นักเศรษฐศาสตร์เตือนจีนเจอภาวะศก.ชะงักงัน

นักเศรษฐศาสตร์เตือนจีนเจอภาวะศก.ชะงักงัน

นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเข้าสู่ภาวะชะงักงัน (Stagflation)หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(พีเอ็มไอ)ภาคการผลิตของจีนในเดือนต.ค. ขยับลงมาอยู่ที่ 49.2 จากระดับเดือนก.ย.ที่ 49.6

"อุปทานด้านพลังงานที่ยังตึงตัว ประกอบกับราคาวัตถุดิบปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดัชนีพีเอ็มไอภาคการผลิตของจีนในเดือนต.ค.ปรับตัวลง ทำให้เกิดความกังวลว่า จีนกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน"จาง จี้เหว่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากพินพอยท์ แอสเส็ต แมเนจเมนท์ ระบุ

จาง กล่าวเสริมว่า ดัชนีพีเอ็มไอภาคการผลิตของจีนปรับตัวลงอยู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการตีพิมพ์ดัชนีนี้ในปี 2548 ไม่นับช่วงเกิดวิกฤติการเงินโลกปี 2551 และการระบาดหนักของโรคโควิด-19 ในเดือนก.พ.ปีที่แล้ว ส่วนดัชนีราคาผลผลิต(พีพีไอ)เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่มีการตีพิมพ์เมื่อปี 2559 

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ เป็นคำที่เกิดจากการรวมตัวกันของคำว่า Stagnant ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจชะงักงัน และ Inflation ซึ่งหมายถึงเงินเฟ้อ หรือแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อและการว่างงานเพิ่มขึ้นในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปชะลอตัวลง

 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมาร์กิตและไฉซิน เผยผลสำรวจที่บ่งชี้ว่า ดัชนีพีเอ็มไอ ภาคการผลิตของจีนในเดือนต.ค.ดีดตัวขึ้นแตะระดับ 50.6 จากระดับ 50.0 ในเดือนก.ย. และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 50.0

 ผลสำรวจระบุว่า ภาคการผลิตของจีนกลับมาฟื้นตัวคึกคักมากที่สุดในรอบ 4 เดือน โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง แต่ภาคการผลิตของจีนก็ยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงปัญหาวิกฤตพลังงานในประเทศ

เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัวลงหลังจากที่เคยฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในหลายพื้นที่ของประเทศ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ปัญหาคอขวดด้านอุปทาน และวิกฤตพลังงานซึ่งฉุดรั้งการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
 

“เราเห็นภาวะชะงักงันทางด้านอุตสาหกรรมในจีนอย่างชัดเจนเพราะในขณะที่ดัชนีพีเอ็มไอภาคการผลิตปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง(จากผลสำรวจของไฉซิน)แต่ดัชนีราคาก็เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน เพราะฉะนั้นภาคอุตสาหกรรมของจีนจึงอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากมาก”เรย์มอนด์ ยุง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำจีนแผ่นดินใหญ่ของเอเอ็นซี กล่าวในรายการ “Squawk Box Asia”ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี เมื่อวันจันทร์ (1 พ.ย.)

ในส่วนของวิกฤตพลังงานนั้น สำนักงานบริหารคลังสำรองยุทธศาสตร์และอาหารแห่งชาติของจีน (เอ็นเอฟเอสอาร์เอ) แก้ปัญหาด้วยการระบายน้ำมันเบนซินและดีเซลจากคลังสำรอง เพื่อเพิ่มอุปทานในตลาดน้ำมัน และช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันในบางภูมิภาค

การระบายน้ำมันออกจากคลังสำรองในครั้งนี้เป็นไปตามสถานการณ์อุปสงค์และอุปทานของตลาดน้ำมันภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา

โฆษก“ซิโนเปค คอร์ป” ซึ่งเป็นบริษัทกลั่นน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของจีน บอกว่า บริษัทวางแผนจะใช้กำลังการกลั่นน้ำมันอย่างเต็มศักยภาพในเดือนพ.ย. และเพิ่มอุปทานน้ำมันดีเซลขึ้นอีก 29% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าสถานีบริการจะมีน้ำมันเพียงพอ

เดือนก.ย.ที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐบาลจีนเปิดเผยว่า จีนจะระบายน้ำมันดิบออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (เอสพีอาร์) โดยจะดำเนินการผ่านการประมูลสาธารณะแบบเป็นขั้นเป็นตอน และมีเป้าหมายที่จะช่วยให้โรงกลั่นของจีนสามารถควบคุมต้นทุน

ขณะที่ รัฐบาลจีนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศในปี 2564 จะขยายตัว 6% ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะเติบโตที่ 8% ส่วนธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี)คาดการณ์ว่าน่าจะขยายตัวที่ 8.1% 

ส่วนเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 3 ของปีนี้ เติบโตลดลง โดยโตแค่ 4.9% จากปัจจัยลบหลายเรื่อง ทั้งเรื่องนโยบายรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคุมไม่อยู่ การขาดแคลนพลังงาน  และแรงกดดันจากภาคอสังหาริมทรัพย์

เมื่อพิจารณาภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่าอ่อนแอลง จึงไม่น่าแปลกใจที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์เกิดความกังวลและออกมาแสดงความเห็นในเชิงส่งสัญญาณเตือนแบบนี้