“นรกโชซ็อน” เปิดปมความ “เหลื่อมล้ำ” ใน “เกาหลีใต้”

“นรกโชซ็อน” เปิดปมความ “เหลื่อมล้ำ” ใน “เกาหลีใต้”

“เกาหลีใต้” หนึ่งในประเทศที่เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เป็นหนึ่งในสี่ “เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย” และเป็นแถวหน้าของโลกในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม เหมือนว่าข้อดีข้างต้นนี้ไม่ได้ให้ประโยชน์กับคน “วัยหนุ่มสาว” จนเกิดเป็นภาวะ “นรกโชซ็อน” (Hell Joseon)

ขนาดเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2019 มีมูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ ใหญ่เป็นอันดับ 12 ของโลก ในขณะที่ปี 1999 มีมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์ เท่ากับการเติบโตมากกว่า 200% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา 

ถึงอย่างนั้น กลับเกิดกระแส “ย้ายประเทศ” ในหมู่คนหนุ่มสาวราว 75% ในเกาหลีใต้ ด้วยเหตุผลที่ว่า เกาหลีใต้ไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีอย่างที่ต้องการได้ ซึ่งดูจะสวนทางกับสถิติตัวเลขทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ตามที่ได้โชว์ไปในข้างต้น 

คำถามที่น่าสนใจ คือ เพราะเหตุใดการเติบโตของเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ถึงไม่สามารถมอบชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องการให้กับคนเกาหลีใต้ โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวได้ 

“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงจะพาไปสำรวจ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่เกิดขึ้นพร้อมการเติบโตของเกาหลีใต้ ซึ่งกดดันคนวัยหนุ่มสาวจนเกิดเป็นภาวะ “นรกโชซ็อน” (Hell Joseon)

อ่านข่าว : ส่องสูตรซีรีส์เกาหลีบน "Netflix" อยากปังระดับโลกแบบ "Squid Game" ทำอย่างไร?

  การก้าวขึ้นมาของเศรษฐกิจเกาหลีใต้  

ย้อนกลับช่วงวิกฤติน้ำมันในต้นทศวรรษ 1970 ประเทศญี่ปุ่นพึ่งพิงอุตสาหกรรมหนัก หรืออุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง ทำให้ประสบปัญหาการนำเข้าพลังงานที่มีราคาแพงขึ้นเป็นอย่างมาก ทางออกที่เกิดขึ้นในเวลานั้นจึงเป็นการพยายามนำเอาอุตสาหกรรมประเทศดังกล่าวออกนอกประเทศ เพื่อลดการนำเข้าพลังงานจำนวนมหาศาล ซึ่งประเทศปลายทางที่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่น คือ ประเทศใน กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrialized Economies: NIEs) ซึ่ง “เกาหลีใต้” คือหนึ่งในประเทศ NIEs เวลานั้น  

สถานการณดังกล่าวมีผลให้อุตสาหกรรมหนักในเกาหลีใต้พัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจจนกลายเป็นเสือเศรษฐกิจตามหลังญี่ปุ่นไปในที่สุด 

อย่างไรก็ตาม กลับมีผู้ได้รับประโยชน์เพียงบางกลุ่ม นั่นคือ นายทุนจำนวนหนึ่งผู้ที่เป็นหัวจักรสานผลประโยชน์ หรือที่เรียกกันว่า กลุ่ม “แชบอล” (재벌)  ซึ่งมีความหมายว่า สมาคมผู้มีฐานะมั่งคั่ง 

หลังจากนั้น เกาหลีใต้ก็ได้พัฒนาเศรษฐกิจของตนเรื่อยมา มีการเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างอุตสาหกรรม จากที่เน้นอุตสาหรรมหนัก เปลี่ยนเป็นเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงแทน ปัจจุบันเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศนวัตกรรมอันดับ 2 ของโลก และถือเป็นประเทศแนวหน้าของฐานผลิตสินค้าเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมไปแบบใด แต่ผู้นำทางเศรษฐกิจก็ยังเป็นกลุ่มแชบอลเช่นเดิม 

ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2016 เว็บไซต์ statista ได้เก็บข้อมูล มูลค่าตามราคาตลาดหลักทรัพย์ หรือ Market Cap.  ของบริษัทต่างๆในเกาหลีใต้ พบว่า บริษัทกลุ่มแชบอล อาทิ ซัมซุง ฮุนได แอลจี เป็นต้น กินส่วนแบ่งไปถึง 77% ของมูลค่าทั้งหมด 

“นรกโชซ็อน” เปิดปมความ “เหลื่อมล้ำ” ใน “เกาหลีใต้”

 

  ความเหลื่อมล้ำภายใต้การเติบโต  

ข้อเท็จจริงนี้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตแบบกระจุกตัว ผลประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ตกไปอยู่ในกลุ่มแชบอลตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ทำให้เกิดแนวโน้มหนึ่งขึ้นในสังคมเกาหลีใต้ปัจจุบัน คือ คนวัยหนุ่มสาวเริ่มยอมแพ้ในเรื่องต่างๆ เพราะไม่ว่าพวกเขาจะสู้อย่างไร ก็ไม่สามารถไขว่คว้าชีวิตที่ปรารถนาได้

มีศัพท์ที่ใช้เฉพาะกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า “เอ็นโพเจเนอเรชั่น” (N-po Generation) โดย N เป็นสัญลักษณ์แทน จำนวนที่มากมายไม่สิ้นสุด (Infinity) และ po เป็นคำในภาษาเกาหลีที่หมายถึง การยอมแพ้ รวมแล้วจึงหมายถึง การยอมแพ้ในทุกๆ เรื่อง และหากจะถามถึงที่มาของการยอมแพ้ของหนุ่มสาวเกาหลีใต้ คงต้องกลับไปตั้งต้นว่า ช่วงอายุที่ผ่านมาพวกเขาต้องต่อสู้กันมาอย่างไร

 

  ต้นตอของความหมดหวังสู่กระแส “นรกโชซ็อน”  

ประสบการณ์ที่คนหนุ่มสาวต้องเจอมาตั้งแต่วัยเยาว์ คือ การต่อสู้ทางการศึกษา พวกเขาต้องเรียนอย่างหนัก นักเรียนมัธยมปลายบางคนต้องใช้เวลาไปกับการเรียนถึง 14 ชั่วโมง 

เหตุผลเบื้องหลัง คือ การเชื่อว่าการศึกษาจะสามารถขยับฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจได้ ซึ่งพวกเขาต้องสอบ “ซูนึง” (수능) หรือการทดสอบความสามารถด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ที่จัดสอบเพียง 1 ครั้งต่อปี โดยต้องทำคะแนนที่สูงพอให้ตัวเองสามารถเข้าไปในมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับ 

อย่างไรก็ดี การต่อสู้ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เมื่อเข้าสู่ช่วงมหาวิทยาลัย พวกเขายังจำเป็นต้องเรียนอย่างหนักให้จบการศึกษาด้วยเกรดเฉลี่ยที่ดี เพื่อให้สามารถเข้าทำงานในบริษัทชั้นนำ ที่เกือบทั้งหมดเป็นบริษัทกลุ่มแชบอล 

ข้อมูลจากกระทรวงเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ (Ministry of SMEs and Startups) เกาหลีใต้ พบว่า บริษัทใหญ่มีสัดส่วนเพียง  1% และจ้างงานคิดรวมแล้วอยู่ที่ 17% ของการจ้างงานทั้งหมด ทำให้การเข้าทำงานในบริษัทเหล่านี้มีอัตราการแข่งขันที่สูงมาก

ถึงกระนั้นต่อให้ทำสำเร็จ แต่ราคาอสังหาริมทรัพย์ในโซลที่สูงลิ่วก็ได้กดดันให้พวกเขาต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พวกเขามีเงินเก็บมากพอที่จะสามารถซื้อบ้านหรืออพาร์ทเมนต์ในกรุงโซลได้ 

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเว็บไซต์ Statista แสดงค่าเฉลี่ยราคาที่อยู่อาศัยในโซล อาทิ บ้าน ตึกแถว และอพาร์ทเมนต์ อยู่ที่ 869 ล้านวอน  และจากค่าแรงขั้นต่ำล่าสุดของเกาหลีใต้ที่ 8,720 วอนต่อชั่วโมง หรือประมาณเดือนละ 1.4 ล้านวอน พบว่า ต้นทุนการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในโซลสูงกว่าเงินเดือนขั้นต่ำกว่า 620 เท่า จึงเป็นเรื่องยากมากที่คนหนุ่มสาววัยเริ่มทำงานจะสามารถซื้อบ้านหรืออพาร์ทเมนต์ในโซลได้ 

ในปี 2019 ซีรีส์เกาหลี เรื่อง  “Stranger From Hell” ก็ได้มีสอดแทรกปัญหาเรื่องที่พักอาศัยราคาแพงในโซล จนเป็นเหตุให้ตัวเอกของเรื่องต้องตัดสินใจไปอยู่ในที่พักความปลอดภัยต่ำแต่ราคาถูก และแม้จะเจอเรื่องแปลกประหลาดตั้งแต่ย้ายเข้ามาอยู่ แต่ก็ยังต้องจำทนเพื่อให้สามารถอยู่ในโซลด้วยต้นทุนที่ต่ำต่อไปได้ 

ในปีเดียวกันนั้น ภาพยนต์รางวัลออสการ์ “Parasite” ก็ได้ตีแผ่การใช้ชีวิตของคนที่มีรายได้ต่ำในเกาหลีใต้ การต้องอาศัยอยู่บ้านกึ่งใต้ดิน หรือที่เรียกกันว่า “พันจีฮา” เพราะมีราคาถูก แต่คุณภาพชีวิตก็ต่ำตามราคา ซึ่งบ่มเพาะให้เกิดเป็นปัญหาสังคมในเกาหลีใต้

เงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อไขว่คว้าชีวิตที่พวกเขาต้องการ แม้ว่าพวกเขาจะเจอกับความยากลำบากและความกดดันมามากมาย สุดท้ายเลยเกิดเป็นกระแส “นรกโชซ็อน” ที่เริ่มต้นราวปี 2015 

คำนี้สื่อถึง โชซ็อนหรือราชวงค์สุดท้ายของเกาหลี ยุคสมัยซึ่งเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม การใช้คำดังกล่าวจึงแสดงถึงการดำเนินชีวิตในเกาหลีใต้ที่ไม่ต่างอะไรกับนรก และยังสื่อถึงความก้าวถอยหลังของประเทศอีกด้วย สอดคล้องกับผลสำรวจ พบว่า 75% ของประชากรเกาหลีใต้ที่มีอายุ 19-34 ปี ต้องการที่จะย้ายออกจากประเทศ 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีนี้ ความเคลื่อนไหวของกระแส “นรกโซช็อน” เริ่มเจือจางลงซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลที่นำโดยนายกฯ มุน แจอิน ซึ่งพยายามแก้ไขปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ และมีความคาดหวังจากประชาชนว่าจะสามารถปฏิรูปกลุ่มแชบอลได้

ถึงกระนั้น ความเหลื่อมล้ำนี้ยังคงดำเนินอยู่ และนรกสำหรับหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ที่ว่าก็ยังไม่ได้หายไปแต่อย่างใด

 


อ้างอิง

พีรเดช ชูเกียรติขจร และ นลิตรา ไทยประเสริฐ

ย้อนดูปรากฎการณ์ Hell Joseon - The MATTER

Andrew Salmon 

International Innovation Index

Ministry of SMEs and Startups

N-po Generation - thumbsub

Statista (1) 

Statista (2)

Statistics Time