ผู้นำกลุ่มควอดเตรียมหารือหาทางออกกู้วิกฤตขาดแคลนชิป

ผู้นำกลุ่มควอดเตรียมหารือหาทางออกกู้วิกฤตขาดแคลนชิป

ผู้นำ4ประเทศสมาชิกกลุ่มควอดร่วมแก้ปัญหาขาดแคลนชิป ระบุไม่ควรมีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างผิดเป้าประสงค์ หรือนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำกิจกรรมที่ไม่ถูกต้อง เช่นการเฝ้าระวัง หรือคุกคามสิทธิของประเทศอื่นตามอำเภอใจ

ผู้นำจากสหรัฐ ญี่ปุ่น  อินเดียและออสเตรเลียจะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างหลักประกันว่าจะมีระบบห่วงโซ่อุปทานสำหรับเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีประสิทธิภาพสำหรับเซมิคอนดักเตอร์เมื่อพบปะกันในการประชุมสุดยอดกลุ่มควอดในวอชิงตัน สัปดาห์หน้า ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าพันธมิตร4ประเทศนี้พร้อมผนึกกำลังต่อต้านการแผ่อิทธิพลของรัฐบาลปักกิ่งผ่านความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนในทุกรูปแบบ

 ร่างแถลงการณ์ร่วมของกลุ่มควอด ที่เว็บไซต์นิกเคอิได้รับมา ระบุว่า 4 ชาติสมาชิกควอดยืนยันว่าจะทำให้ระบบห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีสำหรับฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์และการบริการด้านต่างๆมีอย่างเพียงพอและมีการจัดหาให้แก่กันและกันอย่างไม่สะดุดซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้แต่ละประเทศสมาชิกได้ผลประโยชน์กันถ้วนหน้า

เมื่อวันที่ 14 ก.ย.เจน ซากี โฆษกหญิงประจำทำเนียบขาวของสหรัฐ แถลงว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้ จะจัดขึ้นที่ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตันในวันที่ 24 ก.ย.โดยมีนายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียและนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะ ของญี่ปุ่นเข้าร่วมและจะจัดขึ้นในช่วงเดียวกับการประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ค ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ มีกำหนดกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมนี้ในวันที่ 21 ก.ย. 

ส่วนการประชุมสุดยอดผู้นำควอดผ่านทางออนไลน์เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมตกลงประสานงานอย่างใกล้ชิดในเรื่องวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2562 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการทำให้พื้นที่อินโด-แปซิฟิกเปิดกว้างและมีเสรีภาพมากขึ้นในขณะที่กำลังเผชิญกับความท้าทายจากรัฐบาลปักกิ่ง
 

 ปัญหาขาดแคลนชิปส่งผลกระทบไปทั่วทุกภาคอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมา โฟล์คสวาเกน ค่ายรถยนต์ชั้นนำสัญชาติเยอรมนีคาดการณ์ว่า สถานการณ์เซมิคอนดักเตอร์จะดีขึ้นหลังจากช่วงวันหยุดฤดูร้อน แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น

โดยมาเลเซีย ซึ่งมีซัพพลายเออร์ของโฟล์คสวาเกนจำนวนมาก ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้โรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวลง

 สหรัฐและญี่ปุ่น มีความสามารถในการผลิตชิปในสัดส่วนไม่ถึง 30% ของขีดความสามารถในการผลิตชิปทั่วโลก ญี่ปุ่นผลิตชิปความจำและเซนเซอร์เป็นส่วนใหญ่

ขณะที่สหรัฐ เป็นฐานการผลิตชิปที่ป้อนให้แก่บริษัทอเมริกันชั้นนำของโลก อาทิ อินเทล ควอลคอม ส่วนไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง คัมพานี หรือ ทีเอสเอ็มซี เป็นผู้นำเทคโนโลยีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ก้าวหน้าที่สุด 

ส่วนบรรดาผู้ผลิตชิปสัญชาติจีนกำลังเร่งเพิ่มการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์สำหรับใช้ในอุปกรณ์ทั่วไปมากขึ้น 

ในส่วนของออสเตรเลียและอินเดีย แม้ไม่ได้เป็นประเทศผู้นำในการผลิตชิปแต่มีศักยภาพที่จะสนับสนุนระบบห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์มให้ดำเนินไปด้วยความราบรื่น โดยอินเดีย ซึ่งมีจุดเด่นด้านอุตสาหกรรมไอที แต่ก็ต้องพึ่งพาชิปจากจีนอย่างมากเรียกร้องให้ทุกประเทศสมาชิกในกลุ่มควอดช่วยกันสร้างความแข็งแกร่งแก่ระบบห่วงโซ่อุปทานเพื่อผลประโยชน์ของทุกประเภท

ร่างแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ ระบุว่า กลุ่มควอดหวังที่จะได้ออกหลักการร่วมกันในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่เพียงนำพาภูมิภาคนี้แต่นำพาโลกนี้ให้เป็นโลกแห่งนวัตกรรม มีมาตรฐานสูง เปิดกว้าง และมีความรับผิดชอบร่วมกัน

“ไม่ควรมีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างผิดเป้าประสงค์ หรือนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำกิจกรรมที่ไม่ถูกต้อง อาทิ การเฝ้าระวัง หรือคุกคามสิทธิของประเทศอื่นตามอำเภอใจ”ร่างแถลงการณ์ร่วมกลุ่มควอด ระบุ

การเคลื่อนไหวของกลุ่มควอด มีขึ้นขณะที่มีความวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้ระบบเฝ้าระวังที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)เพื่อสนับสนุนการปกครองของพรรคคอมมิวนสต์จีน และขณะนี้มีประเทศเกิดใหม่บางประเทศเริ่มนำเทคโนโลยีลักษณะเดียวกันนี้มาปรับใช้

นอกจากนี้  ประเทศสมาชิกกลุ่มควอด ยังเตรียมร่วมมือกันป้องกันการรั่วไหลของเทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศ