squid game จุดประกายแห่งโอกาสผลิตผลงานนอกสหรัฐ

squid game จุดประกายแห่งโอกาสผลิตผลงานนอกสหรัฐ

ความสำเร็จของ squid game กลับทำให้คู่แข่งเน็ตฟลิกซ์บางรายส่งเสียงเชียร์ เพราะนั่นคือการเพิ่มโอกาสสำหรับการผลิตเนื้อหาที่ไม่ใช่สหรัฐ

ในสงครามสตรีมมิง ความสำเร็จของบริษัทหนึ่งคือความล้มเหลวของบริษัทอื่น แต่ “Squid Game” ของเน็ตฟลิกซ์ถือเป็นข้อยกเว้น

“Squid Game” ซีรีส์ดิสโทเปียเลือดสาดสัญชาติเกาหลีใต้ที่กำลังดังสะเทือนโลกอยู่ในขณะนี้ มีผู้ชมเกิน 2 นาทีมากกว่า111 ล้านคน ถือเป็นผลงานที่มีคนดูมากที่สุดของเน็ตฟลิกซ์

โดยปกติแล้วเมื่อซีรีส์ฮิตก็จะมีทั้งคนอิจฉาและไม่พอใจ อย่าง“House of Cards” ของเน็ตฟลิกซ์เคยทำให้ผู้บริหารเอชบีโอโอดครวญอยู่นาน แต่ความสำเร็จของ Squid Game กลับทำให้คู่แข่งเน็ตฟลิกซ์บางรายส่งเสียงเชียร์ เพราะนั่นคือการเพิ่มโอกาสสำหรับการผลิตเนื้อหาที่ไม่ใช่สหรัฐ

ช่วยให้บริษัทสื่อประหยัดงบประมาณหากรายการโทรทัศน์ภาษาต่างประเทศกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ชาวอเมริกันเสพ ทั้งอเมซอน แอ๊ปเปิ้ล ดิสนีย์ เอชบีโอแมกซ์ของวอร์เนอร์มีเดีย เอ็นบีซียูนิเวอร์แซล สตาร์สของไลออนเกต และเวียคอมซีบีเอสต่างกำลังมองหาทีวีซีรีส์ใหม่ๆ ทั่วโลกมาดึงดูดคนดู

เอเจย์ มาโก ทนายความบรรษัทและเทคโนโลยี และหุ้นส่วนฝ่ายจัดการของบริษัทอีเอ็ม3 กล่าวกับเว็บไซต์ซีเอ็นบีซีว่า สตูดิโอฮอลลีวูดประหยัดเงินได้หลายล้านดอลลาร์ด้วยการจ้างคนเก่งๆ ในประเทศอื่นแทนดาราฮอลลีวูด ได้เครดิตภาษีและเงินคืนจากประเทศที่กระหายอยากส่งเสริมการท่องเที่ยวและให้คนรู้จักประเทศตน ทั้งยังไม่ต้องเจอกับกฎสหภาพแรงงานอเมริกันอันเข้มงวดด้วย

“แต่ละประเทศมีแพ็กเกจจูงใจแตกต่างกัน บางประเทศทำตลาดให้คุณฟรีๆ ผ่านช่องทางของรัฐหรือสนับสนุนในงานเทศกาล หรืออาจจะให้ผู้ผลิตท้องถิ่นร่วมผลิตฟรีด้วย” มาโกย้ำ
 

โดเมนิก โรมาโน ทนายความด้านธุรกิจบันเทิงและหุ้นส่วนฝ่ายจัดการบริษัทกฎหมายโรมาโน กล่าวเสริมว่า ประเทศยุโรปตะวันออกเช่น ฮังการี ออสเตรีย และมอลตา รวมทั้งแคนาดาให้ข้อเสนอเครดิตภาษีก้อนโตและสิ่งจูงใจกับฮอลลีวูดมานานแล้ว แต่ในอดีตผู้ผลิตสหรัฐมักไปถ่ายทำในประเทศอื่นแต่ทำเป็นฉากเหตุการณ์ในสหรัฐ

“พวกเขามาที่แคนาดาหรือประเทศอื่นที่ให้แรงจูงใจด้านภาษี จากนั้นก็นำตู้ไปรษณีย์และป้ายชื่อถนนอเมริกันมาติดตั้ง เปลี่ยนป้ายทะเบียนรถ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือมีคอนเทนท์ท้องถิ่นจากภูมิภาคเหล่านั้น สตูดิโอไม่เสแสร้งอีกต่อไป” โรมาโนกล่าวและว่า ผู้ชมอเมริกันมักมองภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศว่าเป็นเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม ก่อน Squid Game มีซีรีส์ภาษาต่างประเทศน้อยมากที่จะดังในกระแสหลัก แต่การใช้ฉากและนักแสดงท้องถิ่นช่วยประหยัดต้นทุนได้หลายล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับการดึงดาราฮอลลีวูดระดับเอลิสต์มาแสดงในภาพยนตร์ต่างประเทศเพื่อเรียกคนดู

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ต้นทุนรวมในการผลิต Squid Game อยู่ที่ 21.4 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ผู้บริหารระดับสูงวงการบันเทิงรายหนึ่งกล่าวกับซีเอ็นบีซีว่า ถ้า Squid Game ใช้นักแสดงสหรัฐและกฎหมายการผลิตของสหภาพแรงงาน ที่คุ้มครองไม่ให้ทำงานยาวนานอย่างที่ทำได้ในเกาหลีใต้ ต้นทุนการผลิตอาจสูงขึ้น 5-10 เท่า

นอกจากนี้การลงทุนผลิตเนื้อหาต่างประเทศยังช่วยสตูดิโอฮอลลีวูดไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์สูงเกินไป ตัวอย่างเช่นงานของมาร์เวลในดิสนีย์พลัส อย่าง “WandaVision” หรือ “The Falcon” ดิสนีย์ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ตอนละ 25 ล้านดอลลาร์ มากกว่า Squid Game ทั้งเรื่อง 9 ตอนด้วยซ้ำไป นี่ยังไม่รวมเงิน 4,000 ล้านดอลลาร์ที่ดิสนีย์ซื้อมาร์เวลคืนมาในปี 2552

ไม่เพียงเท่านั้นความสำเร็จของ Squid Game อาจเป็นแรงกระตุ้นผู้ผลิตในวงการบันเทิงที่ติดอยู่กับภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร หรือเอาซีรีส์เก่ามารีเมคเพื่อรับประกันรายได้ ได้เปิดโลกทัศน์เพื่อหาดาวและแนวคิดใหม่ๆ  เกิดหนทางใหม่แห่งการเติบโตที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งกับศิลปินและผู้บริหารสตูดิโอ

“เน็ตฟลิกซ์เป็นสตรีมเมอร์ระดับโลกรายแรกๆ ในเกาหลีใต้ พวกเขาพยายามคว้าชัยในการแข่งขันด้านคอนเทนท์ เหมือนการแข่งขันสั่งสมกำลังอาวุธยุคสงครามเย็น ตอนนี้ก็มาเร่งสะสมเนื้อหา สตรีมเมอร์รายใดจะมีคอนเทนท์เอกซ์คลูซีฟสะสมไว้มากกว่าดึงให้คนดูมาลงทะเบียนติดตาม ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น”

ส่วนนักลงทุนคงเข้าใจได้ชัดขึ้นว่าความสำเร็จของ Squid Game ส่งผลต่อผลประกอบการของเน็ตฟลิกซ์มากน้อยแค่ไหนในวันที่ 19 ต.ค. ที่ยักษ์ใหญ่สตรีมมิงโลกรายนี้ประกาศรายได้ไตรมาส 3