‘สหรัฐ’จี้ประเทศใหญ่ เร่งคุมวิกฤติสภาพภูมิอากาศ

‘สหรัฐ’จี้ประเทศใหญ่  เร่งคุมวิกฤติสภาพภูมิอากาศ

การประชุมครั้งสำคัญของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังจะมาถึงในเดือนหน้า มหาอำนาจต่างแสดงบทบาทต่อประเด็นนี้ชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร

จอห์น แคร์รี ทูตสภาพอากาศของสหรัฐ เรียกร้องประเทศใหญ่ทำให้มากขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าเอาจริงกับการแก้ปัญหาโลกร้อน 

การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) จะจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร (ยูเค) ในเดือนพ.ย.วัตถุประสงค์เพื่อให้เกือบ 200 ประเทศที่ลงนามในความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อปี 2558 ให้คำมั่นเพิ่มขึ้นต่อการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียส และถ้าเป็นไปได้ไม่ควรเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 

อ่านข่าว : การประชุมเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่ ๑.๕ องศาเซลเซียส

จอห์น แคร์รี ทูตสภาพภูมิอากาศของสหรัฐ กล่าวเมื่อวันเสาร์ (2 ต.ค.) ในการประชุมก่อน COP26 ที่เมืองมิลาน อิตาลี ว่า ขณะนี้ประเทศทั้งหลายคิดเป็นราว 55% ของจีดีพีโลกให้คำมั่นจะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ประเทศอื่นๆ ก็จะทำแบบเดียวกัน

“การควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มเกิน 2.0 องศาเซลเซียสย่อมหมายความตามนั้น โดยสามัญสำนึกคือไม่ใช่อยู่ที่ 1.9, 1.8 หรือ 1.7 องศา ต้องต่ำกว่า 2.0 องศามากๆ” แคร์รีกล่าว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ที่ผ่านมาทั้งสหรัฐและจีนต่างให้คำมั่นเรื่องพลังงานใหม่และการระดมเงินทุน ทำให้มีความหวังเพิ่มขึ้น แต่หลายประเทศในกลุ่มจี20 รวมถึงผู้ปล่อยมลพิษรายใหญ่อย่างจีนและอินเดีย ยังไม่ประกาศแผนปฏิบัติการต้านโลกร้อนระยะสั้นฉบับล่าสุด

เยาวชนนักเคลื่อนไหวต้านโลกร้อนรวมทั้ง เกรตา ธุนเบิร์ก นักกิจกรรมคนดังชาวสวีเดน ก็ไปร่วมกิจกรรมที่มิลานในสัปดาห์นี้ด้วย เธอเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายทั้งหลายทำตามที่พูด และอนุมัติงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อให้โลกเลิกใช้พลังงานฟอสซิล รวมทั้งเรียกร้องให้มีระบบการเงินโปร่งใสดูแลสภาพอากาศ ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เสี่ยงได้รับผลกระทบสูงสุดจากโลกร้อนให้มากขึ้นด้วย

เมื่อสิบปีก่อนเหล่าประเทศรวยประกาศว่าจะระดมทุนปีละ 1 แสนล้านดอลลาร์ ช่วยเหลือประเทศเสี่ยงให้ปรับตัวและเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด แต่ถึงปี 2563 ก็ยังทำไม่ได้ตามเป้า

แคร์รีหวังว่า ผู้บริจาคจะทำให้ครบ 1 แสนล้านดอลลาร์ตามที่เคยประกาศไว้ ส่วนแผนการเงินหลังปี 2568 นั้น ทูตโลกร้อนจากสหรัฐย้ำว่า ยอดที่ต้องการไม่ใช่แค่หลักพันล้าน “แต่ต้องเป็นล้านล้าน”

“ภาคเอกชนสำคัญกับเรื่องนี้มาก เราจะประกาศวาระพิเศษร่วมกับเวทีเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม” แคร์รีกล่าวโดยไม่เผยรายละเอียด

ด้านฟรานส์ ทิมเมอร์แมนส์ คณะกรรมาธิการสภาพภูมิอากาศแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ตอบรับเสียงเรียกร้องของแคร์รีที่ให้เร่งดำเนินการเข้มข้นทันทีทันใด ระบุ “เรากำลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ” ส่วนเรื่องการทำเหมืองถ่านหินทิมเมอร์แมนส์กล่าวว่า แม้ไม่มีปฏิบัติการเพื่อลดโลกร้อนเป็นการเฉพาะ อุตสาหกรรมถ่านหินจะค่อยๆ หายไปอยู่แล้ว เนื่องจากสุดท้ายแล้วถ่านหินจะไม่คุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ

“ผมคงประหลาดใจมากถ้าหลังปี 2583 แล้วยังมีอุตสาหกรรมเหมือนถ่านหินใหญ่ๆ หลงเหลืออยู่”

ส่วนจีนและอินเดีย สองประเทศผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่สุดของโลกยังพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า ทิมเมอร์แมนส์ระบุ 

“เรากำลังคุยอย่างสร้างสรรค์กับอินเดียและจีน ทั้งสองประเทศปรารถนาอยากเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ” 

ความสำคัญของปัญหาสภาพภูมิอากาศยังเห็นได้ชัดอีกประการหนึ่งคือ COP26 ยังไม่เริ่มต้นขึ้น แต่มีการมองข้ามช็อตไปถึง COP27 ในปีหน้ากันแล้ว แคร์รีเผยว่า อียิปต์ได้รับการเลือกสรรเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพการประชุมในปีหน้า หลังจากเดือนก่อนประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ประเทศของเขาสนใจเป็นเจ้าภาพการประชุม COP27

ไม่ใช่ผู้นำฝ่ายการเมืองเท่านั้นที่เห็นความสำคัญ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรทรงตอบรับด้วย พระบรมราโชวาทเนื่องในวโรกาสเสด็จเปิดการประชุมสภาสกอตแลนด์เมื่อวันเสาร์ ระบุว่า เดือนหน้าโลกต้องจับตาการประชุมโลกร้อนที่สกอตแลนด์ ซึ่งสภาสกอตแลนด์จะมีบทบาทสำคัญในการทำให้โลกดีและน่าอยู่ยิ่งขึ้น

 ทางการอังกฤษเรียกการเป็นเจ้าภาพประชุม COP26 ที่สกอตแลนด์ในเดือนหน้าว่า นี่คือโอกาสสุดท้ายที่ผู้นำโลกจะแสดงความมุ่งมั่นต่อเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนสำหรับทศวรรษหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหายนะจากภาวะโลกร้อน

พระบรมราโชวาทของควีนชี้ถึงความสำคัญของการประชุม

“ดวงตาของโลกจะมองมาที่สหราชอาณาจักรโดยเฉพาะสกอตแลนด์ เมื่อผู้นำโลกมารวมตัวกันแก้ปัญหาความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นี่คือบทบาทสำคัญของรัฐสภาสกอตแลนด์และรัฐสภาทุกแห่ง ในการช่วยสร้างอนาคตที่ดีขึ้น แข็งแรงขึ้นสำหรับเราทุกคน และเข้ามีส่วนร่วมกับประชาชนที่สภาเป็นตัวแทนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว”

ทั้งนี้ ควีนเอลิซาเบธจะเสด็จร่วมงานประชุม COP26 ด้วย ขณะที่พระบรมวงศานุวงศ์อย่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส มกุฎราชกุมาร และเจ้าชายวิลเลียม พระราชนัดดา ทรงรณรงค์อย่างแข็งขันให้ยูเคเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมด้านสิ่งแวดล้อม

แต่ละปีสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระชนมายุ 95 พรรษา ทรงประทับที่พระตำหนักในสกอตแลนด์นานหลายเดือน พระองค์ตรัสถึงช่วงเวลาดีๆ กับเจ้าชายฟิลิป พระสวามีที่ทรงครองคู่กันมายาวนาน 70 ปี ผู้เพิ่งสิ้นพระชนม์เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

“ข้าพเจ้าเคยพูดมาเสมอถึงความรักอันลึกซึ้งและมั่นคงต่อประเทศที่น่าตื่นตาตื่นใจนี้ และความทรงจำอันแสนสุขมากมายที่เจ้าชายฟิลิปและข้าพเจ้าใช้เวลาอยู่ที่นี่” สมเด็จพระราชินีนาถทรงย้ำถึงสกอตแลนด์