เปิดภารกิจ “อินเดีย” พิชิตเน็ต ซีโร่ อย่างยั่งยืน

เปิดภารกิจ “อินเดีย”  พิชิตเน็ต ซีโร่ อย่างยั่งยืน

ทั่วโลกจับตาแผนดำเนินงานเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของอินเดีย ในฐานะที่เป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อับดับ 6 ของโลก และเป็นประเทศปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับสามของโลก รองจากจีนและสหรัฐ

‘สุจิตรา ดูไร’ เอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า ในช่วงเวลาที่โลกมุ่งมั่นแสดงความมีส่วนร่วมต่อการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26นายกรัฐมนตรีนาเรนทรา โมดีแห่งอินเดีย จะใช้โอกาสนี้เพื่อพบปะและหารือกับผู้นำประเทศต่างๆ ในระหว่างการประชุมระดับผู้นำโลกของ COP26 ในวันที่ 1-2 พ.ย. 2564 

นายกรัฐมนตรีโมดี ให้ความสำคัญกับขนบธรรมเนียมวิถีชีวิตของอินเดียสู่แนวทางกลมกลืนกับธรรมชาติ รวมถึงบอกเล่าการดำเนินงานของประเทศที่ต้องใช้ความพยายามสูง ในการเพิ่มพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน  ประสิทธิภาพด้านพลังงาน รวมถึงการปลูกป่า และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ

"เป็นเวลานานแล้วที่อินเดีย ประเทศแนวหน้าในเรื่องการตระหนักรู้และดำเนินงานเพื่อหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแรงผลักดันนี้ไม่ได้มาจากการตระหนักถึงผลกระทบที่ร้ายแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่ยังจากค่านิยมทางอารยธรรมในเรื่องวิถีชีวิตที่กลมกลืนไปกับธรรมชาติ แม้จะประสบปัญหาด้านการพัฒนาประเทศต่างๆ แต่เราได้พยายามทุกวิถีทางที่จะเพิ่มพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน" สุจิตรากล่าว 

 

เปิดภารกิจ “อินเดีย”  พิชิตเน็ต ซีโร่ อย่างยั่งยืน

ในการประชุมสุดยอด COP เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นายกฯโมดีเน้นย้ำว่า อินเดียจะไม่เพียงยับยั้งความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่จะทำให้เกิดผลในทางกลับกัน พร้อมกันนี้ อินเดียจะไม่ทำเพียงแค่เสริมสร้างขีดความสามารถใหม่ๆ แต่จะเป็นสะพานนำมาซึ่งสิ่งแวดล้อมโลกที่ดียิ่งขึ้น 

อินเดียให้การสนับสนุนความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ การลดความเสื่อมโทรมของดิน การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การนำรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ การทำฟาร์มออร์แกนิก การผลิตก๊าซชีวภาพ การอนุรักษ์พลังงานหรือการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด

 

เปิดภารกิจ “อินเดีย”  พิชิตเน็ต ซีโร่ อย่างยั่งยืน

วันนี้ อินเดียสามารถผลิตพลังงานทดแทนสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก  มีกำลังการผลิตพลังงานลมสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และยังผลิตพลังงานแสงอาทิตย์สูงสุดเป็นอันดับ 5 ของโลกด้วย  ขณะนี้อินเดียกำลังดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตพลังงานทดแทนในระดับ 450 กิโลวัตต์ ภายในปี 2573

ในปีนี้ อินเดียได้ติดตั้งพลังงานทดแทนไปแล้ว 100 กิโลวัตต์ และขณะนี้ เรากำลังดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหม่ด้านพลังงานทดแทน นั่นคือ 450 กิโลวัตต์ 

 

เปิดภารกิจ “อินเดีย”  พิชิตเน็ต ซีโร่ อย่างยั่งยืน

สุจิตรา เล่าวว่า สวนพลังงานทดแทนที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการไฮบริดพลังงานแสงอาทิตย์และลม กำลังการผลิต 30 กิโลวัตต์อยู่ในรัฐคุชราต ทางภาคตะวันตกของอินเดีย   ในระหว่างนี้กำลังติดตั้งอุปกรณ์ผลิตพลังงานทดแทนให้แล้วเสร็จ

ขณะเดียวกัน อินเดียให้การสนับสนุนโครงการริเริ่มต่างๆ ของโลก เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงพันธมิตรด้านพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างประเทศ (International Solar Alliance) ได้ดำเนินงานร่วมกับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรแนวร่วมเพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นต่อภัยพิบัติ (CDRI) และกลุ่มผู้นำเพื่อการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม (LeadIT) ซึ่งได้ทำร่วมกับประเทศสวีเดน

อินเดียยังมุ่งผลักดันการใช้ยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าและไร้มลพิษ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมสำหรับการลงทุนในสาขาใหม่ๆ โดยอินเดียเป็นหนึ่งใน 16 ประเทศสมาชิกของโครงการยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles Initiative) ซึ่งเป็นการประชุมเชิงนโยบายระหว่างรัฐบาล มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งให้เกิดการริเริ่มและการการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 

ในอีกด้านหนึ่ง การรถไฟอินเดียตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2573 ซึ่งจะทำให้การรถไฟอินเดียกลายเป็น “การรถไฟสีเขียว” แห่งแรกของโลก

นอกจากนี้ อินเดียยังดำเนินภารกิจด้านการใช้พลังงานไฮโดรเจนแห่งชาติ เพื่อให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวของโลก โดยการดำเนินโครงการตามนโยบายต่างๆ ที่ยาวนานของอินเดีย ทำให้ปริมาณพื้นที่ป่า จำนวนอุทยานแห่งชาติ เสือ และสิงโตเอเชียในอินเดียเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย 

 

เปิดภารกิจ “อินเดีย”  พิชิตเน็ต ซีโร่ อย่างยั่งยืน

รัฐบาลอินเดียมีความมุ่งมั่นสานต่อมาตรการปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  มองว่า ประเด็นท้าทายในขณะนี้เป็นเรื่องขาดแคลนการสนับสนุนทางการเงิน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาแล้ว  ซึ่งในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ ถึงแม้ว่าจะให้คำมั่นสัญญาในเรื่องนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า

ส่วนพื้นที่ที่มีคาร์บอนลดต่ำลงในภาพรวมของประเทศกำลังพัฒนายังคงลดลงอย่างรวดเร็ว  ขณะที่อินเดีย สัดส่วนการปล่อยมลพิษต่อหัวของอินเดียต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 60% โดยอัตราการปล่อยมลพิษรายปีทั้งในอดีตและปัจจุบันของอินเดียอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำมาก

สุจิตรา กล่าวในตอนท้ายว่า อินเดียหวังว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะเป็นผู้นำและดำเนินการให้เห็นชัดเจนว่า เป้าหมายการปล่อยมลพิษของพวกเขา จะสามารถจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งสอดคล้องกับหลักการที่เป็นที่ยอมรับโดยสากลว่า ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศ 

 

เปิดภารกิจ “อินเดีย”  พิชิตเน็ต ซีโร่ อย่างยั่งยืน