จับตาอนาคตผู้ลี้ภัยอัฟกานิสถานหลังตุรกี-อิหร่าน-ปากีฯเมินรับเข้าประเทศ

จับตาอนาคตผู้ลี้ภัยอัฟกานิสถานหลังตุรกี-อิหร่าน-ปากีฯเมินรับเข้าประเทศ

จับตาอนาคตผู้ลี้ภัยอัฟกานิสถาน ขณะสหรัฐอนุมัติงบฯ 500 ล้านดอลลาร์เพื่อรับผู้ลี้ภัยและการอพยพฉุกเฉินของเหยื่อจากความขัดแย้งทางการเมือง

การเข้ายึดอำนาจรัฐบาลอัฟกานิสถานของกลุ่มตาลีบันทำให้ประเทศต่างๆในภูมิภาคไล่ตั้งแต่รัฐบาลตุรกี อิหร่าน และปากีสถาน

ออกมาตรการเข้มงวดแก่อัฟกานิสถานมากขึ้นเพื่อสกัดกั้นการไหลบ่าของเหล่าผู้ลี้ภัยหลายแสนคนจากประเทศนี้ 
เริ่มจากอิหร่าน ที่ถึงแม้จะจัดตั้งแคมป์ฉุกเฉินสำหรับผู้ลี้ภัยใน 3 จังหวัดที่มีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน แต่เจ้าหน้าที่อาวุโสจากกระทรวงมหาดไทยของอิหร่าน ก็กล่าวชัดเจนว่า ชาวอัฟกันที่ข้ามไปยังอิหร่านจะถูกส่งตัวกลับประเทศทันทีที่สถานการณ์การเมืองในอัฟกานิสถานดีขึ้น


 

ส่วนปากีสถานนั้น นายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน กล่าวเมื่อเดือน มิ.ย. ว่า หากตาลีบันยึดอัฟกานิสถานสำเร็จ ประเทศของเขาจะปิดพรมแดนด้านที่ติดกับอัฟกานิสถานทันทีแต่ในความเป็นจริงมีรายงานข่าวว่า มีชาวอัฟกันหลายพันคนหลบหนีเข้าไปยังปากีสถานได้สำเร็จ และจุดผ่านแดนอย่างน้อยหนึ่งแห่งที่ยังเปิดอยู่

ขณะที่ทาจิกิสถานมีรายงานระบุว่า มีชาวอัฟกันอย่างน้อยหลายร้อยคน รวมทั้งทหารจากกองทัพแห่งชาติอัฟกัน ข้ามไปยังทาจิกิสถานในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา และทาจิกิสถานประกาศว่า พร้อมรับผู้ลี้ภัยจากอัฟกานิสถานมากถึง 100,000 คน

ด้านอุซเบกิสถาน มีชาวอัฟกันประมาณ 1,500 คนข้ามพรมแดนอัฟกานิสถาน-อุซเบกิสถานและตั้งค่ายพักพิง และกลุ่มตาลีบันอนุญาตให้ผู้ที่มีวีซ่าที่ถูกต้องเท่านั้นที่ข้ามแดนไปอุซเบกิสถานได้

 สหราชอาณาจักรประกาศแผนการรับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกัน 20,000 คนในระยะยาว โดยโครงการนี้ตั้งเป้าให้ชาวอัฟกัน 5,000 คนตั้งถิ่นฐานในสหราชอาณาจักรในปีแรก โดยเน้นให้สิทธิ์กลุ่มผู้หญิงและเด็ก ตลอดจนชนกลุ่มน้อยทางศาสนาและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่อาจตกอยู่ในอันตรายที่สุดจากกลุ่มตาลีบัน

 ขณะที่พี่พี่เบิ้มอย่างสหรัฐ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน อนุมัติงบประมาณ 500 ล้านดอลลาร์เพื่อรับผู้ลี้ภัยและการอพยพฉุกเฉินของเหยื่อจากความขัดแย้ง ตลอดจนบุคคลอื่นที่มีความเสี่ยงที่เป็นผลพวงจากสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน รวมถึงผู้ยื่นขอวีซ่าผู้อพยพแบบพิเศษแต่สหรัฐยังไม่ได้ประกาศว่า จำนวนผู้ลี้ภัยที่จะรับอยู่ที่จำนวนเท่าไร

 ตามมาด้วยแคนาดา ประกาศว่า จะให้ชาวอัฟกัน 20,000 คนได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่แคนาดา โดยจะมุ่งเน้นรับกลุ่มผู้ที่ตกอยู่ในอันตรายจากกลุ่มตาลีบัน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐและผู้นำสตรี

 เช่นเดียวกับออสเตรเลีย ที่บอกว่า มีโครงการเปิดวีซ่าเพื่อมนุษยธรรมแก่ชาวอัฟกันที่หนีออกจากประเทศ 3,000 สิทธิ์ แต่สิทธิ์เหล่านี้จะมาจากโครงการวีซ่าเพื่อมนุษยธรรมที่มีอยู่เดิม และจะไม่มีการเพิ่มจำนวนสิทธิ์

 ด้านสหภาพยุโรป(อียู)บอกว่าไม่อยากรับผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ เนื่องจากเคยเกิดวิกฤตผู้อพยพในปี 2558 จากปฏิกิริบาของประชาชนในประเทศที่เกิดความไม่พอใจต่อการรับผู้ลี้ภัย เข้ามาในอียู

 ประเทศยักษ์ใหญ่ในอียูอย่างเยอรมนี ก็บอกว่า จะรับชาวอัฟกันบางส่วน แต่ไม่ได้ระบุตัวเลขที่ชัดเจน  ด้านประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศศ บอกว่า ยุโรปต้องปกป้องตนเองจากคลื่นผู้อพยพผิดกฎหมายจำนวนมากจากอัฟกานิสถานและฝรั่งเศสจะปกป้องผู้ที่ตกอยู่ในอันตรายมากที่สุดแต่ยุโรปก็ไม่สามารถรับผลที่ตามมาจากสถานการณ์ปัจจุบันได้เพียงลำพัง

 เช่นเดียวกับออสเตรีย ประกาศไม่รับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกัน แต่อาจจัดตั้งศูนย์ลี้ภัยชั่วคราวเพื่อส่งตัวผู้ลี้ภัยต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านของอัฟกานิสถาน ในกรณีที่ไม่สามารถข้ามแดนจากอัฟกานิสถานไปยังประเทศเหล่านั้นได้โดยตรง

 สวิตเซอร์แลนด์ก็พูดชัดว่าไม่รับผู้ลี้ภัยที่เดินทางโดยตรงมาจากอัฟกานิสถาน

 ส่วนตุรกี กล่าวว่ารัฐบาลจะทำงานร่วมกับปากีสถานเพื่อช่วยให้อัฟกานิสถานมีเสถียรภาพและป้องกันคลื่นผู้อพยพที่มุ่งหน้ามายังตุรกี นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งก่อสร้างกำแพงชายแดนด้านที่ติดกับอิหร่านเพื่อป้องกันผู้อพยพชาวอัฟกัน

 ทั้งนี้ ผู้พลัดถิ่นในอัฟกานิสถาน นับจนถึงวันที่ 31ธ.ค.ปี 2563 มีจำนวน 2.9 ล้านคน ส่วนจำนวนปัญหาขัดแย้งทางการเมืองในอัฟกานิสถาน ตั้งแต่วันที่ 1ม.ค.ปี2564 มี 570,482 ครั้ง และผู้ลี้ภัยตลอดจนผู้ขอสถานะผู้ลี้ภัยในอัฟกานิสถาน นับจนถึงวันที่ 1 ก.ย.ปี 2564 มีจำนวน 72,065 คน  ขณะที่ผู้ลี้ภัยและผู้ขอสถานะผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านอัฟกานิสถาน นับจนถึงวันที่ 31ธ.ค.ปี 2563 มีจำนวน 2.2 ล้านคน

 ด้านสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอชซีอาร์) ให้คำแนะนำประเทศต่างๆว่า ไม่ให้ผลักดันบังคับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานเดินทางกลับประเทศ เนื่องจากยังมีความกังวลต่อความเสี่ยงของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความปลอดภัยของเด็กผู้หญิงและสตรีในอัฟกานิสถาน เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศนี้ยังคงมีความรุนแรง

 ยูเอ็นเอชซีอาร์ กังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้ที่ถูกเข้าใจว่าเคย หรือยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน องค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งกองกำลังทหารระหว่างประเทศ

นับตั้งแต่ต้นปีนี้ มีชาวอัฟกานิสถานมากกว่า 5.5 แสนคน ต้องพลัดถิ่นภายในประเทศ เนื่องสถานการณ์ความไม่มั่นคงในประเทศ ขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอื่นๆ

นอกจากนี้้ ยูเอ็นเอชซีอาร์ ยังแนะนำไม่ให้ประเทศต่างๆ ผลักดันผู้ขอลี้ภัยที่ไม่ผ่านการพิจารณาเดินทางกลับประเทศของตน