ชาวจีนยุค "สี จิ้นผิง" กับการคุมเข้มพฤติกรรมเสพสื่อ

ชาวจีนยุค "สี จิ้นผิง" กับการคุมเข้มพฤติกรรมเสพสื่อ

ชาวจีนยุคสี จิ้นผิงกับการคุมเข้มพฤติกรรมเสพสื่อ ขณะราคาหุ้นบริษัทเกมออนไลน์ของจีนร่วงลงอย่างหนักหลังหน่วยงานกำกับดูแลของจีนเรียกตัวแทนบริษัทผู้พัฒนาเกมอย่างเทนเซ็นต์ โฮลดิ้งส์ และเน็ตอีส อิงค์เข้าพบ

ชาวจีนในยุคที่มีประธานาธิบดี“สี จิ้นผิง”ปกครองประเทศ ต้องทำใจรับให้ได้กับการแทรกแซงความเป็นส่วนตัวในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเสพสื่อของชาวจีนรุ่นใหม่ ที่คณะผู้บริหารอย่างพรรคคอมมิวนิสต์มองว่ากำลังทำให้ประชากรจีนเป็นประชากรไม่มีคุณภาพ เชิดชูเงินทองแทนคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต

การเข้ามาแทรกแซงของรัฐบาลปักกิ่ง ผ่านมาตรการต่างๆตั้งแต่ปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำไม่ให้มีอิทธิพลมากเกินไป การกำราบบริษัทสื่อโซเชียลให้อยู่ในร่องในรอยตามที่รัฐบาลต้องการ และล่าสุด คือการเรียกผู้บริหารบริษัทเกมออนไลน์เข้ามาหารือเพื่อหาทางปรับพฤติกรรมของลูกหลานแดนมังกร

ส่งผลให้ราคาหุ้นบริษัทเกมออนไลน์ของจีนร่วงลงอย่างหนักหลังหน่วยงานกำกับดูแลของจีนเรียกตัวแทนบริษัทผู้พัฒนาเกมอย่างเทนเซ็นต์ โฮลดิ้งส์ และเน็ตอีส อิงค์ให้เข้าพบเพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับการดูแลภาคธุรกิจนี้

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์, สำนักงานสื่อและสิ่งพิมพ์แห่งชาติ และหน่วยงานอีก 2 แห่งของจีนได้จัดการประชุมกับตัวแทนบริษัทเกมเพื่อสื่อสารถึงแผนของรัฐบาลจีนในการเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแล รวมถึงตรวจสอบพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ออกข้อบังคับใหม่สำหรับธุรกิจวิดีโอเกม

เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา องค์การบริหารสื่อมวลชนและสิ่งพิมพ์แห่งชาติของจีนเผยแพร่กฎระเบียบใหม่โดยระบุว่า เด็กและวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีในประเทศจีนจะได้รับอนุญาตให้เล่นวิดีโอเกมออนไลน์ได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น

 มาตรการล่าสุดถือเป็นอุปสรรคครั้งใหม่สำหรับบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการเกมออนไลน์ของจีนนับตั้งแต่บริษัทเทนเซ็นต์ไปจนถึงบริษัทเน็ตอีส ซึ่งต่างก็เผชิญกับการออกกฎระเบียบของรัฐบาลหลายๆ ด้านในปีนี้ เช่น การต่อต้านการผูกขาดตลาด และการปกป้องข้อมูล ซึ่งทำให้นักลงทุนวิตกกังวล และกระทบต่อมูลค่าหุ้นเทคโนโลยีของจีน

 มาตรการใหม่ล่าสุดนี้กำหนดว่า ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีจะได้รับอนุญาตให้เล่นวิดีโอเกมได้วันละหนึ่งชั่วโมงตั้งแต่เวลา 20.00-21.00 น.ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อเป็นแนวทางในการปกป้องสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตของเด็ก

กฎนี้จะมีผลบังคับใช้กับบริษัทที่ให้บริการเกมออนไลน์แก่เด็ก โดยจะจำกัดสิทธิ์การให้บริการผู้ใช้ดังกล่าวนอกช่วงเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ บริษัทจะไม่ได้รับอนุญาตให้บริการแก่ผู้ที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบด้วยการลงทะเบียนโดยใช้ชื่อจริง เพื่อป้องกันความหละหลวมในการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของผู้ใช้

หน่วยงานต่างๆของจีน ได้แจ้งต่อบริษัทเกมว่าบริษัทต้องปฏิบัติตามข้อบังคับใหม่ และเลิกมุ่งเน้นการทำกำไรเพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนติดวิดีโอเกม 

 นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังระบุว่า บริษัทควรลบเนื้อหาเกมที่ผิดศีลธรรมและมีความรุนแรง และหลีกเลี่ยงการแสดงเนื้อหา “ที่เป็นไปในเชิงเชิดชูเงินตรา และทำให้เด็กผู้ชายมีท่าทางและลักษณะนิสัยเหมือนผู้หญิง”

 หน่วยงานต่างๆ ยังมีคำสั่งให้บริษัทและแพลตฟอร์มเกมควบคุมเนื้อหาในเกมให้เข้มงวดขึ้น รวมถึงต่อต้านการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม เพื่อไม่ให้บริษัทมีอิทธิพลต่อตลาดมากเกินควร หรือแม้กระทั่งผูกขาดตลาดได้

 รายงายข่าวนี้ส่งผลให้หุ้นของบริษัทเกมสัญชาติจีนที่จดทะเบียนในสหรัฐร่วงลงอย่างหนัก โดยหุ้นเน็ตอีสร่วง 5.2%, หุ้นบิลิบิลิ( Bilibili) ร่วง 5.9% ขณะที่หุ้นของเทนเซ็นต์ ซึ่งเป็นบริษัทเกมรายใหญ่ที่สุดของจีนร่วงลง 3% ส่วนดัชนีหุ้นเทคโนโลยีจีนที่จดทะเบียนในสหรัฐโดยรวมก็ร่วงลง 3.3%

 นอกรัฐบาลนี้ ทางการปักกิ่งยังออกมาตรการห้ามติวเตอร์ที่สอนนักเรียนแบบตัวต่อตัวเปิดการสอนออนไลน์ หรือทำการสอนในสถานที่ที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ เช่น อาคารที่พักอาศัย โรงแรม และร้านกาแฟ ซึ่งเป็นการยกระดับการควบคุมการสอนแบบแสวงหาผลกำไรทั้งหมด

 กระทรวงศึกษาธิการจีน กล่าวว่า ศูนย์ศึกษาที่ให้บริการกวดวิชาในวิชาตามหลักสูตรของโรงเรียนจะต้องได้รับใบอนุญาต และจ้างครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเท่านั้น

ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้น หลังจากตลอดช่วงปีที่ผ่านมาทางการจีนสั่งห้ามการสอนแบบแสวงหาผลกำไรในกลุ่มสถาบันกวดวิชา เพื่อลดแรงกดดันต่อเด็กและผู้ปกครอง

 ปัจจุบัน การแข่งขันในระดับอุดมศึกษาในจีนสูงมากจึงทำให้สถาบันกวดวิชาได้รับความนิยมจากผู้ปกครอง แต่รัฐบาลจีนก็พยายามเดินหน้าลดต้นทุนการเลี้ยงดูบุตรให้ได้มากที่สุด ท่ามกลางความพยายามในการกระตุ้นอัตราการเกิด

 อย่างไรก็ตาม สื่อได้นำเสนอรายงานที่เปิดเผยถึงวิธีการต่างๆ ที่ผู้ปกครองและผู้สอนพยายามหลบหลีกกฎเกณฑ์ของทางการ รวมถึงวิธีที่บางหน่วยงานโฆษณาติวเตอร์แบบไลฟ์สด ซึ่งเรียกค่าสอนได้สูงถึง 30,000 หยวน (4,650 ดอลลาร์) ต่อเดือน

 ข่าวการปราบปรามดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทกวดวิชาในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและนิวยอร์กร่วงลงอย่างหนัก รวมถึงหุ้นบริษัทนิว โอเรียนทัล แอนด์ เทคโนโลยี กรุ๊ป และบริษัทกัวตู เทคดู( Gaotu Techedu)

 การที่ทางการปักกิ่งดำเนินมาตรการเข้มงวดแบบนี้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติโดยตรง และสื่อของทางการจีนก็พยายามออกมายืนยันเมื่อวันที่ 8 ก.ย.ว่า การเข้มงวดกับอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่เทคโนโลยีจนถึงการศึกษาของรัฐบาลจีน ไม่ได้หมายความว่าจีนไขว้เขวกับเป้าหมายที่จะเปิดเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น