สหรัฐสั่งซื้อยาแพ็กซ์โลวิดหลายล้านโดส

สหรัฐสั่งซื้อยาแพ็กซ์โลวิดหลายล้านโดส

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐได้สั่งซื้อยาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) ซึ่งเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์จำนวนหลายล้านโดส หลังบริษัทเปิดเผยว่า ยาดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

"หากได้รับการอนุมัติจากเอฟดีเอ เราก็จะมียาสำหรับการรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในไม่ช้า โดยเราได้สั่งซื้อยาดังกล่าวจำนวนหลายล้านโดสแล้ว และยาตัวนี้จะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยปกป้องประชาชนจากผลลัพธ์อันเลวร้ายของโควิด-19" ปธน.ไบเดน กล่าว

ด้านนายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีสาธารณสุขของอังกฤษ กล่าวชื่นชม "ผลการทดลองที่เหลือเชื่อ" สำหรับ ยาแพ็กซ์โลวิด

"หากได้รับการอนุมัติ ยาตัวนี้จะเป็นอาวุธสำคัญอีกอย่างหนึ่งของเราในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนของเราและการรักษาด้วยยาตัวอื่น รวมถึงยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกของโลกที่ให้การอนุมัติในสัปดาห์นี้" นายจาวิด กล่าว

ทั้งนี้ อังกฤษได้สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จำนวน 480,000 คอร์สในเดือนที่แล้ว ขณะที่สั่งซื้อยาแพ็กซ์โลวิดจำนวน 250,000 คอร์ส

บริษัทไฟเซอร์แถลงในวันนี้ว่า ผลการทดลองในระยะที่ 3 สำหรับยาแพ็กซ์โลวิด พบว่า ยาดังกล่าวสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 89% โดยสูงกว่ายาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งมีประสิทธิภาพเพียง 50%

อ่านข่าว : ต่อคิวด่วน! "นายกฯ" สั่ง สธ. ซื้อยารักษา "โควิด-19" จาก "บ.ไฟเซอร์-เมอร์ค"

ไฟเซอร์เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้ยุติการทดลองแล้ว ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิม หลังพบว่ายาดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และบริษัทจะส่งผลการทดลองดังกล่าวให้แก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) หลังจากที่ไฟเซอร์ได้ยื่นเรื่องขออนุมัติการใช้ยาดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินต่อเอฟดีเอเมื่อเดือนต.ค.

 

ไฟเซอร์ เปิดเผยว่า อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองดังกล่าวมีจำนวน 1,219 คน โดยเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงถึงปานกลาง และมีความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 ซึ่งได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และการมีอายุมากกว่า 60 ปี

ผลการทดลองพบว่า หากผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับยาของไฟเซอร์ภายในเวลา 3 วันหลังมีอาการ จะมีจำนวนเพียง 0.8% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่มีผู้เสียชีวิตภายใน 28 วันหลังจากที่ได้รับยา ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกจำนวน 7% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 7 คน

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับยาของไฟเซอร์ภายในเวลา 5 วันหลังมีอาการ จะมีจำนวน 1% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกจำนวน 6.7% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 10 คน