สิงคโปร์เร่งฟื้นศก.แม้ยอดติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม

สิงคโปร์เร่งฟื้นศก.แม้ยอดติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม

แม้สิงคโปร์แสดงให้เห็นว่าพลเมืองในประเทศดำเนินชีวิตโดยมีโรคโควิด-19เป็นโรคระบาดในประเทศต่อไปได้แต่ในระยาวสิ่งนี้น่าจะเป็นความท้าทายอย่างมาก

สิงคโปร์พยายามเปิดประเทศและประกาศใช้นโยบายให้พลเมืองในประเทศดำเนินชีวิตตามปกติอยู่กับโรคระบาดอย่างโควิด-19ให้ได้ราวกับว่าโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นเหมือนโรคไข้หวัด

แต่ก็ไม่วายมีคำถามว่าในระยะยาวแล้ว สิงคโปร์จะสามารถประคองภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ตามที่คาดหรือไม่ ในเมื่อยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19รายใหม่ในแต่ละวันยังคงเพิ่มขึ้น

รายงานวิเคราะห์ในเว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย.เป็นอีกวันที่คนเดินเท้าในย่านใจกลางธุรกิจของสิงคโปร์เงียบเหงามากจนผู้จัดการร้านอาหารเพื่อคนรักสุขภาพแห่งหนึ่งในย่านนี้ออกอาการหงุดหงิดพร้อมทั้งบอกว่าไม่มีคนกลับมาใช้บริการร้านค้าแถวนี้แล้ว 

หากเป็นช่วงเวลาปกติที่ไม่ใช่ช่วงโควิด-19ระบาด พนักงานจากออฟฟิศที่อยู่ในละแวกนั้นจะแวะมาทานมื้อเที่ยงที่เป็นข้าวหน้าทะเลพร้อมผักและพูดคุยกัน แต่พอโรคโควิด-19 ระบาดและทางการต้องใช้มาตรการคุมเข้มในรูปแบบต่างๆก็ทำให้การทำงานจากบ้านเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สุด ทั้งยังจำกัดจำนวนการออกไปทานอาหารนอกบ้านของแต่ละครอบครัวด้วย

ส่วนร้านอาหารเพื่อสุขภาพแห่งนี้ฝ่าฟันช่วงยากลำบากตลอดหนึ่งปีครึ่งของการระบาดของโรคโควิด-19มาได้แต่ผู้จัดการร้านไม่มั่นใจว่าจะสามารถเอาตัวรอดได้ตลอดไปหรือไม่และบอกว่าอาจจะต้องปิดร้านเพราะไม่อยากทนกับภาวะขาดทุนอีกแล้ว

สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยขณะนี้ ชาวสิงคโปร์ราว 85% ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ขณะที่ 82% ได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม

ด้านกระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ เปิดเผยวันอังคาร(5ต.ค.)ว่า ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่จำนวน 2,475 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 106,318 ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น 8 ราย เป็น 121 ราย

 ตอนนี้ รัฐบาลสิงคโปร์กำลังต่อสู้กับยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19ที่เพิ่มขึ้นหลังจากรัฐบาลผ่อนคลายกฏบางอย่างในเดือนส.ค. ประกอบกับการที่รัฐบาลเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบร่างกายของประชากร

และเนื่องจาก 98% ของผู้ป่วยใหม่เป็นกลุ่มไม่แสดงอาการ หรือไม่ก็มีอาการเพียงเล็กน้อย แต่สิงคโปร์ ซึ่งมีประชากร 5.45 ล้านคนยังคงเดินหน้าอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19ต่อไป เพียงแต่ผ่อนคลายกฏระเบียบบางอย่าง

“เราหวังว่าจะยกเลิกข้อกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะเมื่ออัตราการฉีดวัคซีนให้ประชาชนอยู่ในระดับสูงพอและดำเนินตามแผนอยู่กับโควิด-19ให้ได้โดยเปิดเศรษฐกิจของประเทศ

แต่ความเป็นจริงที่เราต้องยอมรับให้ได้ในตอนนี้คือ ยอดผู้ติดเชื่้อยังคงเพิ่มขึ้นและระบบการดูแลสุขภาพของประเทศ ตลอดจนแรงงานด้านการดูแลสุขภาพของเรายังคงเผชิญแรงกดดันหลายด้าน”ลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสิงคโปร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลสิงคโปร์แสดงให้เห็นว่าพลเมืองในประเทศสามารถดำเนินชีวิตโดยมีโรคโควิด-19เป็นโรคระบาดในประเทศต่อไปได้แต่ในระยาวสิ่งนี้น่าจะเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับสิงคโปร์

เนื่องจากวิกฤตด้านสาธารสุขครั้งนี้ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ ผู้คนสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้และศูนย์กลางการค้าก็ค้นพบแนวทางใหม่ๆในการดึงดูดผู้คนและการลงทุนแต่ในประเทศสิงคโปร์สามารถรับมือกับปัญหาประชากรสูงวัยได้หรือไม่ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเหล่าแรงงานที่ได้ค่าแรงต่ำได้หรือไม่

แน่นอนว่านี่เป็นคำถามที่ยากพอสมควรสำหรับพรรคพีเพิล แอคชัน พาร์ตี (พีเอพี)ซึ่งบริหารประเทศนี้มาตั้งแต่ประกาศตัวเป็นเอกราชในปี 2508 โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังหาคำตอบสำคัญคือ ใครจะมาเป็นทายาทการเมืองและนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแทนนายลี เซียน ลุงที่มีอายุ 69 ปีแล้วในขณะนี้ 

“ผมคิดว่าตอนนี้ผู้นำสูงสุดของสิงคโปร์กำลังสร้างข้อได้เปรียบด้านต่างๆที่จะช่วยให้ประเทศมีขีดความสามารถด้านการแข่งขันที่นอกเหนือไปจากจุดแข็งแบบเดิมๆ”วอลเทอร์ เทไซรา รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์แห่งสิงคโปร์ กล่าว

ขณะที่ตัวเลขเกี่ยวกับประชากรในสิงคโปร์ที่ได้รับการเผยแพร่เมื่อปลายเดือนที่แล้ว บ่งชี้ว่า จำนวนชาวต่างชาติในสิงคโปร์ลดลงปีต่อปี 10.7% เหลือเพียง 1.47 ล้านคนนับจนถึงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ไม่ได้คึกคักมาตั้งแต่ก่อนที่โรคโควิด-19จะระบาด โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ขยายตัว 1.3% ในปี 2562 ถือเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกท่ามกลางสถานการณ์ปั่นป่วนของการค้าโลก

จากนั้นในปี 2563 สิงคโปร์ก็บอบช้ำจากปัญหาเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรงและหดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5.4% 

ก่อนที่เศรษฐกิจของสิงคโปร์จะเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวให้เห็น โดยเมื่อเดือนส.ค.รัฐบาลได้ปรับตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีในปี2564 เป็นขยายตัวระหว่าง 6% ถึง 7% จาก 4% ถึง 6% เพราะอัตราการฉีดวัคซีนให้แก่พลเมืองในประเทศและการค้าที่ได้รับการปรับปรุงดีขึ้นในกลุ่มประเทศที่เป็นหุ้นส่วนทางการค้า  

ขณะที่ปัจจัยภายนอก อย่างกรณีของเศรษฐกิจจีนที่เริ่มส่งสัญญาณชลอตัว เป็นหนึ่งในปัจจัยลบสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสิงคโปร์ ที่มีสายสัมพันธ์ทางธุุรกิจแนบแน่นกับจีนมาตลอด  

ล่าสุด ธนาคารใหญ่สุดของสิงคโปร์อย่างดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิงส์ เตือนในรายงานฉบับล่าสุดว่า เศรษฐกิจจีนที่ชลอตัวลงในครึ่งหลังของปี2564 จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของหลายประเทศรวมทั้ง สิงคโปร์