รู้จัก “ฟินฟลูเอนเซอร์” กูรูการลงทุนติ๊กต็อก

รู้จัก “ฟินฟลูเอนเซอร์” กูรูการลงทุนติ๊กต็อก

การหาข้อมูลตลาดหุ้นสมัยนี้ทำได้ง่ายขึ้นใช้วิธีโซเชียลมีเดียฟังอินฟลูเอนเซอร์ให้คำแนะนำทางการเงิน แต่บรรดาคลิปวิดีโอที่ออกมาจำนวนมากทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจผิด

ปัจจุบันกูรูด้านการลงทุนทั่วโลกเป็นคนในวัย 20 เศษๆ กำลังสร้างฐานผู้ชมมหาศาลในยูทูบ อินสตาแกรม และติ๊กต็อก ด้วยการให้คำแนะนำเคล็ดลับจัดการการเงินให้ดีขึ้น

ติ๊กต็อก แอพพลิเคชั่นที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดประจำปี 2564 อาจเป็นที่รู้จักในแง่ของคลิปเต้นหรือสูตรอาหารเปิบพิสดาร แต่โพสต์ที่เรียกว่า “ฟินฟลูเอนเซอร์” หรืออินฟลูเอนเซอร์ทางการเงินกลับได้รับความนิยมอย่างไม่น่าเชื่อ

แฮชแท็ก“StockTok” มีผู้ชม 1.7 พันล้านวิว ขณะที่ “FinTok” (การเงินติ๊กต็อก) ได้กว่า 500 ล้านวิว คำที่เกี่ยวข้องกับ “การลงทุน” มียอดวิวหลายล้านหรือหลายพันล้านขึ้นอยู่กับว่าใช้ภาษาใด

ควีนี แทน ฟินฟลูเอนเซอร์ชาวออสเตรเลีย วัย 25 ปี เผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า น่าเสียดายที่เมื่อหกปีก่อนตอนที่เธอเริ่มเข้าสู่โลกของการลงทุนใหม่ๆ ยังไม่มีติ๊กต็อก ตอนนั้นส่วนใหญ่เธอหาความรู้จากหนังสือ

ควีนีมีบัญชีติ๊กต็อกชื่อ“Invest With Queenie” ผู้ติดตาม 100,000 คน ในอินสตาแกรมและยูทูบอีกหลายหมื่นคน

เธอถ่ายคลิปในห้องนั่งเล่นในซิดนีย์ วิดีโอของเธอมีตั้งแต่อธิบายวิธีการลงทุนง่ายๆ ไปจนถึงบทเรียนทางการเงินที่ได้จากซีรีส์ดัง “สควิดเกม” เธอก็เหมือนกับฟินฟลูเอนเซอร์คนอื่นๆ โพสต์ของเธอสร้างความทะเยอทะยาน ควีนีมีสินทรัพย์ประมาณ 400,000 ดอลลาร์ และแนะนำให้ผู้ชมลงทุนตั้งแต่ยังหนุ่มสาวเหมือนเธอเองเพื่อจะได้ร่ำรวยมากขึ้นแต่แทนย้ำว่าความสำเร็จของตนมาจากใช้ชีวิตอย่างประหยัดแล้วลงทุนอย่างชาญฉลาด

ตอนอายุ 19 ปีควีนีเคยจนสุดๆ “ชีวิตช่วงนี้สอนให้ฉันรู้จักจัดสรรการใช้เงิน สร้างมูลค่าให้กับเงิน” ถึงวันนี้ควีนียังคงใช้ชีวิตเรียบง่ายและไม่มีแผนซื้อแมนชั่นในเร็ววันนี้

แอนเดรส การ์ซา ฟินฟลูเอนเซอร์ชาวเม็กซิกัน มีคนติดตามเกือบ 1 ล้านคน ได้ใบรับรองที่ปรึกษากลยุทธ์การลงทุนวิดีโอของเขาได้รับความนิยมในหมู่คนหนุ่มสาวที่อยากได้ไอเดียการลงทุนจากคนรุ่นราวคราวเดียวกัน สื่อสารบนแพลตฟอร์มอย่างติ๊กต็อกได้อย่างเข้าใจ

“คนอย่างผมทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องสนุก” การ์ซา วัย 22 ปีกล่าวกับเอเอฟพีจากบ้านในเมืองมอนเทอร์เรย์ เขามองว่าโซเชียลมีเดียช่วยให้เข้าถึงความมั่งคั่งได้กว้างขวางขึ้น

“ระบบการเงินมักทิ้งนักลงทุนธรรมดาๆ ไว้ข้างหลัง แต่ตอนนี้ใครๆ ก็ลงทุนได้”

คนจำนวนมากอย่างน้อยๆ ก็ในโลกตะวันตกมองว่าคนมิลเลนเนียลและเจน Z มักใช้เงินไม่เป็น ซึ่งพูดแบบนี้ออกจะไม่เป็นธรรมเนื่องจากคนรุ่นนี้เกิดหลังคนรุ่นเบบี้บูม แต่กระแสหาความรู้ด้านการเงินด้วยตนเองช่วยลบความคิดแบบเหมารวมนี้

ควีนีคิดว่า “เจ๋งมากที่หลายๆ คนรู้สึกมีพลังที่จะเริ่มลงทุน แต่อีกด้านหนึ่งเรื่องหลอกลวงก็เยอะเหมือนกัน” เช่น ฟินฟลูเอนเซอร์บางคนข้องเกี่ยวกับการปั่นราคาสินทรัพย์ พอราคาสูงก็เทขาย

ความน่าเชื่อถือของคลิปวิดีโอเหล่านี้ก็มีคำถามด้วยเช่นกัน คณะกรรมการกำกับดูแลตั้งแต่สเปนไปจนถึงนิวซีแลนด์กระตุ้นให้คนหนุ่มสาวระมัดระวังถ้าจะทำตามคำแนะนำเหล่านี้ แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี “แพลกซ์ฟูล” พบว่า ราว 1 ใน 7 ของวิดีโอติ๊กต็อกทำให้เกิดการเข้าใจผิด

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์