิดรับสกุลเงินคริปโตเพื่อสร้างสีสันในตลาด สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นแนวโน้มการปฏิวัติวงการเทคโนโลยีและบริการทางการเงินไปสู่ยุคใหม่

การศึกษา Fintech Adoption 2021 จัดทำโดย App Annie และ EY วิเคราะห์ผู้เล่นอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในอาเซียนเปิดเผยว่า ผู้ประกอบการที่เติบโตเร็วที่สุดหลายรายใช้กลยุทธ์การเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการทางการเงินที่สร้างโอกาสสมประโยชน์ (Win-Win) กับทั้งสองฝ่าย การเป็นพันธมิตรธุรกิจระหว่าง Financial และ Non-Financial ทำให้ต้องร่วมกันพิจารณาโอกาส ความเสี่ยงและผลตอบแทนของการทำงานร่วมกันอย่างถี่ถ้วน ช่วยกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

สูตรปูทางสู่ความสำเร็จ

ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ๆ ในอาเซียนกำลังขยายบริการ TechFin ไปพร้อมกับมองหาพันธมิตรในกลุ่มฟินเทค เพื่อผสานความแข็งแกร่งระหว่างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและอีวอลเล็ท เพื่อขยายฐานผู้ใช้ร่วมกัน และผสานความสามารถในการนำดาต้ามาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ ในแบบ Win-Win ตลอดทั่วทั้งระบบนิเวศ

ผู้ให้บริการฟินเทค เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญกับในการเพิ่มมูลค่าบริการของสถาบันการเงิน รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงบริการ และตอบรับความต้องการของผู้คนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินรูปแบบเดิมๆ ให้ได้ประโยชน์จากบริการทางการเงินหลากหลายรูปแบบในแอพเดียวนอกจากการจ่ายและโอน เช่น การฝากเงิน หรือการซื้อประกัน หรือการลงทุนในกองทุนต่าง ๆ หรือการซื้อหุ้น เป็นต้น

"สถานะยูนิคอร์นของสตาร์ทอัพในไทย จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่เม็ดเงินที่ได้รับจากผู้ลงทุน แต่เป็นสัญญาณตัวชี้วัดที่แสดงถึงศักยภาพของธุรกิจที่มีการเติบโตรวดเร็ว กล้าคิด กล้าสร้างโอกาสและความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งเปิดรับความร่วมมือต่างๆ ซึ่งอาจรวมถึงศักยภาพในการเติบโตในต่างประเทศด้วย ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกมาสู่ประเทศ เพื่อก้าวไปสู่มิติของเศรษฐกิจดิจิทัล"  มนสินี กล่าว