ยูเอ็นชี้การผลิตเชื้อเพลิงจากฟอสซิลทะยานต่อเนื่อง

ยูเอ็นชี้การผลิตเชื้อเพลิงจากฟอสซิลทะยานต่อเนื่อง

ยูเอ็นชี้การผลิตเชื้อเพลิงจากฟอสซิลทะยานต่อเนื่อง ขณะอินโดนีเซีย แหล่งผลิตถ่านหินต้องใช้เงินปีละ 200,000 ล้านดอลล์ตลอด10 ปีข้างหน้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯให้เหลือศูนย์ภายในปี2603

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ(UNEP)ระบุว่า แผนการของรัฐบาลประเทศต่างๆที่จะเลิกใช้พลังงานจากฟอสซิลภายในปี 2573 ดูจะไม่สอดคล้องกับการทำให้อุณหภูมิโลกอยู่ในระดับที่ปลอดภัย เนื่องจากหลายประเทศยังคงสำรวจ ขุดเจาะและทำเหมืองถ่านหินเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ต้องรักษาอุณหภูมิทั่วโลกให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส

ขณะที่การฟื้นตัวของราคาน้ำมันและก๊าซปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วขณะที่การใช้ถ่านหินลดลงแค่เล็กน้อยเท่านั้น เรียกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเท่านั้นในการบริโภคเชื้อเพลิงจากฟอสซิล นับตั้งแต่ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานเรื่องนี้ครั้งแรกในปี 2562

ในการประชุม COP 26 ที่กลาสส์โกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-12 พ.ย.จะมีการขอให้ประเทศ 200 ประเทศคิดแผนการมาว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนภายใน 2573 ได้อย่างไร

เมื่อปี 2558 ประเทศต่าง ๆ ตกลงกันว่าต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มมากกว่า 2 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมโดยจะพยายามไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะทางสภาพภูมิอากาศ

ข้อตกลงในครั้งนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยประเทศต่าง ๆ จะพยายามลดการปลดปล่อยคาร์บอนจนสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  หรือ Net Zero หรือไม่ปล่อยให้มีการปล่อยก๊าชเรือนกระจกมากกว่าที่สามารถกำจัดได้ ภายในปี 2593

ถึงแม้จะพูดกันเยอะมากเกี่ยวกับเป้าการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯต้นตอโลกร้อนให้เหลือศูนย์เปอร์เซนต์ และหลายประเทศให้คำมั่นสัญญามากขึ้นว่าจะหันไปพึ่งพาพลังงานทดแทน พลังงานที่ไม่ก่อมลภาวะ

แต่บริษัทน้ำมัน ก๊าซรายใหญ่สุดของโลก ตลอดจนเหล่าผู้ผลิตถ่านหินไม่กำหนดเป้าลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์มีความเห็นว่าการกำหนดเป้าหมายลดการใช้พลังงานจากถ่านหินเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นไปมากกว่านี้ในอนาคต

ที่ผ่านมา คณะกรรมการของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ตอกย้ำถึงปัญหานี้ผ่านรายงานล่าสุดเพื่อส่งสัญญาณเตือนภัยว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศของโลกได้เข้าสู่ระดับ “สีแดง” แล้ว 

โดยระบุว่า ภายในปี 2573 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิโลกในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเพดานที่กำหนดไว้ตั้งแต่การประชุม COP21 หรือความตกลงปารีส ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 6 ปีก่อน หากเป็นไปตามนี้ก็ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้จากเดิมถึง 10 ปี

ประเด็นคือโลกยังมีทางออกที่เป็นไปได้หรือไม่หากจะลดอุณหภูมิให้ได้ตามเป้า แต่เมื่อดูจากตัวเลขอาจเห็นว่าการกดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกินระดับเพดานที่ 1.5 องศาเซลเซียสให้ได้ในอีก 20 ปี เป็นสิ่งที่เกือบเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 1.2 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

สำหรับภูมิภาคเอเชีย ที่ตั้งประเทศที่เป็นแหล่งผลิตพลังงานจากถ่านหินขนาดใหญ่อย่างอินโดนีเซียนั้น ล่าสุด ผลศึกษาของรัฐบาลอินโดนีเซีย บ่งชี้ว่า อินโดนีเซียจำเป็นต้องใช้เงินปีละ 200,000 ล้านดอลลาร์ตลอดระยะ10ปีข้างหน้า

และใช้เงินปีละกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในระยะ 40 ปีข้างหน้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯให้เหลือศูนย์ตามเป้าที่กำหนดไว้ภายในปี 2603 

รายงานความยาว 108 หน้าจัดทำโดยกระทรวงซึ่งรับผิดชอบแผนพัฒนาแห่งชาติระบุว่า การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯของประเทศชะงักงันไปหลังจากเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเผชิญผลกระทบที่ท้าทายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ผลศึกษาชิ้นนี้ระบุว่า อินโดนีเซีย จำเป็นต้องได้รับเงินสนับสนุนที่เพียงพอเพื่อเปลี่ยนประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯศูนย์เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2603 ทั้งในแง่ของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงทุนในปัจจุบันและการหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ

ผลศึกษาฉบับนี้ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2564-2573 จำเป็นต้องมีการลงทุนโดยรวมเฉลี่ยปีละ 150,000 ล้านดอลลาร์ถึง200,000 ล้านดอลลาร์ และในอีก10ปีถัดไป การลงทุนโดยเฉลี่ยต้องอยู่ที่ 700,000 ล้านดอลลาร์ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์

ส่วนการลงทุนในปี 2584 ถึง 2593 โดยเฉลี่ยต้องอยู่ที่ปีละ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ถึง1.6 ล้านล้านดอลลาร์ และในระยะ20ปีถัดไป การลงทุนโดยเฉลี่ยต่อปีต้องอยู่ที่ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ ถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์      

รายงานฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า ส่วนกองทุนต่างๆที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อเปลี่ยนแปลงอินโดนีเซียให้เป็นชาติเศรษฐกิจปลอดก๊าซคาร์บอนจะมาจากเงินอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่ไม่ใช้อีกแล้ว

รวมทั้งกำหนดราคาการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ซึ่งอาจจะช่วยให้เกิดการออมและสร้างรายได้ใหม่ให้แก่ประเทศในสัดส่วน 2.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ในปี 2573  

ช่วงต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรของอินโดนีเซียได้ผ่านกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมด้านมาตรการจัดเก็บภาษีของประเทศครั้งใหญ่ รวมถึงการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าและบริการ จาก 10% เป็น 11% ภายในเดือน เม.ย.ปีหน้า และเพิ่มขึ้นอีกขั้นเป็น 12% ภายในปี 2568

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเรื่องภาษีคาร์บอน การเพิ่มเพดานการเก็บภาษีกับผู้มีฐานะ และการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย

ในส่วนของบริษัทผลิตกระแสไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศอย่าง“เปรูซาฮานน์ ลิสตริก เนการา”(พีแอลเอ็น) ประกาศแผนจัดซื้อไฟฟ้าครั้งใหม่ ในระยะ10ปีข้างหน้า เมื่อต้นเดือนต.ค.ที่รวมถึงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมูลค่า 500 ล้านล้านรูเปี๊ยะห์ (35,000 ล้านดอลลาร์)

นอกจากนี้ คณะผู้บริหารของบริษัทยังให้คำมั่นว่าจะไม่มีโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานความร้อนจากถ่านหินอีกต่อไปนับตั้งแต่ปี 2571