มาเลย์ตั้งเป้าเป็นชาติพัฒนาแล้ว-รายได้สูงปี 68

มาเลย์ตั้งเป้าเป็นชาติพัฒนาแล้ว-รายได้สูงปี 68

มาเลเซียตั้งเป้าที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในแต่ละปีให้ได้ 4.5-5.5% ไปจนถึงปี 2568 พร้อมยกระดับรายได้ต่อครัวเรือนโดยเฉลี่ยให้อยู่ที่ 10,000 ริงกิตต่อเดือนภายในปีดังกล่าว

นายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ ของมาเลเซีย แถลงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศฉบับที่ 12 ระยะ 5 ปีระหว่างปี 2564-2568 ในหัวข้อว่า ครอบครัวมาเลเซีย-เจริญก้าวหน้า,มีส่วนร่วมและเติบโตอย่างยั่งยืน

“ภายใต้แผนพัฒนาประเทศภายในปี 2568 มาเลเซียจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศไฮ-เทคและประเทศที่มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงและเป็นประเทศที่ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าว

นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ยังให้คำมั่นจะขจัดปัญาหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐทางภาคกลางกับรัฐทางภาคตะวันออกของประเทศ โดยการเพิ่มงบพัฒนาท้องถิ่น 50% ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 43% ภายในปี 2573 ส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและจะหยุดก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินใหม่ ๆ ในอนาคต

ที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียประกาศว่าแม้จะต้องเผชิญกับสภาพทางเศรษฐกิจที่มีอุปสรรคมากมาย เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานและควบคุมไม่ได้ แต่เศรษฐกิจมาเลเซียก็มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัว ด้วยการกลับมาเปิดเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง

รัฐบาลมาเลเซียคาดการณ์ว่า ศักยภาพการผลิตจะขยายตัวที่ระดับ 4-5% ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนก็มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัว และจะเป็นหลักสำคัญที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจของมาเลเซียเติบโต โดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนผ่านการกำหนดนโยบายการเงินและนโยบายการคลังไปควบคู่กันด้วย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะส่งเสริมกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) พร้อมทั้งส่งเสริมกิจการสำคัญๆ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศเช่น ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ ภาคบริการเช่น การบิน อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ธุรกิจด้านชีวภาพและส่งเสริมแนวคิดการทำเกษตรกรรมอย่างชาญฉลาด

อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยแผนพัฒนามาเลเซีย ฉบับที่ 12 ล่าช้ามากกว่า 1 ปี เนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด-19

ด้านธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจมาเลเซียในปีนี้ลงอยู่ที่ 4.7% จากระดับคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 5.5% ในเดือนก.ค.

เอดีบี ระบุในรายงานว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ต้องปรับลดคาดการณ์ลงคือการที่โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง ส่งผลให้ต้องมีการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคและการล็อกดาวน์ รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน

“แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงนั้นสอดคล้องกับทิศทางของสหรัฐและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดสำคัญสำหรับการส่งออกของมาเลเซีย” รายงานระบุ

ส่วนปัจจัยภายนอกนั้นมาจากปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ ประกอบกับการปรับลดวงเงินในโครงการคิวอีของสหรัฐ อาจทำให้ตลาดการเงินผันผวนมากขึ้น และส่งผลให้เงินทุนไหลออก

แต่เอดีบีก็ปรับขึ้นคาดการณ์การเติบโตของมาเลเซียในปี 2565 เป็น 6.1% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.7% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนั้นขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ระดับประเทศ

ส่วนสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะพบผู้ติดเชื้อลดลง โดยอัตราเฉลี่ยในรอบ 7 วัน พบผู้ติดเชื้อรายวันรายใหม่อยู่ที่ประมาณ 14,000 รายแต่รัฐบาลมาเลเซียยังคงใช้นโยบายคุมเข้มและควบคุมการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  

เมื่อเดือนที่แล้ว ธนาคารกลางมาเลเซียหั่นตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สำหรับปี 2564 เป็น 3.0% ถึง 4.0% จาก 6% ถึง 7.5%     

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ยังบอกด้วยว่า ประเทศจะเผชิญข้อจำกัดทางการเงินอย่างน้อยเป็นระยะเวลา ปีตามแผนพัฒนาของประเทศ

"โอกาสที่จะขยายโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐบาลออกไปมีจำกัดมากจนกว่าจะถึงปีหน้า ขณะที่ความจำเป็นทางการเงินที่สำคัญที่สุดคือการปกป้องชีวิตประชากรในปี 2563 และปี 2564 ตัวเลขขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลจะอยู่ที่ 6.2% ของจีดีพี ขณะที่คณะรัฐมนตรีเสนอเพิ่มเพดานหนี้เป็น 65% ของจีดีพีจาก 60% ที่กำหนดไว้ในปีที่แล้ว"